เพนกวินจักรพรรดิฝูงหนึ่งบนเกาะใกล้ทวีปแอนตาร์กติกาขับถ่ายอุจจาระที่มีไนโตรเจนสูงออกมาปริมาณมาก นักวิทยาศาสตร์ที่กำลังศึกษาวิถีชีวิตของพวกมันสูดดมเข้าไปจนเกิดอาการเพี้ยนและขำกลิ้งจนแทบหยุดไม่ได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติประจำศูนย์ศึกษาชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (CENPERM) แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ระบุเรื่องราวนี้ในรายงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงวารสาร Science of the Total Environment ฉบับล่าสุด
ศาสตราจารย์ โบ เอลเบอร์ลิง ผู้นำทีมวิจัย กล่าวว่า ในขณะที่กำลังศึกษาเพนกวินจักรพรรดิบนเกาะเซาท์จอร์เจีย (South Georgia) ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก มีสมาชิกทีมวิจัยผู้หนึ่งเกิดอาการเพี้ยนและหัวเราะขึ้นมาอย่างหนักโดยไร้สาเหตุ และอีกคนหนึ่งมีอาการไม่สบายและปวดศีรษะ คาดว่าเป็นผลมาจากการที่นักวิจัยเคราะห์ร้ายผู้นั้นเก็บข้อมูลอยู่ใกล้ฝูงเพนกวินเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จนสูดดมเอาก๊าซไนตรัสออกไซด์หรือก๊าซหัวเราะซึ่งมีสารตั้งต้นจากมูลเพนกวินเข้าไปในปริมาณมาก
“สาเหตุที่มูลของเพนกวินมีไนโตรเจนปริมาณมาก มาจากการที่พวกมันกินปลาและตัวคริลล์ (Krill) สัตว์ทะเลมีเปลือกหุ้มรูปร่างคล้ายกุ้งตัวเล็กจิ๋วซึ่งมีไนโตรเจนอยู่ปริมาณมากเป็นอาหาร จากนั้นเพื่อเพนกวินขับถ่ายออกมา มูลของพวกมันจะถูกแบคทีเรียในดินเปลี่ยนให้เป็นก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีความเป็นพิษและทำลายสิ่งแวดล้อมสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 300 เท่า
ในกรณีนี้ แม้ก๊าซหัวเราะที่ฝูงเพนกวินผลิตออกมายังไม่มากพอจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก แต่ก็ทำให้ค้นพบความรู้ใหม่ว่าเพนกวินฝูงใหญ่สามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้อย่างไรบ้าง เพราะปัจจุบันประชากรของเพนกวินมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น และกำลังขยายอาณาเขตที่อยู่อาศัยของพวกมันออกไปสู่บริเวณกว้าง”
รายละเอียดเพิ่มเติม >> https://bbc.in/2TUBmDW