ม.มหิดล หวั่นมรดกโลกสูญหาย ร่วมสืบสานความรู้ เพื่อการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานในยุคดิจิทัล

          ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ “พระไตรปิฎก” (Tripitaka) ซึ่งรวบรวมคำสั่งสอนสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สืบทอดกันมาจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยมีการบันทึกในเอกสารโบราณ (manuscripts) ต่างๆ โดยเฉพาะใน “คัมภีร์ใบลาน” (palm leaf manuscripts)

          อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล คณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงคุณค่าและความสำคัญของ “คัมภีร์ใบลาน” (palm leaf manuscripts) ในฐานะ “มรดกทางวัฒนธรรม” (cultural heritage) ที่สำคัญว่า คัมภีร์ใบลานที่พบส่วนใหญ่ นอกจากมีเนื้อหาพระไตรปิฎก ยังเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญด้านต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมในอดีต กฎหมาย การรักษาโรค รวมถึงตำรายา โดยข้อมูลได้ถูกบันทึกไว้ด้วยอักษรโบราณต่างๆ เช่น “อักษรขอม” “อักษรธรรมล้านนา” และ “อักษรมอญ” เป็นต้น

          จากงานวิจัยพบว่า นานาประเทศล้วนให้ความสำคัญ และมีการจัดสรรทุนวิจัยเพื่อการศึกษา และอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบซีกโลกตะวันตก มีคัมภีร์ใบลานจำนวนมากนับพันผูก ถูกนำมาเก็บไว้ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม

          ในปัจจุบันหอสมุดหลายแห่งในตะวันตก มีการจัดเก็บอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการสูญหายของต้นฉบับคัมภีร์ใบลาน และบางหอสมุดมีการจัดทำฐานข้อมูลภาพคัมภีร์ใบลานที่สามารถสืบค้นได้ ซึ่งการจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าวช่วยให้นักวิจัยทั่วโลก สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น

          สำหรับในประเทศไทยมีคัมภีร์ใบลานที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์นับล้านผูก หลายหน่วยงานสำคัญ เช่น กรมศิลปากร ได้มีการสำรวจ จัดทำบัญชีรายชื่อ และอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานไว้เป็นจำนวนมาก แต่คัมภีร์ใบลานส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดนับหลายแสนผูกในประเทศไทยยังขาดการดูแลรักษา และไม่ได้มีการนำมาศึกษากันอย่างจริงจัง

          “การอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน นอกจากจะเป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของโลกแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชาติผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สำหรับชาวต่างชาติที่ให้ความสนใจกับความรู้ด้านพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นอย่างมาก”

          “การอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานตามวัด และหอสมุดต่างๆ อย่างมีระบบ และมีประสิทธิภาพ จะสามารถกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาลต่อไปได้ในอนาคต” อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล กล่าว

          ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย วิทยาลัยศาสนศึกษา ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูความรู้ด้านอักษรโบราณที่จะมีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ไว้ซึ่งองค์ความรู้ที่สำคัญในการเข้าใจ เนื้อหาในคัมภีร์ใบลาน

          โดยมีกำหนดการจัดอบรม “โครงการปริวรรตถ่ายทอดอักษรขอม” วิทยากรโดย อาจารย์ ดร.สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรม ในทุกเช้าวันเสาร์ของเดือนพฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 – 11.00 น. ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรออนไลน์ ค่าวิชาแล้วแต่จิตศรัทธา

          ผู้สนใจอบรม “โครงการปริวรรตถ่ายทอดอักษรขอม” สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานการศึกษา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2800-2633 และ 0-2800-2638 https://crs.mahidol.ac.th Facebook: College of Religious Studies, Mahidol University

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author