เรื่องโดย “คุ้นเคย” ธนดล สุตันติวณิชย์กุล เป็นนักเรียนทุนโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) ของ สวทช. โดยได้ทุนรัฐบาลสวีเดนไปศึกษาที่ Science For Life Laboratory ประเทศสวีเดน
และได้มีโอกาสไปทำงานวิจัยที่สถาบันคาโรลินสกา (Karolinska Institutet) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งระดับโลกในด้านการแพทย์ และเป็นสถานที่ที่ประกาศผู้ได้รับรางวัลโนเบล
โอกาสนี้คุ้นเคยจึงได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับรางวัลโนเบลและบอกเล่าประสบการณ์ในงานประกาศรางสวัลโนเบล ประจำปี ค.ศ. 2019 มาฝากผู้อ่านสาระวิทย์
ถ้าหากพูดถึงการมอบรางวัลเพื่อเป็นเกียรติในวงการวิทยาศาสตร์ก็เชื่อได้เลยว่า “รางวัลโนเบล” จะขึ้นมาเป็นอันดับแรกในใจของคนในทุกยุคทุกสมัยเสมอ เพราะบุคคลที่ได้รับรางวัลนี้ในแต่ละปีนั้นได้มีผลงานที่ส่งผลกระทบรวมถึงชีวิตประจำวันแก่คนทั้งโลก จึงอาจกล่าวได้ว่า รางวัลโนเบลเป็นแรงขับเคลื่อนอย่างหนึ่งของการพัฒนาทางด้านสติปัญญาของมนุษย์ที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของสังคมวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมในวงกว้าง
อัลเฟรด โนเบล สมัยยังเป็นหนุ่ม https://www.nobelprize.org/alfred-nobel/alfred-nobels-life-and-work/
ความสำเร็จเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อนไม่มีความตั้งใจของชายที่ชื่อ “อัลเฟรด โนเบล”
กำเนิดรางวัลโนเบล
อัลเฟรดเกิดที่สตอกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดน เมื่อ ปี ค.ศ. 1833 ในครอบครัวของนักวิทยาศาสตร์ บิดาเขาเป็นหนึ่งในผู้คิดค้นระเบิดตอร์ปิโด ทำให้อัลเฟรดมีความคุ้นเคยและสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม แต่สิ่งที่เขาสนใจมากที่สุดก็คือการทำระเบิด !!
แม้ว่าในช่วงเวลานั้นมีสงครามเกิดขึ้นหลายแห่งในโลก แต่ประเทศสวีเดนเองที่แม้จะเป็นกลางก็เป็นหนึ่งในผู้ค้าอาวุธที่สำคัญ นั่นทำให้บริษัทของครอบครัวเขาได้กำไรมหาศาล ทั้งบิดาและพี่น้องก็มีความสนใจในธุรกิจที่ทำอยู่จึงทำให้บริษัทรุ่งเรืองมาก ผลงานที่สำคัญของเขาคือการคิดค้นระเบิด “ไดนาไมต์” อัลเฟรดเองก็มีสิทธิบัตรมากถึง 355 ฉบับ
แต่แล้ววันหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นเหตุที่ทำให้อัลเฟรดได้เปลี่ยนแปลงความคิดของเขาไปตลอดชีวิต จากพ่อค้าที่ขายอาวุธที่สร้างความเสียหายให้กับมนุษยชาติ ก็เพราะพี่ชายของเขาเอง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จจากธุรกิจการค้าอาวธุ และน้ำมัน แต่กลับถูกตีตราว่าเป็น “พ่อค้าแห่งความตาย” ได้เสียชีวิตลงด้วยระเบิจากโรงงานของเขาเอง
ความรู้สึกในตอนนั้นทำให้อัลเฟรดได้เปลี่ยนความคิดโดยไม่ใช่เพียงแต่คำนึงถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงชีวิต ความปลอดภัย และประโยชน์ที่จะเกิดแก่มนุษยชาติด้วย
ในปี ค.ศ. 1895 อัลเฟรดได้เขียนพินัยกรรมเพื่อแจกแจงทรัพย์สินทั้งหมดที่เขามีให้แก่ครอบครัวและคนรู้จัก แต่ทรัพย์สินที่เหลือหลังจากนั้นได้อุทิศ
สร้างกองทุนของเขาเองเพื่อนำกำไรที่ได้มอบให้แก่คนที่สร้างผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ โดยเงินกองทุนจะถูกแบ่งออกเป็นห้าส่วนเท่าๆ กันเพื่อมอบให้แก่บุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติในสาขาต่างๆ ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี การแพทย์หรือสรีรวิทยา วรรณกรรม และสันติภาพ
โดยมอบหน้าที่ให้หน่วยงานแต่ละแห่งมีหน้าที่คัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับรางวัลในแต่ละปี สาขาฟิสิกส์และเคมี ให้ราชบัณฑิตยสถานด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Kungliga Ventenskapacademien หรือ The Royal Swedish Academy of Sciences) เป็นผู้พิจารณาและมอบรางวัล แก่บุคคลที่เหมาะสมที่จะได้รับรางวัล
รูปปั้น อัลเฟรด โนเบล ที่ตั้งอยู่ด้านใน Nobel forum ใน สถาบันคาโรลินสกา ด้านหลังรูปปั้นคือห้องประชุมที่ใช้แถลงข่าวผลรางวัลสาขาการแพทย์หรือ สรีรวิทยา
สาขาการแพทย์หรือสรีรวิทยาให้สถาบันคาโรลินสกา (Karolinska Institutet) รับผิดชอบ
สาขาวรรณกรรมให้ราชบัณฑิต (Svenska academian หรือ Royal Academy) รับผิดชอบ
โดยทั้งสามสถาบันนี้อยู่ในประเทศสวีเดน และสุดท้าย รางวัลสาขาสันติภาพ ให้รัฐสภานอร์เวย์เป็นผู้รับผิดชอบ
ต่อมารางวัลโนเบลได้เพิ่มขึ้นมาอีกสาขาหนึ่ง คือเศรษฐศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่รางวัลที่อัลเฟรดเขียนไว้ในพินัยกรรมแต่แรก แต่เป็นรางวัลที่ธนาคารกลางสวีเดนตั้งขึ้นเพื่อระลึกแด่ อัลเฟรด โนเบล และเป็นการฉลองครบรอบ 300 ปี ของธนาคาร โดยรางวัลนี้ให้ราชบัณฑิตยสถานด้านวิทยาศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบ
ประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบล
ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมทุกปี จะมีการประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบลโดยไล่เรียงไปตามสาขาตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ดังนี้ สาขาการแพทย์หรือสรีรวิทยา ฟิสิกส์ เคมี วรรณกรรม และสันติภาพ ส่วนสาขาเศรษฐศาสตร์จะประกาศในวันจันทร์ถัดไป
ในปีที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้เรียนอยู่ที่คาโรลินสกาช่วงการประกาศพอดี แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้อยู่ใกล้สถานที่ประกาศนัก เพราะต้องไปเรียนอยู่อีกแคมปัสหนึ่ง อย่างไรก็ตามการประกาศรางวัลก็ไม่ได้ทำอย่างเอิกเกริกมากนักเป็นเพียงแค่เชิญนักข่าวมาเท่านั้น คนทั่วไปก็สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ แต่อาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องประกาศรางวัล
อย่างไรก็ตามก็ยังสามารถลุ้นได้ที่ด้านนอกห้องแม้ว่าจะดูเป็นเหตุการณ์สำคัญระดับโลก แต่ที่นี่ถือเป็นเรื่องปกติมากจะมีที่อาจแตกต่างไปบ้างก็คือมีรถติดในมหาวิทยาลัยมากขึ้นซึ่งก็อาจจะเป็นวันเดียวในปีนั้น การเรียนการสอนก็มีตามปกติ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อก็จะได้รับโทรศัพท์อย่างเป็นทางการ
บรรยากาศภายในห้องประกาศผลรางวัล โดยปกติแล้วห้องนี้จะใช้เป็นห้องประชุมหรือจัดสัมมนาต่างๆ ดังนั้นในวันประกาศผลรางวัลโนเบล หากต้องการจะทราบผลด้วยตัวเองต้องรออยู่ที่บ้านเพื่อรับโทรศัพท์ ส่วนคนอื่นที่ลุ้นก็อาจจะรอฟังผลทางเว็บไซต์อย่างเป็นทางการมากกว่าการเดินทางไปฟังด้วยตัวเอง
ที่คาโรลินสกาแคมปัสหลัก จะมีตึกที่เรียกว่า Nobel Forum ซึ่งจะใช้เป็นห้องประกาศรางวัล ส่วนด้านบนของตึกจะเป็นห้องที่คณะกรรมการโนเบลไว้ใช้หารือในการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลหน้าห้องประกาศจะมีรูปปั้นอัลเฟรด โนเบล อยู่
สถาบันคาโรลินสกา (Karolinska Institutet) เป็นมหาวิทยาลัยที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งระดับโลก โดยเฉพาะด้านการแพทย์ ซึ่งจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเด่นโดยรวม สถาบันคาโรลินสกา อยู่อันดับที่ 38 ของโลกและถ้าแยกตามสาขา คือในด้านสาขาเภสัชศาสตร์ การสาธารณสุข และการพยาบาลอยู่
ในหกอันดับแรกของโลก (Academic World Ranking Universities 2019) ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอันดับสูงที่สุดของประเทศแม้จะมีเพียงคณะเดียว จำนวนนักศึกษานั้นอยู่ที่ราวแปดพันคน
โดยเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ราว 2,500 คนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาสวีดิชในสาขาสุขภาพ และมีนักศึกษาต่างชาติราว 2,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศสวีเดน หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ในต่างประเทศก็ตาม
งบประมาณด้านการวิจัยกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศสวีเดนนั้นสนับสนุนให้แก่สถาบันฯ แคมปัสหลักซึ่งอยู่ที่ Solna ใกล้กับใจกลางเมืองสตอกโฮล์ม และอยู่ในย่านบริษัทอุตสาหกรรมระดับโลก ซึ่งในอนาคตย่านนี้จะถูกเรียกว่า Medicon valley ของสวีเดน
แต่ยังมีอีกแคมปัสหนึ่งเพื่อขยายการฝึกการปฏิบัติทางการแพทย์ทางตอนใต้ของสตอกโฮล์ม เรียกว่าแคมปัส Flemingsberg โดยหลักๆ แล้วคาโรลินสกาแบ่งตัวเองเป็นสองส่วนหลักคือส่วนมหาวิทยาลัยและส่วนโรงพยาบาล โดยโครงการล่าสุดของสถาบันคือการสร้างแคมปัสหลักขึ้นมาใหม่ให้ทันสมัยกับการวิจัยทางการแพทย์มากที่สุด โดยฝั่งโรงพยาบาล
หลุมฝังศพของตระกูลโนเบลอยู่ทางด้านหลังของโรงพยาบาลคาโรลินสกา
มีการสร้างตึกใหม่เรียกว่า Bioclinicum ส่วนฝั่งมหาวิทยาลัยก็สร้าง Biomedicum ซึ่งทั้งสองส่วนสามารถรองรับกลุ่มนักวิจัยได้มากกว่า 200 กลุ่ม เพื่อสร้างเป็นศูนย์กลางการวิจัยทางการแพทย์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ที่สุสานด้านหลังโรงพยาบาลคาโรลินสกายังเป็นหลุมฝังศพของคนในตระกูลโนเบลซึ่งรวมถึงอัลเฟรดด้วย
ในตอนถัดไป ผมจะเล่าถึงบรรยากาศในช่วงการรับรางวัล ซึ่งจะมีรายละเอียดและความน่าสนใจไม่น้อย เพราะถือเป็นไม่กี่งานที่จะมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศจริงจังในฐานะคนทั่วไปที่สนใจครับ
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 78
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/151355