เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
มาอีกแล้ว ! ไวรัสก่อโรคโควิด 19 สายพันธุ์กลายตัวใหม่ มาก่อความวิตก ความกังวล และแถมความสับสนทางภาษาเข้าไปอีกว่าจริงๆ แล้วมันเขียนทับศัพท์ยังไง “โอไมครอน” หรือ “โอมิครอน” แล้วเสียงล่ะ โอหรือออหรืออะ ไมหรือมิหรือมี หรืออะไรกันแน่ แล้วจะต้องเน้นเสียงที่พยางค์ไหน พยางค์แรกหรือพยางค์ที่สอง เรื่องชวนปวดหัวนี้แม้แต่เจ้าของภาษาเองยังถกเถียงกัน จนคำว่า Omicron ขึ้นไปติดอันดับคำที่สร้างความสับสนในการออกเสียงประจำปี ค.ศ. 2021 กับเขาด้วยเหมือนกัน
Omicron เป็นอักษรกรีกตัวที่ 15 ที่ WHO นำมาใช้เรียกชื่อโคโรนาไวรัส 2019 สายพันธุ์กลายควรกังวลตัวที่ 13 คือ B.1.1.529 ซึ่งมีรายงานการพบครั้งแรกในทวีปแอฟริกาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โฆษกของ WHO บอกว่าที่ข้ามอักษรกรีกตัวที่ 13 คือ Nu กับ 14 คือ Xi ไปนั้นเพราะตัวแรกไปพ้องเสียงคำว่า “new” กลัวจะสับสน ส่วน Xi ไม่พ้องเสียงแต่ไปพ้องกับการเขียนชื่อ/นามสกุลคน ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดี Xi Jinping
Omicron เป็นคำที่ยืมมาจากภาษากรีก o mikron แปลว่า โอเล็ก/โอสั้น ซึ่งในภาษากรีกแบบดั้งเดิมนั้นคำว่า “mi” จะออกเสียงเหมือนคำว่า “me” ในภาษาอังกฤษ แต่ตั้งแต่ Omicron เปิดตัวมา เราก็จะได้ยินคนเรียกชื่อมันแตกต่างกันออกไป
อย่างในดิกชันนารี Merriam Webster ใส่การออกเสียงแบบอเมริกันไว้สองแบบ คือ AH-muh-krahn เป็นโอเสียงสั้น ซึ่งคนอเมริกันส่วนใหญ่จะออกเสียงใกล้เคียงแบบนี้ และ OH-muh-krahn เป็นโอเสียงยาว เหมือนตอนที่โฆษก WHO ประกาศแนะนำ Omicron ให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวโลก นอกจากสองแบบนี้ก็อาจจะได้ยินคนอเมริกันเรียก OH-my-kraan, OH-mee-kraan หรืออื่นๆ แต่ที่แน่ๆ คือเสียงที่ออกมาจะเน้นที่พยางค์แรกเท่านั้น
ส่วนทางฝั่งอังกฤษ คนอังกฤษบางคนออกเสียง oh-MY- (เน้นพยางค์กลาง) แต่ปัจจุบันไม่ว่าจะนักวิทยาศาสตร์ นักข่าว นักการเมือง ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน (Borris Johnson) เมื่อพูดถึง Omicron ที่เป็นเชื้อก่อโรคโควิด 19 ก็ออกเสียงด้วยการเน้นพยางค์แรกตามแบบโฆษก WHO ไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ผู้จัดทำพจนานุกรมอย่าง Oxford English Dictionary จึงได้ใส่วิธีการออกเสียง Omicron แบบอังกฤษไว้ทั้งแบบที่เน้นพยางค์กลางและพยางค์แรก คือ oh-MY-kron, oh-MY-kruhn, OM-uh-kron และ OM-uh-kruhn ส่วนการออกเสียงแบบอเมริกันที่เน้นพยางค์แรกมี 2 แบบ คือ OM-uh-kron และ OH-muh-kron และยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกด้วยว่าต่อไปเมื่อพูดถึง Omicron ที่เป็นเชื้อก่อโรคโควิด 19 ผู้คนก็น่าจะออกเสียงเน้นพยางค์แรกเป็นหลัก
ในส่วนของการเขียนทับศัพท์ภาษาไทย ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า การเขียนทับศัพท์คือการถอดอักษรและเสียงจากคำภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย โดยอ้างอิงจากหลักเกณฑ์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ให้พออ่านออกเสียงได้ใกล้เคียง ไม่ใช่การถอดเสียงออกมาแบบเป๊ะๆ ซึ่งจากการสอบถามสำนักงานราชบัณฑิตยสภาไปก็ได้ความมาว่า Omicron เขียนได้ทั้ง “โอไมครอน” และ “โอมิครอน”
มาถึงตรงนี้ ไม่ว่าจะเขียนทับศัพท์อย่างไร จะอ่านอย่างไร จะออกเสียง โอ๊-มาย-ครอน, โอ๊-หมิ-ครอน, อ๊ะ-มาย-ครอน, อ๊อม-เออะ-ครอน หรือจะแบบกรีกจ๋า โอมีครอน (กระดกลิ้นนิดนึง) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ต่างก็บอกว่ามันไม่มีผิดมีถูก ไม่ได้ซีเรียสอะไรเบอร์นั้น สิ่งที่สำคัญเร่งด่วนที่เราควรทำตอนนี้คือดูแลรักษาตัวให้รอดปลอดภัยจากเจ้าไวรัสนี้กันดีกว่า
ที่มา
https://www.merriam-webster.com/dictionary/omicron
https://www.nytimes.com/2021/11/30/world/omicron-covid-variant-pronunciation.html
https://www.bbc.com/news/av/health-59512165
https://www.youtube.com/watch?v=Pl8RWEFDUT4
https://twitter.com/ConstantlyGus/status/1466114208614035462?s=20