โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ตามตำนานกรีก ยักษ์ไทฟอน (Typhon) ที่น่ากลัวได้ปรากฏตัวขึ้นเพื่อจะแย่งชิงการครอบครองจักรวาลกับเทพเจ้าซูส (Zeus) ราชาแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย
ภาพเทพเจ้าซูส (ซ้ายมือ) สู้กับยักษ์ไทฟอน (ขวามือ) วาดบนเหยือก ศิลปะกรีกประมาณ 530-540 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 2,500 กว่าปีก่อน
ที่มาภาพ Wikipedia: Typhon
แอโฟไดตี (Aphrodite) เทพีแห่งความงาม และลูกชายคือ อีรอส (Eros) กามเทพหรือเทพเจ้าแห่งความรัก เห็นยักษ์ไทฟอนก็หวาดกลัว ทั้งสองจึงแปลงร่างเป็นปลาสองตัวกระโดดลงแม่น้ำหนีไป
ภาพ (จากซ้ายไปขวา) อีรอส (คิวปิด), แอโฟไดตี (วีนัส) และแอรีส หรือที่ชาวโรมันเรียก มาร์ส (Mars) หรือ ดาวอังคาร เป็นภาพฝาผนังในเมืองปอมเปอี (Pompeii) ประเทศอิตาลี อายุประมาณ 2,000 ปี เมืองปอมเปอีถูกฝังอยู่ใต้เถ้าและและหินภูเขาไฟจากการระเบิดของภูเขาไฟวิซูเวียส (Vesuvius) เมื่อปี ค.ศ. 79 ทำให้ช่วยรักษาภาพไว้ได้
ที่มาภาพ Wikipedia: Aphrodite
ชาวโรมันเรียกแอโฟไดตีว่า วีนัส (Venus) หรือดาวศุกร์ และเรียกอีรอสว่า คิวปิด (Cupid)
ปลาทั้งสองตัวได้กลายเป็นกลุ่มดาวปลา (Pisces ออกเสียงว่า ไพซีส, พิซีส หรือ พิสเคส) ที่มาของชื่อเดือนมีนาคม
“มีนาคม” มาจากคำว่า “มีน” แปลว่า ปลา กับคำว่า “อาคม” แปลว่า การมาถึง มีนาคมจึงแปลว่าการมาถึงปลา หรือราศีมีน หมายถึง ดวงอาทิตย์เดินทางมาถึงกลุ่มดาวปลา
กลุ่มดาวปลาเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวจักรราศี (zodiac โซดีแอก) เป็นกลุ่มดาว 12 กลุ่มที่เราเห็นดวงอาทิตย์เดินทางผ่าน และเป็นที่มาของชื่อเดือนทั้ง 12 เดือน
เส้นทางเดินของดวงอาทิตย์นี้เราเรียกว่า เส้นสุริยวิถี (ecliptic อิคลิปติก) นอกจากดวงอาทิตย์แล้วเราจะเห็นดาวที่เป็นชื่อวันอื่น ๆ ในสัปดาห์อยู่ใกล้เส้นสุริยวิถีนี้ คือ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และดาวเสาร์ รวมทั้งดาวเคราะห์คือ ดาวยูเรนัสและเนปจูน
ดวงอาทิตย์จะเข้าสู่กลุ่มดาวปลาในวันที่ 13 มีนาคม 2564
ภาพจำลองดวงอาทิตย์ตกวันที่ 20 มีนาคม 2564 เวลา 18:28 น. ที่กรุงเทพฯ จะเห็นดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวปลา
ที่มาภาพ แอป Celestron SkyPortal 3.4.0.0, iPhone SE (2nd generation)
พอถึงวันที่ 20 มีนาคม 2564 จะเป็นวันพิเศษเรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (vernal equinox เวอร์นัล อีควินอกซ์ หรือ March equinox มาร์ช อีควินอกซ์)
วันนี้ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออกพอดี (มุมทิศ 90 องศา วัดจากทิศเหนือ) และตกตรงทิศตะวันตกพอดี (มุมทิศ 270 องศา) กลางวันและกลางคืนยาวนานใกล้เคียงกันหรือเท่ากันโดยประมาณ (ในปีหนึ่งจะมีเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น ครั้งต่อไปคือวันที่ 23 กันยายน 2564)
คำว่า equinox มาจากภาษาละตินว่า aequinoctium แยกเป็น aequi- แปลว่าเท่ากัน (equal) กับ noct- (กลายเป็น nox) แปลว่ากลางคืน (night) equinox จึงแปลว่า กลางคืนเท่า
ส่วนคำว่า วิษุวัต เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า มีในกึ่งกลาง
vernal และ วสันต์ แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ
ตัวอย่างเช่นที่กรุงเทพฯ วันวสันตวิษุวัต วันที่ 20 มีนาคม 2564 ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:22 น. ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:28 น. กลางวันนาน 12 ชั่วโมง 6 นาที กลางคืนนาน 11 ชั่วโมง 54 นาที
แต่ละปีวันวสันตวิษุวัตอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยคือถ้าไม่เป็นวันที่ 20 ก็เป็นวันที่ 21 มีนาคม
ตัวอย่างวันวสันตวิษุวัตในแต่ละปี
20 มีนาคม 2564
20 มีนาคม 2565
21 มีนาคม 2566
หลังจากวันวสันตวิษุวัต 20 มีนาคม 2564 ดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกเฉียงไปทางทิศเหนือเรื่อย ๆ (ไม่ขึ้นตรงทิศตะวันออกเป๊ะ ไม่ตกตรงทิศตะวันตกเป๊ะ) กลางวันจะนานขึ้นเรื่อย ๆ
จนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ดวงอาทิตย์จะเฉียงเหนือมากที่สุด กลางวันนานที่สุด เรียกว่า วันครีษมายัน อ่านว่า “ครีดสะมายัน” หรืออีกชื่อคือ อุตตรายัน (summer solstice ซัมเมอร์ ซอลสติซ หรือ June solstice จูน ซอลสติซ)
คำว่า solstice เป็นภาษาละติน มาจากคำว่า sol คือดวงอาทิตย์ (Sun) กับคำว่า sistere แปลว่า ยืนนิ่ง (stand still) ดังนั้น solstice จึงแปลว่าดวงอาทิตย์ยืนนิ่ง เหมือนดวงอาทิตย์หยุดอยู่กับที่ ขณะดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนทิศทาง
ภาพแสดงการที่แกนโลกเอียง 23.4 และโคจรหมุนรอบดวงอาทิตย์ทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ ที่น่าสนใจคือฤดูกาลของประเทศที่อยู่ในซีกโลกเหนือเส้นศูนย์สูตร (เช่น ไทย จีน อังกฤษ ฯลฯ) จะตรงข้ามกับประเทศในซีกโลกใต้ (เช่น ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ บราซิล ฯลฯ) ตัวอย่างเช่น ถ้าประเทศอังกฤษเป็นฤดูร้อน ออสเตรเลียจะเป็นฤดูหนาว
ที่มาภาพ Wikipedia: Season
ครีษม แปลว่า ฤดูร้อน อายัน แปลว่า มาถึง ครีษมายัน จึงแปลว่า การมาถึงฤดูร้อน อุตตร แปลว่า ทิศเหนือ (อุดร)
หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะถอยกลับลงมาทางทิศใต้ จนถึงวันที่ 23 กันยายน 2564 เรียกว่า วันศารทวิษุวัต อ่านว่า “สาระทะวิสุวัด” (autumnal equinox ออทัมนัล อิควอนอกซ์ หรือ September equinox เซปเทมเบอร์ อิควินอกซ์) ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออกเป๊ะและตกตรงทิศตะวันตกเป๊ะอีกครั้งเหมือนวันวสันตวิษุวัต 20 มีนาคม 2564
ศารท (สาด) แปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง
ดวงอาทิตย์ยังคงเฉียงลงใต้ไปเรื่อย ๆ กลางวันสั้นลงเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2564 กลางวันจะสั้นสุด กลางคืนนานสุด เรียกว่า วันเหมายัน อ่านว่า “เห-มา-ยัน” หรืออีกชื่อคือ ทักษิณายัน (winter solstice วินเทอร์ ซอลสติซ หรือ December solstice ดีเซมเบอร์ ซอลสติซ)
เหม หรือ หิม หรือ หิมะ แปลว่า ฤดูหนาว ทักษิณ แปลว่า ทิศใต้
แล้วดวงอาทิตย์จะกลับขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ จนถึงวันวสันตวิษุวัตอีกครั้งในวันที่ 20 มีนาคม 2565 วนเวียนไปทุกปี
ที่เกิดวันวิษุวัตและวันอายันเช่นนี้เนื่องจากโลกมีความเอียงประมาณ 23.4 องศา และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เมื่อมองจากบนโลกจะเห็นดวงอาทิตย์บางช่วงเวลาจะเฉียงขึ้นเหนือ บางช่วงจะเฉียงลงใต้ เวลากลางวันที่ดวงอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าจะยาวนานแตกต่างกันในแต่ละช่วง และเกิดเป็นฤดูกาลต่าง ๆ ขึ้น
เราอาจมองไม่เห็นกลุ่มดาวปลาในเมืองที่มีมลพิษแสงมากอย่างกรุงเทพฯ ดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวปลาคือดาวแอลรีชา (Alrescha) หรือ แอลฟา ไพเซียม (Alpha Piscium) มีความสว่างน้อยคือเพียง 3.82 ถ้าอยากเห็นกลุ่มดาวปลาต้องออกไปดูในที่มืดสนิทนอกเมือง
อ้างอิง
- Wikipedia
- พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
- หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษของราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2532 (พิมพ์เผยแพร่ 2535)
- ใช้การออกเสียงภาษาอังกฤษแบบอเมริกันของ Merriam-Webster Dictionary
- ข้อมูลดวงอาทิตย์จากแอป Celestron SkyPortal