ระบุตัวเสือโคร่งในกรงเลี้ยงด้วยรหัสพันธุกรรม

เรื่องโดย วัชราภรณ์ สนทนา


          ก่อนจากปีขาล เรามาส่งท้ายปีกันด้วยเรื่องราวการใช้เทคโนโลยีเพื่ออนุรักษ์ “เสือ” สัตว์ป่านักล่าตัวท็อปของห่วงโซ่อาหาร ที่ปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยลงทุกวันเพราะตกเป็นเหยื่อของพวกลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย

          กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ใช้เทคนิคการค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลที่บ่งบอก “รหัสพันธุกรรมเพื่อระบุตัวเสือโคร่ง (DNA fingerprint)” เพื่อจัดทำฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมเสือโคร่งในกรงเลี้ยงกว่า 2,400 ตัวทั่วประเทศ ป้องกันการสวมทะเบียนเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ ลดปัญหาอาชญากรรมเสือโคร่งในประเทศไทย

          ดร.กณิตา อุ่ยถาวร กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติของประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 200-250 ตัว เท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่บางแห่ง ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาใช้ภายในพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อติดตามสร้างระบบฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ส่วนในพื้นที่สวนสัตว์สาธารณะพบว่ามีเสือโคร่งที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองได้อย่างถูกกฎหมายมากกว่า 1,200 ตัว แต่ยังไม่มีระบบฐานข้อมูลที่ได้มาตรฐานรองรับสำหรับติดตามและให้ความคุ้มครองเท่าที่ควร ทำให้เมื่อพบการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย บ่อยครั้งไม่สามารถจำแนกแหล่งที่มาได้ชัดเจนว่ามาจากประเทศใดหรือแหล่งใด 

          “ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำฐานข้อมูลเสือโคร่งในกรงเลี้ยงโดยการใช้ภาพถ่ายเพื่อเปรียบเทียบลายเสือโคร่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยใช้โปรแกรม Extract Compare ช่วยในการวิเคราะห์จำแนกเสือรายตัวได้อย่างถูกต้อง หากแต่ว่าวิธีนี้ยังมีข้อจำกัด เช่น ไม่สามารถติดตามลูกเสือโคร่งแรกเกิดได้ ดังนั้นการจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมร่วมด้วย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การจัดทำฐานข้อมูลของเสือโคร่งในกรงเลี้ยงมีความรัดกุมหนักแน่นมากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาความร่วมมือกับศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. ในการจัดทำโครงการการใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอเพื่อตรวจพิสูจน์พันธุกรรมของเสือโคร่งในเชิงนิติวิทยาศาสตร์”

          ดร.วิรัลดา ภูตะคาม นักวิจัยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. กล่าวถึงการดำเนินงานในการตรวจพันธุกรรมเพื่อระบุตัวเสือโคร่งว่า ทางกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นผู้เก็บตัวอย่างเลือดของเสือโคร่งในกรงเลี้ยงกว่า 2,400 ตัวทั่วประเทศ และสกัดดีเอ็นส่งมาให้ทางศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สำหรับใช้จำแนกเสือ รวมทั้งยังทำการศึกษาเปรียบเทียบฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมของเสือโคร่ง ซึ่งปัจจุบันมีสายพันธุ์ย่อยทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ได้แก่ เสือโคร่งไซบีเรีย เสือโคร่งเบงกอล เสือโคร่งอินโดจีน เสือโคร่งสุมาตรา เสือโคร่งจีนใต้ และเสือโคร่งมลายู เพื่อเลือกเครื่องหมายโมเลกุล (molecular marker) ที่สามารถแยกความเป็นเอกลักษณ์ระหว่างเสือโคร่งแต่ละสายพันธุ์ได้  

          “ทีมวิจัยนำเครื่องหมายโมเลกุลที่ถูกคัดเลือกมาออกแบบสังเคราะห์ตัวตรวจจับ (probe) ซึ่งมีลักษณะเป็นดีเอ็นเอสายสั้น ๆ ที่มีความจำเพาะต่อโมเลกุลเป้าหมาย จากนั้นนำไปใช้ตรวจหาเครื่องหมายโมเลกุลจากตัวอย่างเลือดของเสือโคร่งในกรงเลี้ยงแต่ละตัว ด้วยเครื่อง SNP Genotyping MassARRAY เทคโนโลยีที่ใช้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสารพันธุกรรมด้วยเทคนิคการวัดน้ำหนักมวล เนื่องจากในสายพันธุกรรมจะประกอบด้วยลำดับเบส 4 ตัว คือ อะดีนีน (adenine: A) ไซโทซีน (cytosine: C) กวานีน (guanine: G) และไทมีน (thymine: T) ซึ่งแต่ละตัวมีน้ำหนักมวลโมเลกุลไม่เท่ากัน จึงทำให้วิเคราะห์โมเลกุลของดีเอ็นเอที่ตรวจจับได้อย่างละเอียดและรวดเร็ว สามารถค้นพบลำดับเบสในดีเอ็นเอ หรือรหัสพันธุกรรมเพื่อใช้ระบุตัวเสือโคร่ง (DNA fingerprint) ได้อย่างจำเพาะเจาะจง ไม่ต่างจากการตรวจลายนิ้วมือเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคล”

          ความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยีค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลเพื่อระบุตัวเสือโคร่งในกรงเลี้ยงครั้งนี้ นับเป็นการบูรณาการการทำงานครั้งสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลพันธุกรรม เพื่อจัดทำระบบทะเบียนประชากรของเสือโคร่งในกรงเลี้ยงได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบเสือโคร่งของกลางในคดีต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการสวมทะเบียนจากเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ และลดปัญหาการลักลอบค้าเสือโคร่งลงได้ในอนาคต ที่สำคัญยังตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ที่เป็นวาระของชาติ โดยตั้งเป้ามุ่งพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อคุ้มครอง ป้องกัน ทรัพยากรสัตว์ป่าของประเทศไทยให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเสือโคร่ง

  • เสือโคร่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์เสือและแมว (Felidae)
  • อยู่ในสกุล Panthera เช่นเดียวกับสิงโต เสือจากัวร์ และเสือดาว
  • มีชนิดย่อย (subspecies) 6 ชนิด คือ เสือโคร่งไซบีเรีย เสือโคร่งเบงกอล เสือโคร่งอินโดจีน เสือโคร่งสุมาตรา เสือโคร่งจีนใต้ เสือโคร่งมลายู
  • ชนิดที่พบในธรรมชาติของประเทศไทยคือ เสือโคร่งอินโดจีน
  • เป็นสัตว์ผู้ล่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและอยู่ในระดับผู้บริโภคขั้นสูงสุด (top consumer) ในป่าของประเทศไทย
  • เสือโคร่งเพศผู้มีความยาวถึง 2 เมตร หางยาวประมาณ 1 เมตร น้ำหนัก 250-300 กิโลกรัม
  • เสือโคร่งเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า เช่น หากพบเสือโคร่งเพิ่มขึ้นหนึ่งตัว อนุมานได้ว่ามีกวางเพิ่มขึ้น 500 ตัว พื้นที่ป่าได้รับการดูแลอย่างดีเพิ่มขึ้นอีกเกือบสองแสนไร่
  • ปัจจุบันมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (endangered: EN) ตามบัญชีแดงของ IUCN และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

อ่านเรื่องเสือโคร่งเพิ่มเติมได้ในคอลัมน์ห้องภาพสัตว์ป่าไทย โดย รศ. ดร.ประทีป ด้วงแค 
นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 106 เดือนมกราคม พศ. 2565


เสือโคร่งไซบีเรีย
Panthera tigris altaica

เสือโคร่งเบงกอล
Panthera tigris tigris

เสือโคร่งอินโดจีน
Panthera tigris corbetti

เสือโคร่งสุมาตรา
Panthera tigris sumatrae

เสือโคร่งจีนใต้
Panthera tigris amoyensis

เสือโคร่งมลายู
Panthera tigris jacksoni

About Author