สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้วย “ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน (สับปะรด) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” มุ่งบ่มเพาะผู้ประกอบการ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของไทยด้านการขยายตลาดส่งออกสับปะรดผลสดและผลไม้อื่นหลังวิกฤตโควิด-19
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ศูนย์นี้มีรูปแบบการบริหารจัดการเพื่อมุ่งใช้ประโยชน์เป็นศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน วทน. เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน
“ที่นี่เป็นโรงคัดบรรจุผลสดทันสมัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีเครื่องจักรและกระบวนการผลิตมาตรฐานครบวงจร มีกำลังการผลิตผลสับปะรดสดเพื่อส่งออก 3 ตันต่อชั่วโมง และยังสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของศูนย์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ผลไม้ชนิดอื่น
ปัจจุบันศูนย์ฯ มีขอบเขตการบ่มเพาะเทคโนโลยีการคัดบรรจุและแปรรูป คือ 1) การแบ่งเกรดและคัดบรรจุสับปะรดผลสด 2) การเคลือบผิวผลไม้ 3) การผลิตผลไม้ตัดแต่ง มะม่วง ขนุน และสับปะรด 4) การบริหารจัดการห้องเย็น 5) การผลิตสับปะรดกวน แยมสับปะรด น้ำสับปะรดผสมว่านหางจระเข้ มะม่วงกวน และ 6) การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสับปะรด”
ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ในฐานะผู้บริหารศูนย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2563 หลังผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP เพื่อส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายสับปะรดผลสดมาตรฐานส่งออก และจะจัดการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตร ในเรื่องเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และการแปรรูปผลผลิตทางเกษตร
“โดยศูนย์ยังมีบทบาทอื่นในอุตสาหกรรม คือ การเป็นที่ปรึกษาให้แก่เกษตรกรในเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับมาตรฐานของผลผลิตให้กับผู้ประกอบการ และยังเป็นตัวกลางสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับการวิจัยและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูก ผลที่คาดว่าจะเกิดในระยะยาว คือ เกษตรกรมีความสามารถพัฒนาคุณภาพผลผลิต มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งออกสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือขอรับบริการได้ที่ นางสาวกัลยา โมกขพันธุ์ โทร. 0 2577 9012 โทรสาร 0 2577 9004 E-mail : ppp_pkn@tistr.or.th หรือ tistr@tistr.or.th
รายละเอียดเพิ่มเติม >> https://bit.ly/3c3Oixo