เด็กๆ หลายคนคงเคยคิดอยากมีสัตว์เลี้ยง แต่ก็ต้องเจอกับปัญหาเรื่องไม่มีเวลาเลี้ยงเพราะต้องไปโรงเรียน หรือไม่มีพื้นที่เลี้ยงบ้าง บางคนคุณพ่อคุณแม่ไม่อนุญาตบ้าง สำหรับฉัน ฉันแพ้ขนสัตว์จึงไม่สามารถเลี้ยงพวกหมา แมว หนู นก กระต่าย ฯลฯ ที่ใครๆ นิยมเลี้ยงกัน ฉันจึงทำการค้นคว้าหาสัตว์เลี้ยงที่ดีที่สุด และมีปัญหาน้อยที่สุด แล้วฉันก็ได้ค้นพบมันเมื่อตอนเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มันคือ…พลานาเรีย นั่นเอง
ใครจะไปรู้ว่าเจ้าหนอนตัวแบนลำตัวยาวไม่ถึง 1 เซนติเมตร มันจะน่ารักได้ขนาดนี้ ที่ฉันชอบคือ eye spots ของมัน ซึ่งเป็นเซลล์ที่ไวต่อแสงจึงใช้ได้คล้ายๆ กับดวงตา
พลานาเรียขณะกำลังกินอาหาร ถ่ายภาพผ่านกล้องจุลทรรศ์แบบใช้แสง (Light Microscope)
สำหรับการเลี้ยงก็ง่ายแสนง่าย ให้อาหารมันแค่สัปดาห์ละครั้งก็อยู่ได้ ในหนังสือที่ฉันอ่านมาบอกว่า ให้อาหารเป็นไข่แดงต้มหรือตับหมูต้ม แต่บางทีฉันก็ไม่มี ฉันเลยลองให้ข้าวสุกกับมัน ครั้งละ 1 เม็ด เออ…มันก็กินนี่นา ก็เลยลองให้อาหารหลายๆ แบบกับมัน แล้วดูว่า สีตัวของมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ก็สนุกดีเหมือนกันนะ ส่วนเรื่องหามาเลี้ยงนี่ก็ไม่ต้องพูดถึง สามารถไปขอได้ฟรีเลยจากที่ท้องฟ้าจำลอง อีกทั้งขนาดที่เล็กกระจิดริดของมันก็เอื้อต่อการพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก เพียงใส่ลงในขวดแก้วเล็กๆ แล้วใส่น้ำลงไปหน่อย แค่นี้ก็เอาไปโรงเรียนก็ยังได้ (ถ้าไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น)
สิ่งพิเศษเกี่ยวกับตัวมันที่ทำให้มันเป็นที่กล่าวขานในบทเรียนวิทยาศาสตร์คือ การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ด้วยวิธี regeneration หรือ การงอกใหม่ !!!
ตอนฉันเลี้ยง ฉันทดลองตัดมันเล่น แล้วมันก็งอกมาเป็นตัวใหม่เยอะแยะมากมาย ช่างตื่นเต้นอะเมซิงจริงๆ มนุยษ์อย่างเราไม่สามารถงอกใหม่ได้อย่างมัน เพราะว่าเรามีโครงสร้างร่างกายที่ซับซ้อน มีเนื้อเยื่อพื้นฐานหลายชนิดประกอบกันในอวัยวะเดียว แต่สำหรับการงอกใหม่ของพลานาเรีย เกิดจากกลุ่มเซลล์ต้นกำเนิดที่มีศักยภาพของเซลล์ที่สามารถควบคุมอัตราการเพิ่มจำนวนของเซลล์ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้มนุษย์เรายังไม่มีข้อมูลพันธุกรรมในการงอกใหม่ และมีแหล่งผลิตเซลล์ต้นกำเนิดน้อยมากเมื่อเทียบกับพลานาเรียอีกด้วย
อ่านแล้วอยากลองหามันไปเลี้ยงสักตัวไหมคะ??? นอกจากเลี้ยงสนุกแล้วยังได้ความรู้อีกด้วย ถ้าอยากเลี้ยงก็ลองไปติดต่อขอรับฟรีได้ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพเลยค่ะ
เรื่องโดย
เรื่องและถ่ายภาพ โดย ด.ญ.วริศา ใจดี
ม.2 โรงเรียนสาธิต มศว.ปทุมวัน
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่ 36 เดือนมีนาคม 2559
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/80752