3 เทรนด์ด้าน Payment ที่ธุรกิจการเงินต้องจับตา

เรื่องโดย บริษัท Thoughtworks


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดการชำระเงินทั่วโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากอย่างรวดเร็ว และเป็นเรื่องท้าทายที่จะรู้ว่าเทรนด์ไหนสำคัญต่อธุรกิจ และจะต้องเตรียมรับมืออย่างไร รัสติน คาร์เพนเตอร์ ผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์และโซลูชันการชำระเงิน บริษัท Thoughtworks ที่ปรึกษาด้านการเงินระดับโลก ได้เผยถึง 3 เมกะเทรนด์หลัก ที่ส่งผลต่อตลาดการชำระเงิน ได้แก่

1. การปรับเปลี่ยนไปสู่การชำระเงินแบบดิจิทัล (Payments Digitization) ซึ่งประกอบด้วย

  • การชำระเงินแบบทันที (Instant Payments) ซึ่งคาดว่ามูลค่าของตลาดจะขยายตัวถึง 4.28 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2026 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของการทำธุรกรรมทั้งหมดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ การย้ายข้อมูลเข้าสู่ระบบคลาวด์ (cloud infrastructure) ที่มีความรวดเร็วและยืดหยุ่น ได้ทำให้การโอนเงินแบบทันทีไม่ใช่แค่สิ่งที่ “ถ้ามีก็ดี” อีกต่อไป แต่กำลังเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
  • การชำระเงินระหว่างประเทศ (Cross-border payments) ที่ขยายตัวตามการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Open Banking และการนำเทคโนโลยี API มาใช้ นอกจากนี้ ยังได้มีการจับมือกันระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินบนมือถือและผู้ให้บริการด้านการโอนเงิน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการโอนเงินข้ามประเทศให้แก่ผู้ใช้บริการ
  • การขยายตัวของการชำระเงินสำหรับธุรกิจแบบ B2B ซึ่งรายงาน Digital Commerce 360 เผยว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบ B2B จะมีมูลค่าเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2024 ธุรกิจต่างๆ กำลังพัฒนาบริการเพื่อรองรับการชำระเงินดิจิทัลแบบ B2B ให้มีความราบรื่น และปลอดภัย

2. การยกระดับการชำระเงินให้ทันสมัยยิ่งขึ้น (Payments Modernization)

โดยมีเทรนด์สำคัญ ดังนี้

  • ศูนย์กลางการชำระเงิน (Payment hubs) ภายในองค์กรหลายแห่ง กำลังเลือกที่จะสร้างหรือเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางการชำระเงินที่มีอยู่ ซึ่งรวบรวมและประมวลผลข้อมูลการชำระเงิน และแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับธนาคารทั่วโลก
  • ISO 20022 ภายในปี 2025 นี้ ISO 20022 จะกลายเป็นมาตรฐานสากลสำหรับระบบชำระเงินที่มีมูลค่าสูง โดยคาดว่าจะรองรับ 80% ของปริมาณการทำธุรกรรมและ 90% ของมูลค่าการทำธุรกรรมทั่วโลก องค์กรหลายแห่งกำลังปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่นี้
  • การใช้ระบบคลาวด์ (Cloud migration) จะช่วยให้องค์กรมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ และสร้างรากฐานระบบการชำระเงินที่สามารถทำงานร่วมกันได้ ระบบคลาวด์ยังช่วยยกระดับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง (Personalized) และช่วยให้องค์กรทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น

 3. การป้องกันการฉ้อโกงและลดความเสี่ยง (Fraud, risk and decisioning)    

การลดการฉ้อโกงและรักษากฎระเบียบ คือความท้าทายที่มีมาโดยตลอดสำหรับธุรกิจและสถาบันการเงินทุกแห่ง โดยนับเป็นครั้งแรกที่เทคโนโลยีเกิดใหม่อย่าง AI กำลังช่วยให้สถาบันต่างๆ รับมือกับความท้าทายดังกล่าวได้

  • กระบวนการตัดสินใจชำระเงินแบบทันที ช่วยให้ธุรกิจประหยัดค่าใช้จ่ายจากการยกเลิกการตรวจสอบและอนุมัติการชำระเงินแบบ manual และระบบจะทำการแจ้งเตือนทันที หากมีการทำธุรกรรมที่น่าสงสัย ทำให้ตรวจพบการฉ้อโกงหรืออาชญากรรมทางการเงินที่ร้ายแรงได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ
  • กระบวนการตัดสินใจชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งดำเนินการได้ช้า มีค่าใช้จ่ายสูง และมีความโปร่งใสน้อยกว่าการชำระเงินภายในประเทศ แต่ข้อบังคับที่เกิดขึ้นใหม่กำลังช่วยวางรากฐานในการปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้นผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม กำลังพัฒนาให้กระบวนการตัดสินใจชำระเงินระหว่างประเทศทำได้ราบรื่นขึ้นเช่นเดียวกับการชำระเงินภายในประเทศ  เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าและเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ
  • การตรวจสอบการทำธุรกรรมและรายชื่อลูกค้า (Sanction screening) เนื่องจากมาตรการและข้อบังคับต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบบ Sanction screening จึงอาจยังตามไม่ทัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วระบบจะส่งการแจ้งเตือนปริมาณมหาศาล โดยที่ 95% เป็นการตรวจจับไม่ถูกต้อง (False Positives) ขณะนี้ เทคโนโลยีอย่าง AI กำลังช่วยธุรกิจเปลี่ยนแนวทางการทำ Sanction screening โดยแยกแยะการตรวจจับที่ไม่ถูกต้องออกไป ทำให้พนักงานสามารถให้ความสำคัญกับสิ่งที่ต้องทำจริงๆ และปรับแนวทางให้เหมาะสมกับมาตรการต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง

 

ในโลกของบริการชำระเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้ธุรกิจต้องตื่นตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเพราะไม่เพียงต้องปรับตัวตามระเบียบข้อบังคับใหม่ๆ อุปสงค์ในตลาด หรือพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่ยังต้องรักษาความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้และผลกำไรให้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากต้องการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ และการสร้างการเติบโตระยะยาวในอนาคต การก้าวทันความเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องก้าวนำหน้าเทรนด์เพื่อให้ธุรกิจกลายเป็นผู้นำในการแข่งขันได้อย่างแท้จริง

About Author