ทางรอดสู่โลกที่เปลี่ยนแปลง ไม่ได้อาศัยเพียง “โชคช่วย” แต่คือการ “ใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง” อีกทั้งจะต้องพยายาม “อัปเดต” ตัวเองให้ทันต่อ “เกมชีวิต” ที่มี “สุขภาพ” หรือ “ลมหายใจ” เป็นเดิมพัน
แม้แต่ “โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน” ที่อาจต้องจบลงด้วยการ “สูญเสียอวัยวะ” หากมีการเฝ้าระวังสังเกต และดูแลตัวเองได้อย่างถูกทาง อาจทันเวลาก่อนต้องกลายเป็นผู้พิการแบบไม่ทันตั้งตัว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกศศิริ วงษ์คงคำ อาจารย์พยาบาลประจำภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นดั่ง ”ปัญญาของแผ่นดิน“ ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล จากประสบการณ์สอน และทำงานวิจัยข้างเตียงผ่าตัดร่วม 2 ทศวรรษ ได้แสดงความห่วงใยถึงผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน” ที่ต้องเสียเวลา “หลงทาง” จนสายเกินไปก่อนได้พบแพทย์เฉพาะทางโรคหลอดเลือด
ซึ่ง “โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน” ที่พบส่วนใหญ่มักทวีความรุนแรงตามวัยที่สูงขึ้น ดังนั้นอาการปวดเมื่อยของผู้สูงวัยอาจไม่ใช่อาการทางกระดูกและกล้ามเนื้ออย่างที่มักเข้าใจ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกศศิริ วงษ์คงคำ แนะนำให้แยกอาการทางกระดูกและกล้ามเนื้อ หรืออาการทางหลอดเลือด ด้วยการฝึกจับชีพจรใน 4 จุดสำคัญ เริ่มที่ขาหนีบ หลังเข่า หลังเท้า และข้อเท้าด้านใน โดยผู้ที่มีหลอดเลือดแดงอุดตันจะคลำชีพจรไม่ได้ใต้ตำแหน่งที่มีการอุดตันลงไป
แม้ในช่วงเริ่มแรกผิวหนังบริเวณที่มีอาการจะมีสีซีดเย็น เส้นขนหลุดร่วง แต่จะมีสีม่วงคล้ำและเป็นเนื้อตาย เมื่อมีอาการรุนแรง อาการปวดที่เคยเป็นๆ หายๆ จะกลายเป็นปวดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่แนะนำให้บรรเทาด้วยการบีบนวด เพราะอาจทำให้ปวดรุนแรงมากขึ้น ด้วยสาเหตุจากการเคลื่อนหลุดของแผ่นไขมันที่อุดตันในหลอดเลือด
นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน” ที่มีอาการปวด นำผ้ายืดที่ใช้พยุงกล้ามเนื้อนักกีฬามาพันรัด เพราะจะยิ่งทำให้ขาดเลือดมากขึ้น ซึ่งหากจำเป็นต้องเพิ่มความอบอุ่น ควรสวมถุงเท้าหลวมๆ ไม่รัดแน่นเพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงส่วนปลายได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกศศิริ วงษ์คงคำ ได้กล่าวให้กำลังใจผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน” ที่มีอาการเฉียบพลันไม่ให้สิ้นหวัง จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่มีอวัยวะส่วนปลายปวด ซีด เย็น ชา ปลายแขน หรือปลายขาเริ่มม่วงคล้ำ หากรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางโรคหลอดเลือด เมื่อได้รับยา และได้รับการผ่าตัดเพื่อนำลิ่มเลือดออกไป อาจช่วยให้อวัยวะส่วนปลายยังคงอยู่
ที่สำคัญควรหมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอครั้งละ 30 – 45 นาที เป็นเวลา 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างระบบไหลเวียนเลือดข้างเคียงมาช่วยนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายได้
นอกจากนี้ ควรงดสูบและหลีกเลี่ยงการสูดควันบุหรี่ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นพิษต่อหลอดเลือดในทุกส่วนของร่างกาย ตลอดจนควรหมั่นดูแลร่างกายไม่ให้มีภาวะของโรค NCDs เช่น เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ที่อาจส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของเส้นเลือดอวัยวะส่วนปลายได้
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210