ป้องกันทารก‘นอนกระตุก’ ควบคุมแสง จัดท่านอน เวลา และปัจจัยแวดล้อมให้เหมาะสม

การนอนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทารก โดยส่งผลสำคัญต่อการเจริญเติบโต ซึ่งความรู้สึก “อบอุ่น” และ “ปลอดภัย” คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ลูกหลับได้ดี โดยไม่มี “ภาวะนอนกระตุก”

ผู้ช่วยอาจารย์ ปวัณรัตน์ ปัญจธารากุล โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ภาวะนอนกระตุก” (Physiologic Myoclonus) เกิดขึ้นเป็นธรรมดาของทารกขณะเข้าสู่ช่วงหลับลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกเกิด – 3 เดือน มีสาเหตุมาจากพัฒนาการด้านระบบประสาทยังไม่สมบูรณ์ หรือมีปัจจัยทางด้านพันธุกรรม โดยจะค่อย ๆ หายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้น

ในบางเวลาที่ทารกนอนหลับอาจมีอาการกระตุกบ่อยครั้งหากไม่อยู่ในท่านอนที่เหมาะสม ซึ่ง “การห่อตัว” ทารก เช่นการใช้ที่นอนรังนก หรือโดยพับผ้าม้วนเป็นแนวยาว แล้ววางล้อมรอบทารก ให้เป็นรูป “ตัวยู” เหมือนอยู่ใน “รังนก” อาจช่วยลดการกระตุกให้เกิดขึ้นน้อยลงได้จากการทำให้ทารกได้รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาการ และการเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ควรจัดให้ทารกได้มีชั่วโมงนอนที่เหมาะสม ระหว่าง 12 – 16 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการที่ทารกจะหลับนานหรือไม่ขึ้นอยู่กับกิจกรรมระหว่างวัน หากวันใดกิจกรรมมากขึ้น จะทำให้ทารกนอนได้เร็วและนานมากขึ้น

ตลอดจน “การจัดแสง” มีส่วนสำคัญต่อการหลับของทารกด้วยเช่นกัน ในยามเช้าควรให้ทารกได้สัมผัสแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ และควรปิดม่าน – ดับไฟเมื่อนำทารกเข้านอน อีกทั้งควรฝึกให้ทารกตื่นเป็นเวลา ไม่ควรอุ้มออกจากที่นอนทันทีที่มีเสียงร้อง ยกเว้นมีการร้องที่ผิดปกติดังขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจัยแวดล้อมอื่น เช่น เสียงที่ดังเกินไป อุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นเกินไป ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับได้เช่นกัน จึงควรจัดสิ่งแวดล้อมให้เงียบสงบ และควบคุมอุณหภูมิห้องให้คงที่ประมาณ 25 – 26 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ดี ผู้ช่วยอาจารย์ ปวัณรัตน์ ปัญจธารากุล มองว่า การจัดที่นอนทารกให้อยู่ใกล้ชิดพ่อและแม่ตลอดเวลา หรือจะใช้วิธีการเฝ้าลูกน้อยผ่านกล้องวงจรปิด ไม่สำคัญเท่าการสร้าง “ความไว้วางใจ” ให้ลูกได้เห็นหน้าพ่อแม่เมื่อตื่นนอน

ทารกกระตุกอย่างไร ถี่เท่าใดถึงจะเข้าข่ายน่าเป็นห่วง สามารถวินิจฉัยโดยการเก็บภาพถ่ายวีดิทัศน์ ส่งให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณา เนื่องจากกลุ่มอาการชักมีอาการคล้ายกับอาการกระตุกปกติ แต่อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติที่สมอง ในเด็กเล็กส่วนใหญ่มักเกิดอาการชักจากไข้ ทั้งนี้หากมีอาการกระตุกผิดปกติ หรือชักอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author