เรื่องของไข่มุกเมโล ไม่มโน ไม่โมเม

เรื่องโดย ชวลิต วิทยานนท์


มีข่าวเกี่ยวกับคนเจอไข่มุกในหอยชนิดต่าง ๆ ให้เห็นอยู่บ่อย ๆ แม้แต่ในหอยแครง ซึ่งทำให้หลายคนสงสัยว่ามันเป็นไปได้ไหม

ที่จริงแล้วมีหอยหลายชนิดที่สร้างมุกได้เมื่อมีวัตถุแปลกปลอม เช่น เม็ดทราย เข้าไปในตัวหอย สิ่งแปลกปลอมนั้นทำให้หอยเกิดการระคายเคือง จึงต้องหลั่งสารที่เรียกว่า น้ำมุก ออกมาหุ้มเพื่อลดความระคายเคือง พอเคลือบซ้ำไปซ้ำมาทุกเมื่อเชื่อวันก็กลายเป็นไข่มุกอย่างที่เราเห็นกัน หลักการเกิดมุกแบบธรรมชาตินี้เป็นไอเดียให้คนนำไปใช้ผลิตไข่มุกเชิงพาณิชย์ โดยหอยที่นิยมเลี้ยงเพื่อผลิตมุกคือ หอยมุกจาน (Pinctada spp.) ภาษาอังกฤษเรียกว่า pearl oysters ซึ่งเป็นหอยสองฝาสกุลหนึ่งที่มีชั้นมุกด้านในเปลือก (mother-of-pearl)

ส่วนหอยฝาเดียวเองก็มีบางชนิดที่ผลิตมุกได้ แต่เกิดค่อนข้างยากกว่า และมุกที่ได้มักเป็นที่ต้องการของนักสะสม บางครั้งจึงมีราคาแพงเวอร์ อย่าง “ไข่มุกเมโล” ซึ่งเคยมีข่าวว่ามีคนเจอและขายได้ถึงครึ่งล้านบาท เป็นไข่มุกสีออกโทนเหลือง ส้ม น้ำตาล มีลายริ้วเป็นเส้น ๆ บนผิว เกิดจากหอยตาลหรือหอยทะนาน (Melo melo) อยู่ในวงศ์หอยจุกพราหมณ์และหอยทะนาน (Volutidae) ขนาดประมาณ 20-30 เซนติเมตร อาศัยอยู่บนพื้นทราย มีเนื้ออร่อย นิยมหม่ำกัน ชื่อไข่มุกเมโลได้มาจากชื่อสกุลของหอยชนิดนี้ ดังนั้นจึงไม่ควรโมเมเรียกเมโลหากไข่มุกที่ได้มานั้นเกิดจากหอยอื่น

หอยวงศ์นี้อีกชนิดที่พบในน่านน้ำไทย คือ หอยจุกพราหมณ์ (Cymbiola nobilis) ซึ่งเป็นหอยที่อาศัยอยู่พื้นโคลนปนทราย ขนาดประมาณ 5-15 เซนติเมตร กินได้ ชาวประมงนำเปลือกหอยชนิดนี้ไปใช้จับเจ้าหมึกสาย โดยเจาะรูที่เปลือกแล้วร้อยเชือกเป็นเส้นยาว เรียกว่า หอยกุ๊งกิ๊ง นำไปโรยวางบนพื้นท้องทะเลราวหนึ่งวัน รอให้หมึกสายเข้ามาในนอนเปลือกหอยแล้วค่อยสาวจับขึ้นมา

About Author