เรื่องโดย
ดร.ชวลิต วิทยานนท์
ปลาหนังช้าง (เป็นชื่อที่ชาวประมงที่นครศรีธรรมราชเรียกกัน) หรือชื่ออื่น ๆ คือ ปลาแสงอาทิตย์ (แปลตรง ๆ จากภาษาอังกฤษ ocean sunfish), ปลาโมลา (ตามชื่อสกุล) อยู่ในวงศ์ Molidae อันดับ Tetraodontiformes อันดับเดียวกับปลาปักเป้าและปลาวัว สกุลนี้พบ 3 ชนิด คือ Mola mola, Mola alexandrini (เมื่อก่อนใช้ชื่อ Mola ramsayi) และ Mola tecta พบได้ในมหาสมุทรทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก รวมทั้งในน่านน้ำไทย ซึ่งเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์เป็นครั้งคราวมากว่า 40 ปีแล้ว
รายงานการพบ Mola alexandrini ครั้งแรกของน่านน้ำไทย เป็นการบันทึกภาพของคุณธีระสิทธิ วิชาชู นักบินพารามอเตอร์มืออาชีพ ที่ได้บินผ่านชายฝั่งบ้านม่วงงาม จังหวัดสงขลา ในทริปบิน “แหลมตะลุมพุก-แหลมสมิหลา” วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557 เมื่อ 14.35 น. เห็นชาวบ้านมุงดูปลารูปร่างแปลก จึงได้ร่อนลงสังเกตการณ์ แล้วถ่ายรูปด้วยมือถือ ก่อนขึ้นบินต่อไป เจ้าปลามีขนาดราว 2×3 เมตร ไม่รวมครีบบน-ล่าง มีน้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ตอนแรกที่ผมเห็นภาพจากเฟซบุ๊กของคุณธีระสิทธิ ก็คิดว่าเป็น Mola mola ที่เคยมีรายงานอยู่บ่อย ๆ ในน่านน้ำไทย แต่โชคดีที่คุณเรืองฤทธิ์ พรหมดำ ให้ข้อสังเกต พร้อมแนบเอกสารอ้างอิงถึง Mola ramsayi (M. alexandrini) มา จึงรู้ว่าเป็น Southern sunfish ที่เคยเข้าใจว่ามีแต่ในน่านน้ำใต้เส้นศูนย์สูตร ความจริงเจ้าปลานี่ก็เคยมีรายงานพบในทะเลแดง น่านน้ำประเทศโอมาน เมืองเชนไน (Chennai) ประเทศอินเดีย และล่าสุดที่หมู่เกาะกาลาปาโกสซึ่งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ครั้งนี้จึงเป็นหลักฐานที่สำคัญ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถเก็บตัวอย่างจริงไว้ในพิพิธภัณฑ์ และบันทึกเป็นชนิดที่ 2822 ของรายชื่อปลาไทย ในปี พ.ศ. 2557 (ปีนี้เจอกว่า 3300 ชนิดแล้ว) ได้
จนถึงปี พ.ศ. 2566 เราก็พบปลาหนังช้างอีกชนิดที่ยังไม่เคยพบในน่านน้ำไทย คือ Mola tecta จากแพปลาจังหวัดระนอง เจ้าตัวนี้ถูกสั่งมาทำเป็นเมนูเด็ด และเป็นตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์พร้อม ๆ กัน ปลาหนังช้างชนิดนี้มีลักษณะที่ต่างจากชนิดอื่นคือ มีแนวรูป V ที่โคนหาง และขอบครีบหางเรียบมน เคยเข้าใจว่าพบเฉพาะในทะเลซีกโลกใต้ แถวนิวซีแลนด์และทะเลใกล้เคียง แต่ก็เจอไปถึงซานตาบาร์บารา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาด้วย ปลาหนังช้างจัดเป็นปลาน่าหม่ำอีกชนิดที่เป็นที่นิยมในบางประเทศ
เจ้าปลาในวงศ์นี้มีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ เป็นปลากระดูกแข็ง (bony fish) ที่มีน้ำหนักมากที่สุด เมื่อโตเต็มที่แล้วโดยเฉลี่ยจะมีขนาดประมาณ 2-3 เมตร น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 ตัน ตัวที่เป็นเจ้าของสถิติโลกขณะนี้เป็นปลา Mola alexandrini หนักถึง 2.744 ตัน ยาว 3.25 เมตร (พบซากแถวหมู่เกาะอะโซร์ส (Azores) ของประเทศโปรตุเกส ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565)
แม้ว่าปลาหนังช้างครองแชมป์ปลาที่วางไข่จำนวนมหาศาลที่สุดในโลกถึง 300 ล้านฟองต่อครั้ง แต่อัตรารอดในธรรมชาติก็น้อยมาก จำนวนประชากรปลาหนังช้างจึงไม่ได้มีเยอะแยะมากมายตามจำนวนไข่ที่แม่ปลาวาง และการพบเจอพวกมันก็ไม่ใช่ง่าย ๆ
เคยเข้าใจกันมานานว่าปลาหนังช้างกินแพลงก์ตอนขนาดใหญ่ แมงกะพรุน และหมึกกล้วยเป็นอาหารหลัก แต่เมื่อผ่าตัวอย่างปลาหนังช้างหลายตัวดูก็พบว่ามันนิยมกินเหยื่อที่เป็นปลาหน้าดิน เช่น ปลาอมไข่ ปลามังกรน้อย ปักเป้า หมึกสาย มากกว่า
ดาวน์โหลดฟรี! นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 125