ดาวเต่า ดาวไถ

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


“ที่สามดวงช่วงเรียงเคียงกันไป
เขาเรียกว่าดาวไถแต่บุราณ”

อิเหนา
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2


          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีนายพรานคนหนึ่งชื่อโอไรออน (Orion) วันหนึ่งโอไรออนได้พบกับอาร์ทิมิส (Artemis) เทพธิดาแห่งการล่าสัตว์ โอไรออนพูดอวดว่าเขาสามารถฆ่าสัตว์ให้หมดโลก

          พระแม่ธรณีไกอา (Gaia) ได้ยินคำพูดของโอไรออนก็โกรธมาก จึงส่งแมงป่องยักษ์มาต่อยโอไรออนเสียชีวิต

          เทพซูส (Zeus) ได้นำร่างของโอไรออน, แมงป่องยักษ์ รวมทั้งหมา 2 ตัว ของโอไรออน ขึ้นไว้บนท้องฟ้า เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ กลายเป็นกลุ่มดาวนายพราน (Orion) กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius), กลุ่มดาวหมาใหญ่ (Canis Major) และกลุ่มดาวหมาเล็ก (Canis Minor)


ภาพวาดกลุ่มดาวนายพรานจากหนังสือ Uranometria ของ Johann Bayer พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2146 (ภาพนี้พิมพ์ใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2204)
ที่มาภาพ : Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Orion_(mythology)

          กลุ่มดาวนายพรานกับกลุ่มดาวแมงป่องจะอยู่ตรงข้ามกันบนท้องฟ้า ไม่สามารถเห็นกลุ่มดาวทั้งสองอยู่บนท้องฟ้าพร้อมกันเลย เมื่อเห็นกลุ่มดาวนายพรานจะไม่เห็นกลุ่มดาวแมงป่อง เมื่อเห็นกลุ่มดาวแมงป่องก็จะไม่เห็นกลุ่มดาวนายพราน

          ในกลุ่มดาวหมาใหญ่จะมีดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าเวลากลางคืนคือดาวโจร (Sirius ควรทับศัพท์ตามหลักเกณฑ์ราชบัณฑิตยสภาว่า “ซิเรียส” มากกว่า ซิริอัส, ซิรีอัส, ซิริอุส หรือ ซิรีอุส)


ภาพถ่ายกลุ่มดาวนายพราน ที่สาธารณรัฐเช็ก ถ่ายภาพโดย Vojtěch Bauer ดาวสว่างทางซ้ายคือดาวโจร (Sirius)
ที่มาภาพ : NASA https://apod.nasa.gov/apod/ap200218.html

          คนไทยเรียกกลุ่มดาวนายพรานว่า “ดาวเต่า” โดยดาวสว่าง 4 ดวงของกลุ่มดาวนายพราน เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยม เหมือนเท้าทั้ง 4 ของเต่าคือ ดาวบีเทลจูส (Betelgeuse) เป็นเท้าซ้ายหน้า, ดาวเบลเลทริกซ์ (Bellatrix) เป็นเท้าขวาหน้า, ดาวไซฟ์ (Saiph) เป็นเท้าหลังซ้าย และดาวไรเจล (Rigel) เป็นเท้าหลังขวา หัวนายพรานก็เป็นหัวเต่า

ภาพแสดงเขตพื้นที่ของกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ที่มาภาพ : สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) https://www.iau.org/public/themes/constellations/

          ดาวสว่าง 3 ดวงตรงกลางที่เรียงเป็นเส้นตรงเรียกว่า เข็มขัดนายพราน (Orion’s belt) ประกอบด้วยดาวอัลไนแทก (Alnitak), ดาวอัลไนแลม (Alnilam) และดาวมินทากา (Mintaka) คนไทยเห็นเป็นคันไถสำหรับไถนาจึงเรียกว่า “ดาวไถ” โดยรวมดาว 3 ดวงที่เป็นเข็มขัดนายพรานกับดาบนายพรานคือดาวที่เรียงลงมาทางด้านล่างดาวอัลไนแทกด้วย ดาวไถจึงปรากฏซ้อนอยู่บนกระดองของดาวเต่า

          บทละครเรื่อง “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้กล่าวถึงที่มาของดาว 3 ดวง ที่เป็นเข็มขัดนายพรานนี้ว่า เมื่อพระรามยกทัพไปรบกับทศกัณฐ์ พระรามส่งพระลักษณ์ที่เป็นน้องชายออกมารบกับกุมภกรรณที่เป็นน้องชายของทศกัณฐ์


ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพฯ ห้องที่ 61 พระรามแผลงศรเกิดเป็นดวงจันทร์ 3 ดวง (เข็มขัดนายพราน) ถ่ายโดยผู้เขียน

          พระลักษณ์พลาดท่าโดนหอกโมกขศักดิ์ซึ่งเป็นหอกวิเศษของกุมภกรรณปักอก (แต่ยังไม่เสียชีวิต) สุครีพที่เป็นลิงทหารเอกจึงให้นิลนนท์ไปทูลพระรามให้ทราบ

          เมื่อพระรามทราบก็เศร้าโศกอย่างมาก สั่งให้นิลนนท์รีบนำทางไปหาพระลักษณ์ แต่เนื่องจากเป็นเวลากลางคืน เมฆเต็มท้องฟ้าบดบังแสงดาวและแสงเดือน ทำให้มืดสนิทไม่เห็นเส้นทาง นิลนนท์จึงพาพระรามหลงทาง พระรามโกรธนิลนนท์ที่ทำให้เสียเวลา แล้วพระรามจับศรจันทวาทิตย์ยิงขึ้นบนท้องฟ้า เกิดเป็นดวงจันทร์ (ศศิธร) 3 ดวง เป็นแสงสว่างนำทางไปจนเจอพระลักษณ์

          ดวงจันทร์ 3 ดวงนั้นเมื่อเวลาผ่านไปก็ลอยห่างไปเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้เห็นเป็นดาว 3 ดวง

 

“มืดคลุ้มอับแสงดาวเดือน

เมฆเกลื่อนบดบังรัศมี

ไม่เห็นมรรคาพนาลี

กระบี่พาหลงวงไป

 

พระพิโรธโกรธกริ้วกระทืบบาท

พสุธากัมปนาทหวาดไหว

เหวยไอ้นิลนนท์จังไร

เหตุใดจึ่งพากูหลงมา

 

ว่าแล้วจับจันทวาทิตย์

ทรงฤทธิ์พาดสายเงื้อง่า

น้าวหน่วงแผลงไปในเมฆา

เสียงสนั่นลั่นฟ้าธาตรี

 

เกิดเป็นศศิธรสามดวง

โชติช่วงจำรัสรัศมี

แสงสว่างพ่างพื้นธรณี

ภูมีเร่งรีบเสด็จจร”

 

ภาพสามเหลี่ยมฤดูร้อน
ที่มาภาพ : Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Winter_Triangle

 

          ดาวสว่าง 3 ดวงนี้เป็นดาวที่โดดเด่นสังเกตจดจำได้ง่าย แม้ในเมืองที่มีมลพิษแสงมากอย่างกรุงเทพฯ เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มเรียนดูดาว

          กลุ่มดาวนายพรานหรือดาวเต่ายังเป็นดาวช่วยบอกฤดูกาลอีกด้วย โดยลากเส้นจากดาวบีเทลจูสไปดาวโจรหรือดาวซิเรียสในกลุ่มดาวหมาใหญ่ และไปดาวโพรซีออน (Procyon) ในกลุ่มดาวหมาเล็ก เกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่เรียกว่า สามเหลี่ยมฤดูหนาว (Winter Triangle) เป็นสามเหลี่ยมที่จะเห็นในฤดูหนาว

          ฤดูหนาวของประเทศในซีกโลกเหนือที่มี 4 ฤดู จะเริ่มเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ต่างจากประเทศไทยที่มี 3 ฤดู จะเริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ (แต่ละปีวันที่อาจไม่ตรงกันขึ้นกับการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในปีนั้น)

 
ภาพเปรียบเทียบดาวเต่า ดาวไถ กับกลุ่มดาวนายพราน ที่มาภาพ หนังสือ มหัศจรรย์มนุษย์กับดวงดาว โดย นิพนธ์ ทรายเพชร พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2555 หน้า 78

          ในเดือนเมษายนตอนหัวค่ำเราจะเห็นกลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันตก แต่ละวันกลุ่มดาวนายพรานจะต่ำลงเรื่อย ๆ จนปลายเดือนพฤษภาคมจะไม่เห็นกลุ่มดาวนายพราน ต้องรอถึงปลายเดือนกรกฎาคมตอนเช้ามืดจะเห็นกลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก กลุ่มดาวนายพรานจะขึ้นเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เราจะเห็นกลุ่มดาวนายพรานจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมอีกครั้งเป็นเช่นนี้ทุกปี


ภาพเนบิวลานายพราน ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ปี พ.ศ. 2547-2548
ที่มาภาพ : https://hubblesite.org/contents/media/images/2006/01/1826-Image.html

          สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดอย่างหนึ่งในกลุ่มดาวนายพรานคือ เนบิวลานายพราน (Orion Nebula) หรือ M42 อยู่ใกล้ปลายดาบของนายพราน (ใต้เข็มขัดนายพราน) เนบิวลาคือกลุ่มฝุ่นและแก๊สในอวกาศ สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า (อันดับความสว่าง +4) ในที่มืดสนิท


คำศัพท์น่ารู้

  • กลุ่มดาว (constellation) คือเขตพื้นที่บนท้องฟ้า (เปรียบเทียบเหมือนการแบ่งเขตประเทศ) สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union ย่อว่า IAU) แบ่งท้องฟ้าทั้งหมดออกเป็น 88 กลุ่มดาว เมื่อปี พ.ศ. 2473 สำหรับดาวแบบไทยจะใช้คำว่า “ดาว” นำหน้า ไม่ใช้ “กลุ่มดาว” นำหน้า ตัวอย่างเช่น ใช้ว่า “ดาวเต่า” ไม่ใช้ว่า “กลุ่มดาวเต่า”
  • ดาวเรียงเด่น (asterism) คือดาวฤกษ์สว่างที่เรียงตัวคล้ายรูปร่างสัตว์หรือสิ่งของ ดาวเรียงเด่นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มดาว ตัวอย่างเช่น ดาวเรียงเด่นเข็มขัดนายพรานในกลุ่มดาวนายพราน หรืออาจเชื่อมระหว่างกลุ่มดาวเช่น ดาวเรียงเด่นสามเหลี่ยมฤดูหนาวที่เชื่อมระหว่างกลุ่มดาวนายพราน, กลุ่มดาวหมาใหญ่ กับกลุ่มดาวหมาเล็ก
  • กระจุกดาว (star cluster) คือดาวฤกษ์หลายดวงที่เห็นอยู่ใกล้กัน กระจุกดาวจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ในกลุ่มดาว ตัวอย่างเช่น กระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades) ในกลุ่มดาววัว (Taurus)

 

About Author