อวดโฉม “ปทุมมาห้วยสำราญ” ราชินีแห่งป่าฝนสายพันธุ์ใหม่

          ไม้ดอกที่เบ่งบานชูช่อดอกสีสวยสดงดงามในช่วงฤดูฝนของในเมืองไทยคงไม่มีอะไรสวยเกินไปกว่า “ปทุมมา” ไม้ดอกที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งป่าฝน” ทั้งยังเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้เข้าประเทศไทยในนาม “สยามทิวลิป” อีกด้วย ล่าสุด “ปทุมมาห้วยสำราญ” สายพันธุ์ใหม่จากแล็บวิจัยก็ได้ฤกษ์อวดโฉมแก่ชาวไทยและพร้อมเปิดตัวในตลาดโลก

รู้จัก “ปทุมมา” ราชินีแห่งป่าฝน

          ปทุมมา เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) สกุลขมิ้น (Curcuma) มีถิ่นกำเนิดแถบอินโดจีน เช่น พม่า ไทย ลาว เขมร คนไทยในภาคเหนือและภาคตะวันนออกเฉียงเหนือรู้จักกันดีในช่วงฤดูฝน ซึ่งพืชในสกุลขมิ้นจะเจริญเติบโตและออกดอกในช่วงฤดูฝน สามารถนำดอกมารับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกและยังเป็นพืชสมุนไพร

          พระยาวินิจวนันดร นักธรรมชาติวิทยาที่มีชื่อเสียงของไทย ได้พบความงามของดอกไม้พื้นเมืองในสกุลขมิ้นจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “กระเจียวบัว” จึงได้นำดอกไม้พื้นเมืองนี้ถวายแด่พระวินัยโกศล แห่งวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ปทุมมาท่าน้อง” และ “บัวสวรรค์” และเป็นชื่อ “ปทุมมา” ในปัจจุบัน

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ได้นำดอกไม้สกุลขมิ้นปลูกในพื้นที่วิจัยของโครงการหลวง บริเวณห้วยทุ่งจ๊อ และในปี พ.ศ. 2528 ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำพืชสกุลขมิ้น ซึ่งทางเหนือเรียกว่า กลุ่มดอกอาว มาพัฒนาเป็นไม้ดอกเชิงเศรษฐกิจ โดยนำปทุมมาซึ่งเป็นไม้ดอกมีช่อคล้ายดอกบัวที่ได้จากการคัดเลือกพันธุ์ ขยายพันธุ์ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จนได้รับความนิยม และเรียกชื่อกันต่อมาว่า “ปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่”

          เมื่อปริมาณการผลิตปทุมมาสูงขึ้น ชาวต่างประเทศได้พบความงามของปทุมมา เกษตรกรไทยจึงเริ่มต้นส่งออกปทุมมาไปต่างประเทศในปี พ.ศ. 2528 โดย คุณอุดร คำหอมหวาน เป็นผู้นำสำคัญ ซึ่งเริ่มจากการตัดดอกจากสวนริมถนน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ส่งประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อว่า “สยามทิวลิป” (Siamese tulip) และนับแต่นั้นมา ปทุมมาได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย

          ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2547 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เล็งเห็นความสำคัญในการคุ้มครองพันธุ์ปทุมมา จึงได้ประกาศให้พืชสกุลขมิ้นซึ่งรวมถึงปทุมมาเป็นพืชคุ้มครอง โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542

“ปทุมมาห้วยสำราญ” สายพันธุ์ใหม่จากแล็บสู่ไร่

          สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ลัคกี้ซีดส์อโกร จังหวัดเชียงใหม่ พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปทุมมาหลายสายพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ภายใต้ โครงการพัฒนาไม้ดอกสกุลขมิ้นเพื่อการค้าพันธุ์ใหม่” และหนึ่งในสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ได้รับการตั้งชื่อว่าพันธุ์ห้วยสำราญ

          ดร.ธราธร ทีรฆฐิติ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า ปทุมมาสายพันธุ์ห้วยสำราญที่พัฒนานี้ มีลักษณะเด่นของสายพันธุ์คือ กลีบดอกหนา สีสันสดใส ปลายกลีบสีน้ำตาลเล็กน้อย ก้านช่อดอกแข็งแรง ช่อดอกอยู่เหนือทรงพุ่ม แตกกอดี แตกหน่อ 3–4 หน่อต่อหัวพันธุ์ เหมาะสำหรับเป็นทั้งไม้กระถางและไม้ประดับแปลง

          “ตลาดไม้ดอกไม้ประดับแหล่งใหญ่ของโลกอยู่ที่ยุโรป โดยมีเนเธอร์แลนด์เป็นศูนย์กลางตลาดที่สำคัญ ปทุมมาของไทยเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ปทุมมาให้มีสีสัน รูปทรง และการใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกับไม้ดอกปทุมมามีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มตลาดยุโรปต้องการปทุมมาพันธุ์ใหม่ที่มีขนาดต้นเล็กลง เป็นทรงพุ่ม/กอ และสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ที่ทำให้ได้ต้นพันธุ์สะอาด ตรงตามสายพันธุ์ และเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว”

          ทั้งนี้ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปทุมมาพันธุ์ห้วยสำราญให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ ตำบลหนองไฮ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อเผยแพร่ปทุมมาพันธุ์ใหม่ให้เป็นที่รู้จักและส่งเสริมการผลิตส่งออกตลาดต่างประเทศ

ส่งเสริมปลูกปทุมมา สร้างอาชีพ สร้างรายได้

          นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ปทุมมาเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยรองจากกล้วยไม้ ด้วยสีสันสวยงามและคงทน ทำให้ได้รับความนิยมจากต่างชาติ และเรียกกันในชื่อ สยามทิวลิป ซึ่งประเทศไทยส่งออกปทุมมาทั้งหัวพันธุ์และตัดดอก มีมูลค่าส่งออก 30-40 ล้านบาท/ปี และมีพื้นที่ผลิตปทุมมาประมาณ 400 ไร่ โดยแหล่งผลิตใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน เลย ชัยภูมิ และกาญจนบุรี

          กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ เป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตไม้ดอกไม้ประดับกลุ่มใหญ่ของจังหวัดอุดรธานี ปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายพันธุ์ เช่น มะลิร้อยมาลัย เบญจมาศ ดาวเรือง ดอกพุด คัตเตอร์ กุหลาบร้อยมาลัย และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในช่วงฤดูไม้ดอกผลิบาน เว้นแต่ในช่วงฤดูฝนที่ยังขาดพันธุ์ไม้ดอกที่หลากหลาย

          สท. จึงได้ร่วมกับนักวิจัย สวทช. และผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปทุมมาให้แก่กลุ่มฯ ทำให้สมาชิกกลุ่มฯ รู้จักไม้ดอกชนิดนี้มากขึ้น ทั้งสายพันธุ์ วิธีการปลูก การเก็บหัวพันธุ์จำหน่าย ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากดอกปทุมมา ซึ่งปทุมมาเป็นไม้ดอกที่ผลิบานในช่วงฤดูฝน มีความเหมาะสมที่จะใช้ปลูกในพื้นที่ท่องเที่ยวได้ อีกทั้งยังเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ สามารถปลูกเป็นไม้กระถาง ไม้ตัดดอกขายหรือจำหน่ายหัวพันธุ์ได้ ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกหัวพันธุ์ปทุมมาไม่ต่ำกว่า 2 ล้านหัวต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 ล้านบาทต่อปี (ข้อมูลเฉลี่ยปี พ.ศ. 2559-2561)

          นอกจากนี้ สวทช. ยังได้ร่วมกับจังหวัดอุดรธานีพัฒนาพื้นที่ของชุมชนบ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ของจังหวัดอุดรธานีที่นักท่องเที่ยวสามารถชมความงามของไม้ดอกได้ตลอดทั้งปี และสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน โดยได้จัดงาน “ปทุมมาเบ่งบาน เที่ยวห้วยสำราญสุขใจ” ระหว่างวันที่ 11 กันยายน จนถึง 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงามของดอกปทุมมาสายพันธุ์ห้วยสำราญ และปทุมมาสายพันธุ์อื่นๆ กว่า 15 สายพันธุ์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตปทุมมา และเป็นแหล่งสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนต่อไป


อ่านบทความเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช. ฉบับที่ 91 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/215215

About Author