Para Plearn ของเล่นแสนเพลินจากยางพาราไทย

โดย ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.


 

          ของเล่นกับเด็กเป็นของคู่กัน แต่ของเล่นที่เหมาะสมกับเด็กนั้นนอกจากต้องเล่นสนุก เสริมสร้างการเรียนรู้ และมีความปลอดภัยแล้ว ยังต้องมีราคาที่จับต้องได้ด้วย นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนา “Para Plearn นวัตกรรมของเล่นปลอดภัยที่ใช้ยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศมาเป็นวัสดุหลักในการผลิต เป็นแนวทางการเพิ่มมูลค่ายางพาราแบบใหม่ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย และยังช่วยให้เด็กไทยมีของเล่นเสริมสร้างทักษะและกระบวนการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี


ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์

          ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ นักวิจัยอาวุโส กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง เอ็มเทค สวทช. เปิดเผยว่า “ความเชี่ยวชาญด้านหนึ่งของเอ็มเทคคือการคิดค้นสูตรยางพารา คล้ายกับการพัฒนาสูตรอาหาร นำวัตถุดิบต่างๆ มาผสมกันเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่นเดียวกับยางพารา เรามีการทดลองปรับสภาพยางให้แข็งที่สุด หรืออ่อนที่สุด เพื่อดูความเป็นไปได้ในการนำมาใช้งาน พร้อมทั้งคิดค้นสูตรส่วนผสมต่างๆ จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่หลากหลาย”

          Para Plearn ประกอบด้วยของเล่นเด็กจากยางพาราทั้งหมด 3 ผลิตภัณฑ์ คือ Para Dough ดินปั้นจากยางพารา Para Note ยางพาราสำหรับขีดเขียนคล้ายชอล์ก และ Para Sand ยางพาราผงคล้ายสไลม์แบบผง


คุณกรรณิกา หัตถะปะนิตย์

          คุณกรรณิกา หัตถะปะนิตย์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง (IRM) เอ็มเทค อธิบายว่า Para Dough เป็นผลิตภัณฑ์ของเล่นแป้งปั้นหรือโด (dough) ผลิตขึ้นจากยางพาราชนิดยางแท่งและยางแผ่น ซึ่งนำมาผ่านกระบวนการปรับลักษณะทางกายภาพให้มีสมบัติความหนืดที่เหมาะสม ก่อนนำมาผสานรวมเข้ากับสารจากธรรมชาติอื่นๆ อาทิ แป้งประกอบอาหาร น้ำมันพืช สี


ดร.ปณิธิ วิรุณห์พอจิต นักวิจัยกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง (IRM) เอ็มเทค

          “Para Dough มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างกลูเตนจากแป้งสาลีและสารเคมีที่เป็นอันตราย ไม่มีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ ไม่มีส่วนผสมของสารกันบูด อีกทั้งยังฉีดพ่นแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียก่อนและหลังเล่นได้โดยที่โดไม่เสียสภาพ นอกจากนี้ยังไม่มีกลิ่น ไม่แห้งแข็ง และไม่ละลายเยิ้มเมื่อวางไว้ภายนอกบรรจุภัณฑ์อีกด้วย เก็บในบรรจุภัณฑ์ได้อย่างน้อย 2 ปี มีอายุการใช้งานหลังแกะบรรจุภัณฑ์อย่างน้อย 1 ปี หากไม่สัมผัสน้ำหรือความชื้น และภายหลังหมดอายุการใช้งานสามารถทิ้งลงในถังขยะเปียก เพราะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่สร้างมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม”

          ดร.ปณิธิ วิรุณห์พอจิต นักวิจัยกลุ่มวิจัย IRM เอ็มเทค เสริมว่าผลิตภัณฑ์ Para Dough เหมาะจะใช้เป็นของเล่นเสริมพัฒนาการเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ช่วยกระตุ้นให้เกิดการฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาทักษะการทำงานประสานกันระหว่างตากับมือ เสริมสร้างพัฒนาการสมองและทักษะความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังเหมาะจะใช้เป็นอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมศิลปะบำบัดเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยบำบัดให้เกิดความผ่อนคลาย เรียกว่าเป็นแป้งปั้นที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย

          “Para Dough มีโอกาสเข้าถึงตลาดส่งออกหลักของไทย ที่ต้องการผลิตภัณฑ์ของเล่นเสริมพัฒนาการ ที่มีความปลอดภัยสูงและได้มาตรฐานสากล ตามการรายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการส่งออกผลิตภัณฑ์ของเล่นสูง คาดว่าในปี พ.ศ. 2564 จะมีตัวเลขมูลค่าการส่งออกของเล่นสูงถึง 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เนื่องจากการขยายตัวของตลาดออนไลน์[1]

          “การพัฒนา Para Dough มีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางพาราไทยได้สูง 5-6 เท่า ถือเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับการผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น และเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเสริมการใช้ประโยชน์จากยางพาราไทย ส่งเสริมการยกระดับสินค้าการเกษตรไทยตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ที่มุ่งใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับเศรษฐกิจฐานชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

          ปัจจุบัน สวทช. ได้นำร่องผลิต Para Dough ต้นแบบและจัดจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือ สวทช. แล้ว สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเทคโนโลยี ทีมวิจัยเอ็มเทคพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต Para Dough ในระดับอุตสาหกรรม โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตมีราคาไม่สูง เนื่องจากใช้เครื่องจักรทั่วไปในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร รวมถึงใช้วัตถุดิบที่ผลิตและจำหน่ายทั่วไปในประเทศ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพร้อมร่วมทำวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย เช่น การปรับระดับความแข็งและความคงรูปของผลิตภัณฑ์สำหรับการใช้ในงานประเภทอื่นๆ อาทิ การทำเป็นดินปั้นสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องประดับหรือของตกแต่งบ้าน

          “Para Note คือการนำยางพารามาทำให้แข็ง แล้วนำมาอัดเป็นแท่ง สามารถใช้เขียนกระดานหรือพื้นผิวที่มีความขรุขระได้คล้ายกับชอล์ก โดยทั่วไปชอล์กตามท้องตลาดมักทำจากแร่ยิปซัม หรือเกลือจืด ซึ่งเป็นแคลเซียมซัลเฟต เวลาเขียนจะเลอะมือ เกิดฝุ่นได้ง่ายและเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ขณะที่ Para Note ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนั้น เขียนได้ไม่เลอะมือ ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย และไม่เป็นอันตราย อีกทั้งยังแตกหักได้ยากกว่าชอล์กที่วางจำหน่ายทั่วไป ที่สำคัญคือสามารถลบได้สะอาดด้วยยางพาราที่มีความอ่อนตัวน้อยกว่า และขึ้นรูปเป็นลักษณะต่างๆ ได้ตามรูปแบบแม่พิมพ์สำหรับ Para Plearn อีก 2 ผลิตภัณฑ์ คือ Para Note กับ Para Sand แม้จะยังไม่ได้มีการนำร่องทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบขึ้นมาวางจำหน่าย แต่ตัวผลิตภัณฑ์มีจุดเด่นและทีมวิจัยพร้อมจะการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจแล้วเช่นกัน

          “Para Sand เป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มีลักษณะเป็นผงเหมือนทรายแต่มีความหนืดไม่แตกตัว ลักษณะคล้ายสไลม์แบบผง มีรูปแบบการพัฒนาเช่นเดียวกับ Para Dough แต่มีการผสมวัตถุดิบในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน สามารถนำผงยางพารามาปั้นหรืออัดขึ้นรูปเป็นรูปทรงต่างๆ และเปลี่ยนรูปให้กลับมาเป็นผงเช่นเดิมได้ โดยนำกลับมาปั้นขึ้นรูปใหม่ได้มากกว่า 10 ครั้ง รวมทั้งเติมสีและกลิ่นต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน”

          ดร.สุรพิชญทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดนี้คือของเล่นสำหรับเสริมสร้างทักษะและพัฒนาการเรียนรู้ให้กับเด็กที่ไม่เป็นอันตรายเพราะปราศจากสารเคมีเจือปน Para Plearn ถือเป็นการริเริ่มการแปรรูปยางสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เด็กไทยมีของเล่นเสริมการเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัย ยิ่งในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ของเล่นเสริมพัฒนาการที่บ้านจะมีบทบาทที่สำคัญขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา อันจะส่งผลที่ดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราต่อไปในอนาคต

          ผู้ประกอบการที่สนใจรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี Para Plearn ทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีได้ที่งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4782-4789 หรืออีเมล BDD-IBL@mtec.or.th


[1] ตลาดที่ประเทศไทยส่งออกสินค้าประเภทของเล่นเป็นหลัก คือ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.30 ส่วนตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูง คือ เกาหลีใต้ร้อยละ 964.90 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 105.89 และรัสเซียร้อยละ 73.22 โดยสินค้าที่มีการขยายตัวเพิ่มอย่างน่าสนใจ คือ ของเล่นที่มีล้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.58 และของเล่นประเภทอื่นๆ ร้อยละ 20.16 ซึ่งจุดแข็งที่ทำให้ของเล่นไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดสากลคือเป็นผลิตภัณฑ์ของเล่นที่มีความปลอดภัยสูง เป็นของเล่นเสริมพัฒนาการ ได้มาตรฐานสากล และมีคุณภาพของสินค้าที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

 

About Author