วิกฤติ COVID-19 ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ได้อยู่ติดบ้าน และได้ริเริ่มลองทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะมีเวลาได้ทำ เช่น ออกกำลังกาย ทำอาหารคลีน หรืออาหารเพื่อสุขภาพไว้รับประทานเอง เพื่อการดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะได้มีภูมิคุ้มกันต่อโรค ไม่ติดเชื้อและป่วยง่าย
ชีวิตที่ติดออนไลน์ ต้อง Work From Home กันมาเป็นเวลายาวนาน จะดีแค่ไหน หากได้ปลดล็อกตัวเองวางแผนเที่ยว สำหรับใครที่อยู่ไม่ไกลจากศาลายา จังหวัดนครปฐม หากชอบเที่ยวแนวเพื่อสุขภาวะ อาจเริ่มจากไปเที่ยวแปลงผักปลอดสารพิษ (Organic Farm) ที่อยู่ข้างอาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาหารคลีน จากนานาพืชผักอินทรีย์บนแปลงเกษตร ซึ่งเปรียบเหมือน “ครัวธรรมชาติ” ของประชาคมมหาวิทยาลัยมหิดล และชาวชุมชนศาลายา ซึ่งสามารถตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ข้อที่ 15 ที่ว่าด้วยการพัฒนาชีวิตบนบกให้สมบูรณ์และยั่งยืน (Live On Land) ได้เป็นอย่างดี
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เพียงกว่า 20 กิโลเมตร หากใช้ถนนบรมราชชนนีเป็นเส้นทางหลักจะใช้เวลาประมาณ 30 – 45 นาที ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร รถประจำทางสายที่วิ่งผ่านมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้แก่ ปอ.515 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – เซ็นทรัลศาลายา) ปอ.556 (อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย – วัดไร่ขิง) ไมโครบัส Y70E (มทร.รัตนโกสินทร์ – BTS หมอชิต) สาย 124 (สนามหลวง – แยกพุทธมณฑล สาย 5) และ สาย 84ก (วงเวียนใหญ่ – หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา)
เมื่อเข้ามาในรั้ว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา แล้ว สามารถจอดรถได้ที่อาคารจอดรถศูนย์ประชุมมหิดลสิทธาคาร เพื่อแวะจิบกาแฟ หรือเลือกจอดรถฟรีได้ตาม Park ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จากนั้นสามารถรอขึ้นรถรางฟรีได้ตามจุดต่างๆ ที่กำหนด ซึ่งรถรางสายที่ผ่านร้านผักปลอดสารพิษ ได้แก่ สายสีแดง และสายสีน้ำเงิน
จากพื้นที่ว่างอาณาเขต 4 ไร่ ที่มีผืนดินซึ่งเต็มไปด้วยเศษวัสดุก่อสร้าง เมื่อประมาณปี 2551 หรือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ในยุคแรกเริ่มของการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยมหิดล สู่การเป็น “มหาวิทยาลัยสีเขียว” เช่นในปัจจุบัน ด้วยการริเริ่มปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้ปุ๋ยและสารสกัดจากธรรมชาติปราบศัตรูพืช ได้ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่พึ่งพิง และเพื่อสุขภาวะของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และชาวชุมชนศาลายาอย่างแท้จริงถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่จากหน้าร้าน เมื่อเปิดตู้นำ้แข็งแช่น้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพตู้แรก จะได้พบกับ “น้ำนมข้าวโพด” แสนอร่อยราคาเพียงขวดละ 10 บาท แช่น้ำแข็งไว้พร้อมสรรพ และในตู้น้ำแข็งที่วางเรียงใกล้ๆ กันก็มี “น้ำฟักข้าว” ที่หาดื่มได้ยากยังคงจำหน่ายในราคา 10 บาท แช่น้ำแข็งรวมกับน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพรสอื่นๆ รอให้มาหยิบดื่มได้ด้วยตัวเองเช่นกัน
ด้วยความที่มีรสชาติอร่อย ดีต่อสุขภาพ และไม่หวานจนเกินไป ทุกครั้งที่ได้ไปเยือนร้านแห่งนี้ หลายคนอดใจไม่ได้ที่จะเปิดน้ำนมข้าวโพดขวดที่เพิ่งจ่ายเงินเสร็จยกขึ้นดื่มทันที ซึ่งทางร้านฯ มีบริการถังขยะที่ดูสะอาดสะอ้านไว้คอยรองรับขวดเปล่า และเมื่อได้สดชื่นแก้กระหายแล้ว จะซื้อกลับไปฝากบรรดา “แฟนคลับ” ของร้านฯ ที่ยังหาโอกาสมาด้วยไม่ได้ด้วยก็ไม่ว่ากัน
มองเข้าไปในร้านเห็นผักปลอดสารพิษที่คุ้นเคยจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ โดยมีราคาตั้งแต่ 5 บาทขึ้นไปไว้ให้เลือกสรร มีตั้งแต่ผักพื้นบ้านที่หายาก เช่น ผักปลัง ผักจิ้มน้ำพริกสวยๆ เช่น ดอกชมจันทร์ ผักต้มซุป/ทำสลัดที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เช่น ผักร็อกเก็ต ที่เก็บสดๆ มาจากแปลงผักข้างร้าน ล้างเตรียมไว้แบบติดราก สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการปลูกผัก ก่อนนำผักไปประกอบอาหารสามารถตัดรากนำไปปักชำเพาะขยายพันธุ์ต่อได้เองทันที
ซึ่งใครที่คิดจะปลูกผักแบบอินทรีย์ไว้กินเอง แนะนำให้มาร้านนี้ มีครบทั้งปุ๋ย และน้ำหมักชีวภาพ ตลอดจนเกษตรกรผู้ปลูกคอยให้คำแนะนำปรึกษา บอกเล่าจากประสบการณ์ตรง แม้แต่ในที่ที่มีพื้นที่จำกัดอย่างเช่นตามตึกรามบ้านช่องในเมือง ก็อาจปลูกผักแบบแนวตั้ง โดยการนำเอาแนวคิดการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์นี้มาประยุกต์ใช้ได้
การส่งเสริมปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ นอกจากไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งผู้ปลูกและผู้กินแล้ว รวมทั้งยังทำให้ช่วงเวลาที่ต้องอยู่บ้านในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ได้กลายเป็นเป็นช่วงเวลาดีๆ ของครอบครัว ที่ให้สมาชิกในครอบครัวได้มีโอกาสร่วมด้วยช่วยกันปลูกผัก และหากบ้านใดที่มีเด็กเล็กๆ การให้เด็กได้มีส่วนช่วยครอบครัวปลูกและดูแลผัก ตลอดจนได้ร่วมลองทำเมนูใหม่ๆ จากผักด้วยตัวเอง จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กชอบกินผัก ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของเด็กได้ต่อไปในระยะยาว ถือเป็น “ของขวัญ” จากพ่อแม่ที่ประเมินค่าไม่ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ในผู้สูงวัยที่พบปัญหากระดูกเปราะบาง แตกหักง่าย จากการขาดวิตามิน และแคลเซียม การกินผักซึ่งอุดมไปด้วยวิตามิน และแคลเซียม ร่วมกับการออกกำลังกายโดยพอประมาณ และการได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับกระดูก ตลอดจนช่วยชะลอการเสื่อมของกระดูกได้
ผักปลอดสารพิษจากแปลงผักเกษตรอินทรีย์แห่งนี้ นอกจากเหมาะที่จะนำไปทำ “เมนูซุป” แล้ว “เมนูผัดผัก” ก็ถือเป็นรายการที่ขาดไม่ได้ในทุกโต๊ะอาหาร ซึ่งการกินไขมันในปริมาณที่พอเหมาะร่วมด้วยจะช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินบางชนิดจากผักได้ดีขึ้น หากได้ใช้น้ำมันประกอบอาหารที่มีคุณภาพ และเหมาะสมก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพ ซึ่งหาซื้อได้จากร้านผักปลอดสารพิษแห่งนี้เช่นกัน
“ป้าลำพึง ศรีสาหร่าย” ผู้เปรียบเป็น “ตำนาน” แห่งร้านผักปลอดสารพิษแห่งนี้ ยังอยู่ในความทรงจำของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และชาวชุมชนศาลายาทุกคน เป็นที่ทราบกันดีว่า ป้าลำพึงไม่เคยพูดว่า “ผักหมดแล้ว” แต่จะพูดให้ “รอแป๊บนะ” แล้วกุลีกุจอเดินตรงไปที่แปลงผักเด็ดมาล้างใส่ถุงพร้อมส่งให้ด้วยรอยยิ้มเสมอ และบางวันขณะลูกค้ากำลังเลือกซื้อผัก เกือบทุกวันจะได้ยินเสียงบรรยายธรรมะเพราะๆ เนื้อหาโดนใจ ที่ป้าลำพึงเปิดทางวิทยุ MP3 ไว้อีกด้วย
นอกจากผักขายดีตามที่กล่าวในช่วงต้นแล้ว ยังมีผักอีกนานาพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ผักคะน้า ผักโขม ผักกวางตุ้ง วอเตอร์เครส มะเขือเทศ แครอท ฯลฯ รวมทั้งธัญพืช และผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปต่างๆ เช่น กล้วยตาก ขนมอบ หรือแม้แต่อุปกรณ์ทำดีท็อกซ์ หรือสวนล้างลำไส้ ที่ทำง่ายๆ จากขวดน้ำดื่มขนาด 1.5 ลิตร จากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรชุมชนศาลายา ตลอดจนผลิตภัณฑ์โอสถพื้นบ้านต่างๆ เช่น ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ฯลฯ ที่มาคอยเติมเต็มอยู่ไม่ขาด
ซึ่ง “สมุนไพรฟ้าทะลายโจร” ได้รับการประกาศให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 โดยระบุว่าสามารถใช้กับผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงได้ ซึ่งผู้ที่ได้รับปริมาณของสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่มีอยู่ในสมุนไพรฟ้าทะลายโจรประมาณ 60 – 120 มิลลิกรัมต่อวัน จะสามารถบรรเทาจากอาการของโรคหวัดได้
เพียงมาตัวเปล่า ถือสมาร์ทโฟนมาเครื่องเดียวก็สามารถแสกนจ่าย ก่อนหอบพืชผัก ธัญญาหาร และผลไม้ที่ตัวเองชื่นชอบ พร้อมอุดหนุนสินค้าเกษตรของชาวชุมชนศาลายาในราคาที่น่าซื้อหากลับบ้านไปด้วยความสุขใจ
ร้านผักปลอดสารพิษ ม.มหิดล ศาลายา แม้จะเปิดตามปกติตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 น. จันทร์ – เสาร์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่ก็มีบางช่วงที่ต้องปิดชั่วคราว เนื่องจากขายดีจนผักโตไม่ทัน ดังนั้นก่อนมาที่นี่ ควรเช็คให้ดีก่อนว่าร้านเปิดหรือไม่ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ ให้เข้าไปเยี่ยมชมเพจของร้านที่ใช้ชื่อว่า “ร้านผักปลอดสารพิษ แม่ลำพึง ในม.มหิดล” เพื่อติดตามข่าวสาร
ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นอกจากร้านผักปลอดสารพิษแล้ว ยังมี landmark ที่น่าไปแวะเที่ยวชมอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น “อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ” ที่อยู่ใกล้หอประชุมมหิดลสิทธาคาร “เรือนไทยศาลายา” ซึ่งเปิดสำหรับการแสดงกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ พิพิธภัณฑ์ดนตรีอุษาคเนย์ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ
เสร็จจากซื้อผัก สำหรับใครที่ยังพอมีเวลาพัก จะจูงมือญาติสนิท มิตรสหาย หรือแม้แต่จะปลีกวิเวกคนเดียว เดินออกไปทางคณะกายภาพบำบัด เพื่อถ่ายรูปเซลฟี่ที่ “ลานเป็ดขาวจำลอง” ที่อยู่ใกล้กัน ก่อนกลับก็ได้ไม่ว่ากัน
เมื่อได้มาเยือนที่นี่สักครั้ง จะทำให้เกิดความรู้สึกอยากกินผักและใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง กับชีวิตวิถีใหม่ที่ปรับเปลี่ยนจนมั่นใจแล้วว่าจะ “อยู่กับ COVID-19” ให้ได้ต่อไป
เรื่องและภาพโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210