รางวัลโนเบล: รางวัลเพื่อส่งเสริมผู้สร้างสรรค์ผลงานแด่มวลมนุษยชาติ ตอนที่ 3 | ผลกระทบและแรงบันดาลใจ

สวัสดีทุกคนครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับผมคุ้นเคยในตอนที่สุดท้ายของเรื่องราวโนเบลฉบับชาวบ้านครับ หลังจากที่ผมได้เกริ่นถึงประวัติ ขั้นตอนของการคัดเลือก และการประกาศผลในตอนที่หนึ่งและสองในฉบับก่อนหน้ามาแล้ว ตอนนี้ผมจะมาเล่าถึงกิจกรรมสุดท้ายในรอบปีของรางวัลโนเบล นั่นก็คือการรับมอบรางวัลครับ ซึ่งจะเล่าให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของผมเองกับกิจกรรมต่างๆ ผลกระทบ และภาพรวมที่ผมได้เรียนรู้ตลอดช่วงระยะเวลาที่มีโอกาสได้มาเรียนที่สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดนครับ ตอนนี้จะเป็นตอนสุดท้ายสำหรับซีรี่ย์เรื่องราวโนเบลฉบับชาวบ้านของผม หวังว่าทุกท่านจะชื่นชอบกันนะครับ

อย่างที่ผมได้เคยกล่าวไปแล้ว การประกาศรางวัลโนเบลจะมีขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม จากนั้นก็จะมีการจัดพิธีมอบรางวัลในช่วงกลางเดือนธันวาคมครับ ช่วงนั้นเองเป็นช่วงที่ผมกำลังจะปิดเทอมในช่วงเทอมแรกของการที่มาเรียนที่นี่ครับ ผมเลยพอมีเวลาว่างที่จะสามารถเข้าไปร่วมกิจกรรมระหว่างช่วงการประกาศผลได้ครับ

ในช่วงนั้นจะมีกิจกรรมหลักอยู่สองอย่างครับ อย่างแรกคือพิธีการมอบรางวัลที่ผมได้กล่าวไปในตอนที่สองแล้วบ้าง อย่างที่สองคือการจัดการบรรยายผลงานของผู้ได้รับรางวัลโนเบลครับ ในช่วงของงานมอบรางวัลก็จะแบ่งเป็นงานสองส่วนหลักๆ ครับ งานแรกคือพิธีมอบรางวัลที่จะจัดขึ้นที่โรงละครโอเปร่าประจำเมือง โดยจะมีภาพที่ทุกคนคุ้นตาของเวทีสีน้ำเงินมีรูปปั้นของอัลเฟรดโนเบล และผู้มอบรางวัลคือประมุขของประเทศสวีเดน หรือพระเจ้าคาร์ล กุสตาฟ ที่ 16 ครับ

ในงานนี้ถือว่าเป็นงานอย่างเป็นทางการคนนอกไม่สามารถเข้าไปได้เลยครับ เฉพาะแขกที่สำคัญเท่านั้น ที่จะได้รับเชิญครับ เมื่อมอบรางวัลเสร็จก็จะมีงานเลี้ยงอาหารค่ำที่อาคารศาลากลางเมืองครับ

โดยจะมีแขกเข้าร่วมกว่าสองพันคนตั้งแต่ราชวงศ์ นักการเมือง หรือคนสำคัญระดับโลกครับ งานนี้เราสามารถเข้าไปได้แต่ก็ต้องพยายามที่จะหาตั๋วไปให้ได้ครับ
ในงานเลี้ยงนี้ทุกอย่างจะถูกคัดสรรเป็นอย่างดี ว่ากันว่าอาหารที่จัดเลี้ยงจะไม่สามารถหากินได้ที่ไหน เพราะจะมีการคัดสรรตั้งแต่พ่อครัว วัตถุดิบชั้นดี หรือแม้กระทั่งภาชนะ ที่จะจัดทำขึ้นเป็นพิเศษในงานนี้ครับ (ภาชนะบางส่วนมีจัดแสดงอยู่บ้างที่พิพิธภัณฑ์และมหาวิทยาลัย)

กิจกรรมถัดมาที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมก็คือการจัดบรรยายเนื้อหาครับ โดยเท่าที่ผมทราบเนื่องจากพิธีมอบรางวัลนั้นอยู่ในสตอกโฮล์ม ฉะนั้นกิจกรรมก็จะมีในสตอกโฮล์มและเมืองมหาวิทยาลัยเก่าแก่อย่างอุปซาล่า (Uppsala) ครับ ผู้ได้รับรางวัลก็อาจจะต้องมาก่อนประมาณสัปดาห์หนึ่งเพื่อจัดการบรรยายผลงานของตัวเองครับ และแน่นอนครับกิจกรรมที่จัดจะได้รับมอบหมายให้ผู้คัดเลือกเป็นผู้จัดการครับ

ฉะนั้นสาขาการแพทย์ก็จะมีการบรรยายที่สถาบันคาโรลินสกา (Karolinska Institute) ส่วนสาขาอื่น เช่น ฟิสิกส์ เคมี และเศรษฐศาสตร์จะจัดบรรยายโดยราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะจัดที่มหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม (Stockholm University) ครับ

ตัวผมเองได้เข้าร่วมกิจกรรมฟังบรรยายจากทั้งสองที่เลยครับ โดยการเข้าฟังบรรยายที่นี่เป็นอะไรที่คนตื่นเต้นกันมาก มีคนเดินทางมาจากต่างเมืองหรือต่างประเทศเพื่อที่จะมาเข้าชมเลย และแน่นอนครับว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าฟังได้ครับ เพราะสถานที่มีจำกัดมาก เราต้องมาต่อคิวกันตั้งแต่เช้า เพราะการบรรยายจะยาวนานถึงสามหรือสี่ชั่วโมง ถ้าพลาดแล้วก็จะหมดโอกาสในการฟังไปเลยครับ

ผมเริ่มวันแรกที่คาโรลินสกาครับ เนื่องจกาวันนั้นทางหลักสูตรผมให้หยุดไปฟังบรรยาย ทำให้ผมและเพื่อนๆ มีโอกาสที่จะไปต่อคิวด้วยกันครับ ไม่น่าเชื่อครับว่าขนาดมาก่อนเวลานานพอสมควร แต่คิวนั้นยาวอยู่หลายร้อยคนเลยครับ

การบรรยายเริ่มประมาณบ่ายโมง แต่ผมไปตั้งแต่สิบเอ็ดโมงกว่าๆ คนนั้นก็รอมากจนแทบจะไม่มีทางเดินเลยครับ ที่แย่ที่สุดคือการที่เราต้องรอภายนอกอาคารในเดือนธันวาคมที่อากาศหนาวราวศูนย์องศา มีฝนและหิมะเล็กน้อย แต่เพื่อประสบการณ์ เราก็ต้องพยายามกันครับ

เรารอกันจนได้เวลาเข้า ผมโชคดีมากที่ได้เข้าเป็นกลุ่มเกือบสุดท้าย คนหลังจากผมไม่กี่คนก็ไม่มีโอกาสเพราะที่นั่งเต็มเรียบร้อยครับ เนื่องจากผมมาทีหลัง ฉะนั้นจึงหาที่นั่งในห้องได้ลำบากมาก เลยได้มีโอกาสไปนั่งอยู่ขอบๆของแถวที่นั่งครับ ซึ่งสิ่งที่พิเศษก็คือ ในที่นั่งเสริมด้านขอบนั้นจะถูกจัดแจงให้กับแขกวีไอพีอีกประเภทหนึ่งซึ่งได้รับเชิญมาครับ ผมก็เลยได้มีโอกาสได้สนทนากันระดับหนึ่งครับ

การบรรยายยาวนานมากมีการพักระหว่างทางเล็กน้อย ผมขอไม่เล่าในรายละเอียดนะครับ เพราะสามารถค้นหาวิดิโอการบรรยายได้จากในอินเทอร์เน็ตครับ เมื่อเสร็จก็จะมีการแสดงความยินดีรวมทั้งถ่ายรูปจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยครับ กว่าที่ทุกอย่างจะเสร็จก็เกือบเย็นแล้วครับ ซึ่งท้องฟ้าก็มืดหมดแล้ว

ระหว่างทางออกมีการมอบของที่ระลึกซึ่งเป็นโปสเตอร์ของผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปีนี้ รวมทั้งช็อกโกแลตรูปเหรียญรางวัลโนเบลด้วยครับ ในวันก่อนหน้านั้นเองผมมีนัดไปคุยธุระที่มหาวิทยาลัยตอนดึก ผมได้มีโอกาสเห็นรถทางการของการจัดงานมอบรางวัลโนเบลมาจอดที่ด้านหน้าตึกที่ผมทำงานครับ ผมกำลังเดินกลับบ้านและได้สวนทางกับผู้ได้รับรางวัลโนเบลหนึ่งในสองคนนั้น ก็ทำให้รู้สึกตกใจมากครับ ไม่คิดว่าเราเองจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดขนาดนี้ครับ

หลังจากนั้นวันเสาร์ก็จะถึงคราวของราชบัณฑิตที่จะจัดสัมมนาบ้างครับ งานสัมมนาจะจัดที่หอประชุม Aula Magna ที่เป็นห้องประชุมหลักของ Stockholm University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่สุดในสวีเดน มีชื่อเสียงที่ยาวนานทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ บุคคลที่มีชื่อเสียงที่ผมรู้จักท่านหนึ่งก็คืออาเรเนียส หนึ่งในบุคคลที่พัฒนาวิชาจลนศาสตร์ของเคมี

เนื่องด้วยราชบัณฑิตนั้นรับผิดชอบในการคัดเลือกรางวัลโนเบลสามสาขา ฉะนั้นการบรรยายในวันเดียวกันก็จะมีทั้งสามเรื่องเลยครับ และอาจจะนานถึงสิบชั่วโมงถ้าเราเข้าทั้งหมด ผมเลือกที่จะเข้าฟังในสาขาฟิสิกส์ และเคมี เพราะถือว่าน่าสนใจมากสำหรับตัวผมเอง

ด้วยห้องประชุมของที่นี่ค่อนข้างใหญ่ ทำให้มีผู้คนจากหลากหลายที่ บางกลุ่มถึงกับเดินทางจากต่างเมืองหรือต่างประเทศเพื่อมาต่อคิวรับฟังกันทีเดียว ผมเองเข้าฟังทั้งสองสาขาจนจบ และก็กำลังเดินทางกลับบ้าน

เนื่องจากผู้คนเยอะมากผมเองจึงต้องแย่งงออกมาจากห้องประชุม และเมื่อเดินผ่านอาคารของราชบัณฑิตที่ตั้งอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสได้ทันเห็นรถวอลโว่ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดกิจกรรมโนเบลครั้งนี้ และแน่นอนว่าคนที่นั่งอยู่ในรถจะไม่ใช่ใครอื่นใดเลย นอกจากเหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่เพิ่งจะจบสิ้นการบรรยาย และเดินทางไปยังอาคารราชบัณฑิต ถือว่าผมบังเอิญมากที่ได้เจอนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลทั้งในและนอกห้องประชุมที่คงจะหาไม่ได้จากที่ไหนได้อีกแล้ว

อันที่จริงแล้วกิจกรรมยังไม่หมด เพราะยังมีกิจกรรมที่ไม่เป็นทางการซึ่งจัดโดยสมาคมนักเรียนของมหาวิทยาลัยในสตอกโฮล์ม หรือที่เรียกว่า Student Nobel Night Cap (SNNC) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตั้งใจทำขึ้นเพื่อล้อเลียนงานเลี้ยงรางวัลโนเบลที่สามารถหาโอกาสเข้าได้ยากมาก และแพงมากทำหรับนักเรียน

ในตอนจัดตั้งจึงตั้งใจว่าจะจัดงานเลี้ยงและเชิญนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลมา ซึ่งจะมาหรือไม่นั้นก็แล้วแต่ว่าท่านไหนจะสะดวกแต่ไม่ได้เป็นทางการแต่อย่างไร ฉะนั้นหากใครเข้าร่วมกิจกรรมนี้ บางปีก็จะมีโอกาสได้เจอนักวิทยาศาสตร์ที่ดังที่สุดในปีนั้นก็เป็นได้

กิจกรรมทั้งหมดที่ผมได้กล่าวมานั้นเป็นหนึ่งผลกระทบที่เกิดจากการมอบรางวัลโนเบลที่เกิดขึ้น ณ ต้นกำเนิดอย่างเมืองสตอกโฮล์มเท่านั้น กิจกรรมอย่างอื่นยังมีจัดขึ้นทั่วโลก อย่างแรกที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงและเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนทำงานในวงการวิทยาศาสตร์ก็คือ งานประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ที่จัดทุกปี โดยจะมีการเชิญนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลในสาขาวิทยาศาสตร์ เท่าที่จะสามารถเชิญได้มาบรรยาย และให้โอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างใกล้ชิด

โดยประเทศไทยเองก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้เช่นกันและ สวทช. เองก็เป็นส่วนหนึ่งสำหรับการคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ที่จะไปงานอันทรงเกียรติแห่งนี้ นอกจากนี้ประเทศไทยเราเองก็มีกิจกรรมหลายอย่างที่จัดขึ้นเองหรือเป็นความร่วมมือกับเครือข่ายในต่างประเทศที่ให้เราได้ใช้โอกาสจากรางวัลโนเบลในการถ่ายทอกความรู้ไปสู่เยาวชน อย่างเช่น โครงการ Asian Science Camp หรือ Thai Science Camp ที่ให้โอกาสเยาวชนไทยได้มีส่วนร่วมใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้าของไทยรวมทั้งนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลเช่นกัน

ผมเชื่อว่ามาถึงตรงนี้ ถ้าท่านผู้อ่านได้อ่านครบจบทั้งสามตอน นี่ก็คือบรรยากาศ ความรู้สึก และแรงบันดาล ผมพยายามถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์ที่ผมได้มาเจอ รางวัลโนเบลอาจจะไม่ใช่เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของการทำงานวิทยาศาสตร์สำหรับหลายๆ คน

แต่รางวัลโนเบลเองได้สร้างผลกระทบให้กับสังคมโลกในวงกว้างสมกับสโลแกนที่หลายคนเข้าใจอย่างดีว่า “เพื่อประโยชน์อันสูงสุดแก่มวลมนุษยชาติ” รวมทั้งผมเองที่ได้ติดตามและศึกษาเรื่องราวของรางวัลโนเบลมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม และใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ตัวเองในการเรียนวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งได้กลับมาเขียนให้ทุกท่านอ่านในวันนี้


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 80
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/158431

About Author