ม.มหิดล วิจัยโรคเท้าเหม็นเป็นรูอย่างครบวงจร ตีพิมพ์ในวารสารแพทย์ผิวหนังระดับโลก เตรียมต่อยอดวิจัยรักษาในระดับอณูชีวโมเลกุล

          ปัญหาเท้ากลิ่นเหม็น และโรคเท้าเหม็นเป็นรู เป็นโรคหรือปัญหาที่พบมากในคนหลายคน สร้างปัญหาทั้งการเสียความมั่นใจกระทบต่อบุคลิกภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก

          โรคนี้พบบ่อยมากประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศในเขตร้อนมีภูมิอากาศเหมาะสมทั้งเหงื่อ และความอับชื้น และยังเป็นเรื่องที่คนไม่น้อยเข้าใจผิดว่ากลิ่นเท้าและโรคเท้าเหม็นเป็นรูเกิดจากเชื้อรา ทั้งที่ความเป็นจริงโรคนี้เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นเชื้อประจำถิ่นของผิวหนัง ที่ทุกคนมีอยู่ โดยมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและลักษณะการใช้ชีวิตเป็นตัวร่วม ดังนั้นความจริงแล้วโรคนี้จึงอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแต่มีปัญหามากหรือน้อย

          นาวาตรี นายแพทย์ปุณยวีร์ อ่องศรี, ร.น. ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ตำแหน่งแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 4 ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พบและตระหนักความสำคัญของปัญหานี้ขณะทำงานจริง จึงได้นำปัญหานี้เป็นตัวจุดประกาย และทำการวิจัยปัญหากลิ่นเท้าและโรคเท้าเหม็นเป็นรูร่วมกับ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจรัสศรี ฬียาพรรณ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุมนัส บุณยะรัตเวช อาจารย์ประจำสาขาโรคเชื้อราผิวหนัง และยังร่วมกับคณาจารย์ของภาควิชาตจวิทยา และหน่วยงานภายในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งทีมขึ้นมาศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้ตั้งแต่หาสาเหตุ การให้การรักษา การป้องกันโรค การให้ความรู้การปฏิบัติตน และรวมถึงการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม

          โรคเท้าเหม็นเป็นรู (pitted keratolysis) นั้นเป็นโรคที่เรียกตามลักษณะผิวหนังที่มีลักษณะเป็นหลุมเปื่อยยุ่ย ร่วมกับมีกลิ่น พบมากในอาชีพที่ต้องสวมใส่รองเท้าชนิดที่อับ เช่น รองเท้าหุ้มส้น รองเท้าบูท สวมใส่ติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่วมกับเหงื่อ และความเปียกชื้นจนก่อให้แบคทีเรียเปลี่ยนสภาพเกิดกลิ่นเท้าอันไม่พึงประสงค์ขึ้น โรคนี้จึงมักพบในบางอาชีพเช่น บุคลากรในเครื่องแบบกลุ่มทหาร นักวิ่ง นักกีฬา เกษตรกร ชาวประมง ตลอดจนผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

          ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้ทำการศึกษาโรคนี้อย่างต่อเนื่อง ครบวงจร โดยนำความรู้ความชำนาญที่มี นำมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง และยังถือเป็นครั้งแรกในการรายงานด้านการรักษาผ่านวารสารทางวิชาการ โดยนำสบู่ฆ่าเชื้อที่ใช้ทางการแพทย์ (4% Chlorhexidine Scrub) มาใช้ฟอกทำความสะอาดเท้าประจำ ถือเป็นการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพสูง ราคาประหยัด

          นอกจากนั้น ทีมงานยังสร้างวิธีป้องกัน โดยเป็นความร่วมมือแบบบูรณาการ ระหว่างหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน คือ กรมพลาธิการทหารอากาศ กองทัพอากาศ กรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ และภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล นำการศึกษาการใช้ถุงเท้าอนามัยเคลือบอนุภาคสังกะสีนาโน มาใช้ในการป้องกันปัญหากลิ่นเท้า และโรคเท้าเหม็นเป็นรู

          การศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของโรคเท้าเหม็นเป็นรูและกลิ่นเท้า รวมถึงปัจจัยเกิดโรค การป้องกันและการรักษานั้น เป็นงานกิจกรรมเพื่อสังคมของภาควิชาตจวิทยา ที่ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี มีผลงานใช้ได้จริง และผลงานยังได้รับการเผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลกเกิดเป็นชุดของผลงานเช่นกัน

          หนึ่งในวารสารด้านการแพทย์ชั้นนำที่ตีพิมพ์ผลงานคือ British Journal Dermatology (BJD) จากเรื่อง “Clinical manifestations, risk factors and quality of life in patients with pitted keratolysis: a cross‐sectional study in cadets” และทีมงานยังได้มุ่งมั่นที่จะทำการศึกษาต่อไป เช่นในอนาคตจะพัฒนางานวิจัยสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ผลิตเวชภัณฑ์ที่มีความจำเพาะ มีประสิทธิภาพและปลอดภัย จากองค์ความรู้ที่มีอย่างเป็นระบบ และยังรวมถึงการศึกษาในระดับอณูชีวโมเลกุล จากการวิเคราะห์เชื้อจุลชีพ และสารเคมีต้นเหตุการเกิดกลิ่น ซึ่งจะเป็นการศึกษาในอนาคต นำมาประยุกต์ใช้กับการรักษาโรคทางผิวหนัง ปรับปรุงให้ผู้ที่มีกลิ่นเท้าและโรคเท้าเหม็นเป็นรูมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

          ด้วยความหวังที่จะเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ก้าวต่อไป ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะต่อยอดเผยแพร่ความรู้จากงานวิจัยโรคเท้าเหม็น จัดทำเป็น QR Code เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้กับประชาชนให้ได้ป้องกันดูแลรักษาด้วยตัวเองต่อไป ติดตามได้ทางเว็บไซต์ของภาควิชาฯ https://www2.si.mahidol.ac.th/department/dermatology


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author