ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง การขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตไม่ใช่เพียงการได้รับการยกย่องในฐานะผู้ได้รับรางวัล แต่คือการได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน และทำคุณประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์
เช่นเดียวกับ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มุ่งมั่นทำงานวิจัยตามพระปณิธานแห่ง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” ซึ่งทรงอุทิศตลอดพระชนม์ชีพเพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ ตลอดเวลาของการเป็นอาจารย์แพทย์ และศิษย์เก่าของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ของ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต จนได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปีงบประมาณ 2564 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นรางวัลที่ถือเป็นเกียรติสูงสุดของนักวิจัยไทยที่ได้ทำงานวิจัยเพื่อคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดิน ปวงชนชาวไทย และเป็นกำลังใจให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม ให้ไทยได้บรรลุเป้าหมายสู่การเป็น “ประเทศนวัตกรรม” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 9 ซึ่งว่าด้วยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมและอุตสาหกรรม (Industry, Innovation and Infrastructure)
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็น “อาจารย์แพทย์นักวิจัย” ว่าเกิดจากความสนใจใคร่รู้ในการที่จะไขปริศนาโรคภัยไข้เจ็บของผู้ป่วย และพบว่าการศึกษาเชิงลึกทางโลหิตวิทยา จะทำให้สามารถค้นหาคำตอบถึงสาเหตุของการเกิดโรค เพื่อที่จะวางแผนในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ในทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย นอกเหนือจากการฝึกอบรมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ยังได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้านอณูเวชศาสตร์ (Molecular Medicine) จาก มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร ทำให้มีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านการวิจัยทางคลินิกและทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำให้ผลงานวิจัยที่ผ่านมามากกว่า 40 โครงการ ที่ได้รับทุนสนับสนุน ทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ เป็นผลงานที่ทำให้ได้รับคัดเลือกจาก วช. ให้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีผลงานวิจัยเด่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการตรวจวินิจฉัยโรคทางด้านโลหิตวิทยาและอณูเวชศาสตร์
โดยผลงานที่ได้ทำเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติตามพระปณิธานแห่ง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือ การได้เป็นนักวิจัยรายแรกของโลกที่ค้นพบโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม KLF-1 ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน “Blood” วารสารทางวิชาการด้านโลหิตวิทยาระดับโลกเมื่อปีค.ศ.2014 ผลงานดังกล่าวยังได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก ประจำปีงบประมาณ 2558 จาก วช. อีกด้วย
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ยังได้เป็นผู้นำในการวิจัยเพื่อผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางโลหิตวิทยา ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของภาวะซีดที่พบมากในชาวไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผลงานวิจัยมากกว่า 100 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่การพัฒนาการตรวจวินิจฉัย การตรวจคัดกรองเพื่อการควบคุมป้องกัน การวิจัยยาใหม่ๆ เพื่อการรักษา เช่น ยาขับเหล็ก ไปจนถึงการวิจัยในเชิงสังคม เช่น การศึกษาคุณภาพชีวิต การเข้าถึงบริการ และอื่นๆ ผลงานเหล่านี้ได้รับการอ้างอิงในเวลาต่อมากว่าหลายพันครั้งในระดับนานาชาติ รวมทั้งได้พัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการตรวจประเมินภาวะเหล็กสะสมในหัวใจและตับ ด้วยเครื่อง MRI ซึ่งต่อมาได้ใช้เป็นมาตรฐานเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและแม่นยำให้กับผู้ป่วยทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
จนเมื่อเกิดวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้โลกต้องหยุดชะงัก แต่ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ยังคงเดินหน้านำความรู้จากการทำงานวิจัยทางด้านการตรวจสารทางพันธุกรรม มาปรับใช้ในการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างไม่ย่อท้อ โดยมองว่างานวิจัยและนวัตกรรมที่ดีจะต้องตอบโจทย์ และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยและประชาชนได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ด้อยโอกาสตามชุมชนต่างๆ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงการตรวจ จึงได้ดัดแปลงรถกระบะมาทำเป็น “รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย” ด้วยทุนส่วนตัว เพื่อสนับสนุนการตรวจเชิงรุก (Active Case Finding) ให้สามารถเดินทางไปถึงชุมชนห่างไกลในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยได้ โดยออกแบบติดตั้งห้องปฏิบัติการความดันบวกที่มีระบบกรองอากาศ และฆ่าเชื้อไวรัสติดตั้งบนด้านหลังรถกระบะ ทำให้เคลื่อนที่ได้สะดวก และให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถเก็บตัวอย่างผ่านช่องถุงมือ ทำให้ไม่ต้องใช้ชุด PPE สำหรับป้องกันการติดเชื้อที่กำลังขาดแคลน ซึ่งเป็นการลดโลกร้อนจากการเพิ่มขยะให้กับสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
จากความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีเพื่อสังคม และประเทศชาติ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต จึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถต้นแบบและสิทธิบัตรของ “รถเก็บตัวอย่างชีวนิภัย” แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2563 ภายหลังการประเมินคุณภาพและการทดสอบการใช้งานโดยกระทรวงสาธารณสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดสร้าง “รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน” ให้กับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำหรับช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ จนปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 50 คัน ทำให้ศักยภาพของบุคลากร 1 ราย จากเดิมสามารถเก็บตัวอย่างได้ประมาณวันละ 200 – 300 ตัวอย่าง ปัจจุบันสามารถทำได้ถึงวันละประมาณ 1,500 ตัวอย่าง หากใช้รถพระราชทาน นำมาซึ่งความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้
แม้ปัจจุบันมาตรการรักษาระยะห่างจะคลายล็อกเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ได้กล่าวแสดงความห่วงใยประชาชนให้เห็นความสำคัญของการป้องกันตัวเอง และการเข้ารับวัคซีนเพื่อการสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” เนื่องด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปัจจุบันยังคงมีความรุนแรง จนอาจทำให้ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อที่กลายพันธุ์ หากไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน และอีกปัจจัยที่น่าเป็นห่วง คือ “ภาวะอ้วน” ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นทั้งโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ซึ่งได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งมักพบอาการรุนแรงในผู้ที่มีภาวะอ้วน โดยจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่ำ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะหันมาดูแลสุขภาพของตัวเอง และระวังเรื่องการมีน้ำหนักเกิน ด้วยการควบคุมการบริโภคให้มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือที่เหมาะสมในช่วงที่ต้องหยุดเรียนและทำงานที่บ้านในช่วงวิกฤติ COVID-19 นี้
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ได้กล่าวย้ำเพื่อฝากเป็นข้อคิดแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ทิ้งท้ายว่า “งานวิจัยที่ดีต้องมีประโยชน์ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วย และรับใช้สังคม” คือ ความภาคภูมิใจ ซึ่งจะเป็นรางวัลที่แท้จริงสำหรับนักวิจัยทุกท่านที่มุ่งมั่นตอบแทนสังคมและประเทศชาติ
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210