เปิดโลกวิชาการวิทย์กีฬาแนวใหม่ ‘นำความรู้สู่การปฏิบัติ’

          ในความเจ็บปวดอาจแฝงไปด้วยโอกาสสู่การเรียนรู้ อย่างน้อยก็เพื่อที่จะไม่ทำให้ตัวเองต้องเจ็บปวดอีกในคราวต่อไป เช่นเดียวกับการเรียนรู้ “การป้องกันการบาดเจ็บทางการกีฬา” ซึ่งเป็นรายวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อการ “นำความรู้สู่การปฏิบัติ” คือหนทางสู่การเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ต่อไป ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล

          รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กรกฤษณ์ ชัยเจนกิจ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพและคลินิกการกีฬา วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงเนื้อหาสำคัญของรายวิชา “การป้องกันการบาดเจ็บทางการกีฬา” ซึ่งเปิดสอนออนไลน์ทาง MUx โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายว่า จัดขึ้นตามนโยบายการศึกษาแนวใหม่ของวิทยาลัยฯ ซึ่งมุ่งไปที่การนำองค์ความรู้ไปใช้ได้จริง


รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กรกฤษณ์ ชัยเจนกิจ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพและคลินิกการกีฬา วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล

          โดยเป็นการบูรณาการระหว่างกายวิภาคศาสตร์ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเคลื่อนไหวทางกาย และการทำร่างกาย ซึ่งรวมถึงการ warm-up และ cooldown ทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ

          ด้วยเวลาที่เร่งรีบอาจทำให้ผู้ออกกำลังกายข้ามขั้นตอนสำคัญดังกล่าวจนทำให้มีอาการที่เข้าใจว่าเป็นตะคริว ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่ในทางวิทย์กีฬาไม่มีวิธีบำบัดเฉพาะ แต่สามารถรักษาตามอาการ โดยหลักการคือการทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริวรู้สึกผ่อนคลาย ชดเชยด้วยสารน้ำ แล้วรอเวลาเพื่อให้อาการดีขึ้น แต่หากมีอาการรุนแรงมากอาจต้องส่งพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากอาจลามไปที่กล้ามเนื้อมัดอื่นได้

          แต่ในบางกรณีอาจเป็นเพียงอาการเมื่อยล้า หรือกล้ามเนื้อตึงธรรมดา ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปก็จะคลายตัวดีขึ้นได้เอง โดยวิธีสังเกตตัวเองว่าเป็นตะคริวหรือไม่ ให้ลองเกร็งแล้วคลำกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็น จะเห็นขึ้นเป็นลำ ถ้าเป็นตะคริวจะแข็งกว่าปกติ และไม่คลายตัวเมื่อเวลาผ่านไป

          หากเป็นอาการของกล้ามเนื้อฉีกขาด จะนิ่มกว่ากล้ามเนื้อที่หดตัว แต่จะรู้สึกเจ็บปวดมากเวลาลงน้ำหนักในบริเวณที่เป็น ให้รีบปฐมพยาบาล ประคับประคองด้วยการประคบเย็น พันผ้า แล้วส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหากมีอาการปวดมาก อาจแนะนำให้ใช้ยาลดอาการอักเสบได้ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจส่งผลต่อการเสียหายของเนื้อเยื่อ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะแนะนำให้ใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นจริงๆ

          เชื่อมั่นว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากรายวิชาออนไลน์ “การป้องกันการบาดเจ็บทางการกีฬา” ทาง MUx ไม่ได้จำกัดเฉพาะนักกีฬา หรือผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย แต่ยังเหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการเสริมทักษะเพื่อใช้ในการดูแลผู้บาดเจ็บจากการเล่นกีฬาต่อไป ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายที่ดี ย่อมส่งผลที่ดีต่อสุขภาพร่างกาย และสุขภาพใจที่แข็งแรง รวมทั้งเสริมความคล่องตัวในการทำงาน เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต่อไปอีกด้วย

          ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมรับ E-Certificate จากมหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อผ่านการอบรมและทดสอบตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งในอนาคตอาจสามารถเก็บสะสมหน่วยกิตไว้เพื่อเทียบโอนเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรปกติ ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://mux.mahidol.ac.th

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

Cr: ภาพและแบนเนอร์จาก งานภาพลักษณ์องค์กรและการสื่อสาร วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล

About Author