ปลาปักเป้าบึง

เรื่องโดย ชวลิต วิทยานนท์


          ผมเคยเอ่ยถึง “ปักเป้าบึง” ที่สำรวจพบบริเวณกุดทิง บึงโขงหลง และแม่น้ำสงคราม ไว้ในคอลัมน์เบื้องหลังการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก สาระวิทย์ฉบับที่ 91 ซึ่งยังไม่ได้เล่ารายละเอียดอะไรเกี่ยวกับปักเป้าบึงไว้เลย นอกจากภาพและชื่อวิทยาศาสตร์ของมัน

          ปักเป้าบึง Pao palustris (Saenjundaeng, Vidthayanon & Grudpan, 2013) เป็นปลาชนิดใหม่ที่สำรวจพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 และได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2557 พบชุกชุมในภาคกลาง-อีสาน

          คุณวรรณชนก สุวรรณากร บันทึกการทำรังของปลาปักเป้าบึงในธรรมชาติเป็นครั้งแรก จากการสำรวจที่กุดทิง จังหวัดบึงกาฬ มีรังปลาปักเป้าบึงทั้งหมด 3 รัง รังที่ 1 วางไข่บนพื้นรองเท้าเก่าที่ถูกทิ้งอยู่ในน้ำ รังที่ 2 วางไข่บนพื้นรากตอไม้ที่มีโพรง พบเศษเปลือกหอยสองฝาในโพรงด้วย รังที่ 3 วางไข่บนท่อนไม้ในน้ำ ทั้งสามรังเป็นการวางไข่บนวัสดุที่ค่อนข้างแนวราบ เวลามีน้ำพัดแรงๆ ไข่จะเคลื่อนออกจากรังได้ แม่ปลาจะอมไข่มาวางไว้ที่รังเหมือนเดิม หรือพ่นน้ำไล่ตะกอนฝุ่นที่ลอยมาตกใส่ไข่ ไข่มีประมาณครอกละ 400-500 ฟอง

          ปลาปักเป้าบึงเป็นปลากินได้ แต่อย่าจับกินสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะเคยมีข่าวว่าชาวบ้านรับประทานปลาปักเป้าบึงที่จับได้จากแหล่งน้ำในจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ และจากลำน้ำเสียว จังหวัดมหาสารคาม แล้วได้รับพิษจนบางคนมีอาการสาหัสและมีคนเสียชีวิตด้วย เรื่องนี้ชาวบ้านในพื้นที่เองก็วิพากษ์วิจารณ์ถึงการตายจากการกินปลาปักเป้าบึง เนื่องจากไม่เคยมีเหตุคนในพื้นที่เสียชีวิตจากการกินปลาชนิดดังกล่าวเลย จึงมีข้อสังเกตว่า ปลาปักเป้าบึงจากแหล่งน้ำหรือหนองบึงที่ไหลต่อเนื่องกับแม่น้ำสายหลักจะไม่มีพิษ เช่น ปลาปักเป้าบึงที่กุดทิง บึงโขงหลง และแม่น้ำสงคราม ดังนั้นถ้าเราไม่แน่ใจ ไม่อยากเสี่ยง ก็หลีกเลี่ยงไปรับประทานปลาน่าหม่ำอย่างอื่นดีกว่า


รังที่ 1 วางไข่บนพื้นรองเท้า (ภาพรังปลา : วรรณชนก สุวรรณากร)


รังที่ 2 วางไข่บนพื้น (ภาพรังปลา : วรรณชนก สุวรรณากร)


รังที่ 3 วางไข่บนท่อนไม้ (ภาพรังปลา : วรรณชนก สุวรรณากร)

About Author