โดย ประทีป ด้วงแค
เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ด้วยขนาดลำตัวเสือเพศผู้มีความยาวถึง 2 เมตร โดยที่มีหางยาวอีก 1 เมตร และมีน้ำหนัก 250-300 กิโลกรัม ในทางนิเวศวิทยาจัดให้อยู่ในระดับผู้บริโภคขั้นสูงสุด (top consumer) ในป่าของประเทศไทย จึงได้มีการประเมินเพื่อใช้ประกอบวางแผนอนุรักษ์อย่างคร่าวๆ ว่าเสือโคร่งในป่าหนึ่งตัวต้องใช้เนื้อในการดำรงชีพ 5-6 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน โดยใช้ประโยชน์จากร่างการของเหยื่อได้เพียงร้อยละ 70 ภายในรอบเวลา 1 ปี ต้องการมวลน้ำหนักเหยื่อ 2,607-3,128 กิโลกรัมต่อตัว หรือถ้าคิดขนาดเหยื่อเป็นกวางป่า (น้ำหนัก 180-250 กิโลกรัม) จะต้องมีกวางป่าให้เสือโคร่งกินอย่างน้อย 50 ตัวต่อปี การที่จะมีประชากรกวางป่าเพิ่มขึ้นได้เองในธรรมชาติ 50 ตัวต่อปี ต้องมีประชากรกวางป่าอยู่ในธรรมชาติอย่างน้อย 500 ตัว โดยพื้นที่อาณาเขตหากินของเสือโคร่งเพศผู้หนึ่งตัวอยู่ที่ 250-300 ตารางกิโลเมตร (150,000-190,000 ไร่)
จากงานวิจัยของ Thailand Tiger Project พบว่าเหยื่อที่เสือโคร่งล่าได้ส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มวัย (อนุมานเอาว่าเป็นตัวแก่ อายุมาก อ่อนแอ เคลื่อนที่ช้า หรือเจ็บป่วย) ดังนั้นเสือโคร่งจึงทำหน้าที่เป็นสิ่งมีชีวิตคีย์สโตน (keystone species) ที่ทำให้ระบบนิเวศดำรงคงอยู่ได้อย่างสมดุล ควบคุมประชากรของเหยื่อไม่ให้มีปริมาณล้นพื้นที่ และคอยกำจัดตัวที่อ่อนแอซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคออกไปจากฝูงอีกด้วย
นอกจากนี้เสือโคร่งยังเป็นดัชนีชี้วัด (indicator species) ความสำเร็จหรือล้มเหลวในด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าได้เป็นอย่างดี เช่น การที่พบว่ามีเสือโคร่งเพิ่มหนึ่งตัวในพื้นที่ อนุมานได้ว่ามีกวางเพิ่มขึ้นอีก 500 ตัว พื้นที่ป่าได้รับการดูแลเป็นอย่างดีเพิ่มอีกเกือบสองแสนไร่ เช่นเดียวกันในพื้นที่ใดที่เคยมีเสือโคร่งชุกชุมและสูญหายหมดไปย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความหย่อนยานในมาตรการด้านการอนุรักษ์ในพื้นที่นั้นด้วยเช่นกัน ในประเทศไทยเองมีสาเหตุหลักสองประการที่ทำให้เสือโคร่งหมดไปในพื้นที่คือ การล่าเสือโคร่งโดยตรงและไม่มีเหยื่อให้เสือโคร่งล่ากิน
ประเทศไทยในอดีตมีเสือโคร่งชุกชุมอยู่ตามพื้นที่ราบลุ่มแทบจะทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่กรุงเทพมหานคร สมัยสร้างกรุงยังมีบันทึกรายงานพบเสือโคร่งเป็นจำนวนมาก ผ่านไปกว่าสองร้อยปี เมื่อคนเริ่มล่าเสือโคร่งเพื่อเป็นสินค้า พร้อมๆ กับเปลี่ยนป่าเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรสมัยใหม่ ส่งผลให้เสือโคร่งถูกผลักดันเข้าไปอยู่ในป่าและพื้นที่ภูเขาสูง ซึ่งมนุษย์ก็ยังตามขึ้นเขาไปลักลอบล่าเพื่อนำซากไปขายจนหมดไปจากพื้นที่ป่าธรรมชาติของประเทศไทย
จากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชล่าสุด ปี พ.ศ. 2564 สรุปว่ามีเสือโคร่งเหลืออยู่ในป่าธรรมชาติของประเทศไทยประมาณ 180-200 ตัว และมีเพียงสองกลุ่มป่าเท่านั้นที่มีประชากรเหลือเพียงพอที่จะฟื้นฟูตัวเองได้ คือ ผืนป่าตะวันตก มีประมาณ 150 ตัว และในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีประมาณ 30 ตัว