รางวัลโนเบล: รางวัลเพื่อส่งเสริมผู้สร้างสรรค์ผลงานแด่มวลมนุษยชาติ ตอนที่ 2 | ดื่มด่ำบรรยากาศการรับรางวัล

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ช่วงนั้นผมเข้ามาเรียนเทอมแรกอยู่ที่คาโรลินสกาพอดี เราเริ่มเปิดเทอมมาได้ประมาณเดือนนึงแล้ว และก็จะเข้าสู่ช่วงการประกาศรางวัลโนเบล แต่อย่างที่ผมเคยบอกในตอนที่แล้ว บรรยากาศช่วงประกาศรางวัลไม่มีอะไรมาก คนทั่วไปก็จะสนใจเพียงว่าใครได้รับรางวัลแต่ทุกอย่างก็ดูปกติครับ

จดหมายเชิญจากทางสภาเมืองสตอกโฮล์ม
แต่แล้ววันหนึ่่งผมก็ได้รับจดหมายจากมหาวิทยาลัยแจ้งว่า เนื่องจากผมป็นนักเรียนต่างชาติที่มาเรียนในสตอกโฮล์ม ผมและเพื่อนๆ (เกือบ)ทุกคนได้รับเกียรติจากสภาเมืองเพื่อให้เข้ากิจกรรมสองอย่างครับ อย่างแรกคืองานเลี้ยงต้อนรับจากผู้ว่าการเมืองสตอกโฮล์ม และอย่างที่สองก็คือการที่เราจะมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศของการประกาศรางวัลโนเบลที่เรียกว่า Nobel Calling

จดหมายเชิญเข้าร่วมกิจกรรม Nobel Calling

ทั้งสองอย่างนี้ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับคำเชิญนะครับ แต่เราจะต้องลงทะเบียน ซึ่ง ก็ขึ้นอยู่ว่า แต่ละมหาวิทยาลัยได้โควตามาเท่าไหร่แล้วแต่ละที่มีนักเรียนลงทะเบียนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งนับว่าโชคดีมากครับที่ผมได้รับเชิญไป

กิจกรรมแรกอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับโนเบลโดยตรง แต่เป็นความสำคัญของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศสวีเดน ที่จะให้ความสำคัญต่อนักเรียนต่างชาติไม่แพ้กับนักเรียนสวีเดนเอง เนื่องจากสภาพสังคมของที่นี่จะมีลักษณะที่เขาเรียกว่า “แบนราบ”

กล่าวคือ ไม่ว่าเราจะเป็นใครมาจากที่ไหน แค่ได้มาเป็นนักเรียนในมหาวิทยาลัยในสวีเดน ทุกคนก็มีความเท่าเทียมกันครับ เพราะเราก็เสียภาษีเท่ากับคนที่นี่ และแน่นอนว่าเพื่อไม่ให้ชาวต่างชาติที่มาอยู่นั้นเสียเปรียบกับคนสวีเดนที่อยู่มาก่อน เลยมีการจัดงานนี้ขึ้นมาครับ
ฉะนั้นกิจกรรมอย่างแรกที่ทางสภาเมืองสตอกโฮล์มอยากให้นักเรียนต่างชาตินั้นรู้จักคือรู้จักเมืองสตอกโฮล์มเอง โดยมีท่านผู้ว่าในขณะนั้นมากล่าวต้อนรับ พร้อมทั้งมีกิจกรรมและการแสดงเพื่อให้เราได้คุ้นเคยกับบรรยากาศของประเทศสวีเดน

ห้องสีทองที่ใช้ตอนจัดตอนกิจกรรม Fika

เราถูกเชิญเข้ามาในงานที่จัด ณ ที่ทำการสภาซึ่งก็คือศาลากลางกรุงสตอกโฮล์มนั่นเอง วัฒนธรรมอย่างแรกเรื่องเขียนจากผู้อ่านจดหมายเชิญจากทางสภาเมืองสตอกโฮล์ม จดหมายเชิญเข้าร่วมกิจกรรม Nobel Calling ห้องสีทองที่ใช้ตอนจัดตอนกิจกรรม Fika35 ตุลาคม 2562 ที่เราจะได้รู้ก็คือการที่เราจะได้เข้าถึงวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนสวีเดน ที่เรียกว่า ฟิก้า (Fika) ซึ่งก็คือการพักดื่มกาแฟของคนที่นี่ครับ

ห้องสีน้ำเงิน ใช้จัดงานเลี้ยงช่วงประกาศรางวัล

โดยเราได้เข้าไปยังห้องสีทองของอาคารศาลากลางที่ประดับด้วยโมเสกเคลือบทองคำเปลวมากกว่าสิบแปดล้านชิ้น นอกจากนั้นยังได้รับการกล่าวต้อนรับโดยท่านผู้ว่า และมีการแสดงดนตรีในห้องสีน้ำเงินซึ่งเป็นห้องประชุมหลักและเป็นที่ใช้เลี้ยงอาหารค่ำของผู้ได้รับรางวัลโนเบลในช่วงวันรับรางวัลครับ
ที่ผมทราบมา เราเองในฐานะนักเรียนก็มีสิทธิ์ที่จะมาเข้าร่วมงานเลี้ยงได้ แต่ต้องเตรียมตัวนิดนึงครับ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสิทธิ์เข้าได้ เนื่องจากพื้นที่มีจำกัดมากๆ เราจะต้องแย่งกันด้วยการซื้อฉลาก ซึ่งจะตกอยู่ใบละประมาณร้อยบาท ถ้าสมมติว่าเราได้รับเลือก เราก็จะต้องจ่ายค่าเข้าร่วมงาน ซึ่งอาจจะแพงถึง 20,000-30,000 บาท เลยครับ

ห้องสีทองที่ใช้จัดตอนกิจกรรม Fika

นอกจากนี้เราต้องแต่งตัวเป็นทางการมากๆ เพราะงานเลี้ยงอาหารนี้ถือว่าเป็นงานระดับใหญ่มาก คนที่ร่วมโต๊ะอาหารก็จะมีตั้งแต่ราชวงศ์สวีเดนผู้ได้รับรางวัลในปีก่อน นักวิทยาศาสตร์นักการเมือง หรือคนสำคัญหลายๆ คนของโลก ซึ่งถ้ามีโอกาสผมเองก็คิดว่าอยากลองดูครับ อาจจะแพงแต่ก็คิดว่าคงมีคนไทยไม่กี่คนที่จะได้รับโอกาสนี้
เมื่อพิธีการที่ศาลากลางเสร็จแล้ว เราก็ต้องเดินข้ามจากศาลากลางไปยังย่านที่เรียกว่า (Gamla stan)ซึ่งหมายความว่า เมืองเก่าครับ ในจัตุรัสกลางเมืองเก่าด้านข้างพระบรมมหาราชวังจะมีอาคารเด่นอยู่อาคารหนึ่งที่มีน้ำพุอยู่ด้านหน้า ซึ่งก็คือที่ตั้งของ “โนเบลมิวเซียม” นั่นเอง อาคารโนเบลมิวเซียมนั้นจะมีนิทรรศการถาวรซึ่งจะจัดแสดงประวัติและเกร็ดความรู้ของรางวัลโนเบลตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยัง มีสิ่งของหรือสิ่งประดิษฐ์ของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลมาจัดแสดงด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาเพนิซิลลิน พลาสติกชิ้นแรก หรือแม้กระทั่งกำแพงเบอร์ลินครับ เราได้รับคำเชิญจากพิพิธภัณฑ์ให้มาร่วมกิจกรรมซึ่งจะให้เราเล่นหาสมบัติแลกของรางวัลและฟังบรรยายโดยภายในงานทุกคนจะได้รับภารกิจคือการตอบคำถามง่ายๆ ให้ครบ เมื่อเราทำได้ครบก็จะเอาคำตอบมาแลกอาหารมื้อเย็นกับของขวัญที่ระลึกเล็กๆ จากทางพิพิธภัณฑ์ครับ ซึ่งของที่เราจะได้ก็คือช็อกโกแลตรูปเหรียญรางวัลโนเบล
นอกจากนี้เรายังได้รับฟังการบรรยายซึ่งจัดโดยพิพิธภัณฑ์เอง โดยเนื้อหาก็เป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแค่ให้เราเห็นว่า การได้มาซึ่งรางวัลโนเบลนั้นอาจจะไม่ใช่ความสำเร็จสูงสุดที่ทุกคนจะต้องใฝ่ฝัน แต่เป็นเพียงจุดประกายเล็กๆ ที่จะเป็นตัวกลางคอยเชื่อมระหว่างคนภายในและภายนอกวงการวิชาการครับ

โนเบลมิวเซียม

กิจกรรมทั้งหมดของวันก็หมดเพียงเท่านี้ แต่เมื่อผมกำลังจะเดินออกก็เผอิญไปเห็นแผนการสร้างพิพิธภัณฑ์รางวัลโนเบลแห่งใหม่ครับ ซึ่งกำลัง
เป็นที่น่าสนใจในขณะนั้นเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุที่ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีแผนที่จะขยับขยายมานานแล้ว เพราะอาคารเดิมนั้นถือว่าเล็กมาก และผลงานที่ใช้จัดแสดงนั้นก็เพิ่มขึ้นทุกปีเนื่องจากมีผู้ได้รับรางวัลทุกปี ทางพิพิธภัณฑ์จึงมีโครงการนำเสนอต่อสภาเมืองสตอกโฮล์ม เพื่อที่จะจัดสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ ให้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้เรื่องราวของรางวัลโนเบล อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นประจำเมืองสตอกโฮล์มด้วย แต่ก็มีเหตุขัดข้องที่โครงการนี้ สถาปนิกได้ออกแบบตัวอาคารให้ดูโดดเด่นมากเกินไปเมื่อเทียบกับย่านเมืองเก่า ทำให้ทัศนียภาพของเมืองนั้นดูผิดแปลกไป ประชาชนจึงเกิดความไม่พึงพอใจและขอให้ศาลระงับการสร้างไว้ก่อน

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ถือว่าเป็นข่าวดังมากในปีนี้ เพราะเหตุเกิดจากกรณีที่มีข่าวฉาวทางเพศจากคณะกรรมการโนเบลสาขาวรรณกรรม ทำให้ปีที่ผ่านมาไม่มีการมอบรางวัลโนเบลในสาขานี้ ส่วนตัวผมแล้วเหตุการณ์ทั้งสองอย่างนี้สามารถสอนอะไรเราได้หลายอย่างครับ

เหตุการณ์แรกผมมองว่า แม้รางวัลโนเบลจะมีคุณค่าและเป็นหนึ่งสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศสวีเดน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการมีรางวัลนี้นั้นจะมีความสำคัญมากไปกว่าความเป็นอยู่ของประชาชน

การมีรางวัลโนเบลนั้นช่วยสร้างผลดีหลายๆ อย่างให้กับประเทศก็จริง แต่สิ่งที่ประชาชนสวีเดนต้องการนั้นก็ให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมด้วย
เพราะหากมีรางวัลโนเบลแล้วไม่ได้ทำให้ชีวิตของพวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นั่นก็คงไม่มีความหมายอะไร จากการที่ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะเขาเกลียดชังหรือไม่สนใจคุณค่ากับรางวัลโนเบล แต่เขาสามารถแยกออกได้ว่า ข้อดีที่รางวัลโนเบลมีนั้นก็เรื่องหนึ่ง ส่วนข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในสังคมที่ทุกคนสามารถมีสิทธิ์มีเสียงได้ความเห็นหรือความรู้สึกของแต่ละคนก็ล้วนมีความหมาย

ในเหตุการณ์ที่สอง ผมเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นมืออาชีพของทางคณะกรรมการครับ โดยเลือกที่จะหยุดมอบรางวัลสาขาวรรณกรรมในปีนี้ และเลื่อนการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ เพื่อให้เกิดการถกเถียงในสังคมและหาข้อสรุปต่อไปครับ เราทราบว่ารางวัลโนเบลนั้นมีคุณค่าเพียงใด

แต่ในเมื่อเกิดเหตุการณ์อันเป็นที่ไม่สบายใจของหลายๆ ฝ่าย เราก็ควรออกมายอมรับ และแก้ปัญหาให้ตรงจุดครับผมเชื่อว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีมาก สำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของเราในอนาคตได้

เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงสำหรับตอนนี้ก็คือสังคมสวีเดนที่ตอนผมมาอยู่ใหม่ๆ ก็ค่อนข้างแปลกใจกว่าที่อื่นเลยครับ เพราะระบบการบริหารจัดการที่นี่เรียกว่า “รัฐสวัสดิการ” นึกง่ายๆ ว่าในสมัยเรียนเรามักจะได้ยินแค่ว่าโลกเราถูกแบ่งเป็นสองฟากใหญ่ ก็คือประเทศระบบทุนนิยม และประเทศสังคมนิยม

แต่ผมจะอธิบายว่าการเป็นรัฐสวัสดิการก็คือการที่เราอยู่กึ่งกลางระหว่างสองระบบ เรื่องใดที่รัฐต้องการเข้มงวดก็สามารถมาแทรกแซงได้มากขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีกว่าระบบทั้งสองนะครับ แต่กลุ่มประเทศในแถบสแกนดิเนเวียนั้นใช้มานานและคอยปรับปรุงมาเรื่อยจนมีชื่อเสียงครับ

ข้อดีของที่นี่คืออะไร ก็คือการที่ประชาชนจะได้รับสวัสดิภาพขั้นพื้นฐานทุกคน เช่นการศึกษา หรือการรักษา ไม่ว่าเราจะรวยหรือจน จะมีงานหรือไม่มีงานทำ
แต่แน่นอนข้อเสียอย่างหนึ่งก็คือเราก็ต้องแลกกับการที่ต้องจ่ายรายได้ให้รัฐอย่างมากเพื่อให้สวัสดิการเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ครับ แต่ผมว่านี่ก็เป็นข้อดีที่ทำให้ลดข้อจำกัดหลายๆ อย่าง และเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้วงการวิชาการของที่นี่นั้นก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วครับ และเมื่อวงการวิชาการก้าวหน้า ก็จะดึงดูดคนมีความสามารถสูงจากที่อื่นทั่วโลกให้มาอยู่ที่นี่

KTH Royal Institute of Technology

อย่างเช่นเทอมนี้ผมมีโอกาสได้เรียนที่ Kungliga Tekniska Högskolan หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า KTH Royal Institute of Technology ถ้าให้เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีของประเทศสวีเดนนั่นเอง

ผมอาจจะไม่กล่าวถึงเรื่องการจัดอันดับมากนัก แต่ลองนึกดูว่า ประเทศสวีเดนเป็นต้นกำเนิดหลายเทคโนโลยีที่เรารู้จักกันดี เช่น โทรศัพท์ Ericsson เข็มขัดนิรภัย Spotify และจากประสบการณ์ที่เห็นคือนักเรียนที่อยู่ที่นี่เรียกได้ว่ามีสัดส่วนของคนสวีเดนและนักเรียนนานาชาติพอๆ กันเลย ยิ่งในชั้นเรียนของผมคือมีคนสวีเดนน้อยมาก และมีคนจากหลากหลายประเทศไม่ซ้ำกันเลย ทำให้สภาพของการศึกษาที่นี่นั้นมีความสากลมากๆ ครับ

มาถึงตรงนี้ผมหวังว่าผู้อ่านคงจะได้รู้จักรางวัลโนเบลมากขึ้น แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือการที่ประเทศสวีเดนนั้นได้ใช้รางวัลโนเบลเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ขับเคลื่อนสังคม ให้มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ไม่เพียงเท่านั้นการลดข้อจำกัดทางวิชาการด้วยการที่สร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมสูงมาก ก็ทำให้การทำงานในวงการวิชาการมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นไปอีก
รางวัลโนเบลอาจจะสร้างผลชี้วัดที่ชัดเจนให้แก่วงการวิชาการ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในสภาพสังคมที่คุณจะสัมผัสได้ว่า การมีรางวัลโนเบลนั้นไม่ใช่เพียงความสำเร็จทางวิชาการ แต่ได้แทรกซึมไปอยู่ในแทบทุกภาคส่วนของการดำรงชีวิตของคนที่นี่ ซึ่งทำให้เราน่าตื่นเต้นไม่น้อยเลยครับ

เรื่องราวของรางวัลโนเบลยังไม่หมดเพียงแค่นี้ครับ ในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้ายที่ถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญซึ่งเป็นช่วงที่ผมชอบมากที่สุดนั่นก็คือการมอบรางวัลครับ รอติดตามในตอนหน้านะครับ


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 79
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/156887

About Author