จับตากระแสแพลนต์เบสด์ เติบโต หรือ ตีบตัน

เรื่องโดย รศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ


เจนนิเฟอร์ บาร์ทาสฮัส (Jennifer Bartashus) นักวิเคราะห์สินค้าอุปโภคบริโภคอาวุโสแห่งศูนย์วิจัยบลูมเบิร์ก  (Bloomberg Intelligence) ได้ประมาณการเอาไว้ในรายงานข้อมูลเชิงลึก “Plant-Based Foods Poised for Explosive Growth“ ของเธอในปี พ.ศ. 2564 ว่าภายในปี พ.ศ. 2573 ขนาดของตลาดอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์และนมอาจพุ่งทะยานไปแตะระดับ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 40 ล้านล้านบาท)

การคาดการณ์จากบาร์ทาสฮัสนี้น่าสนใจและส่อเค้าของความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย ทว่าก็เป็นไปได้เช่นกันว่าการประเมินนี้อาจเป็นการประเมินแบบมองโลกในแง่ดีเกินไปสักหน่อย เพราะถ้ามองในความเป็นจริงเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เราเพิ่งเฉลิมฉลองการถือกำเนิดขึ้นมาของมนุษย์คนที่ 8,000 ล้านกันอย่างครึกครื้น และระยะเวลาเพียงแค่ไม่ถึงสองปี ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 จำนวนสุทธิของประชากรของมนุษย์นั้นได้ทะยานขึ้นไปจนเกือบจะแตะ 8,200 ล้านคน

เฉลี่ยแล้วสองปีที่ผ่านมาเรามีมนุษย์เพิ่มขึ้นสุทธิปีละประมาณ 100 ล้านคน หมายถึงจำนวนปากท้องที่ต้องหาอาหารมาจุนเจือเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ยแล้วราว 100 ล้านคนต่อปี ซึ่งถ้าเทียบกับปริมาณอาหารที่เราผลิตได้ในปัจจุบัน นี่เป็นจำนวนที่มหาศาล

ดูข้อมูลจากเว็บไซต์ Worldometer แค่สองประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดคืออินเดียและจีนก็มีปากท้องที่ต้องเลี้ยงแล้วเกือบ 3,000 ล้านคน ถ้าเทียบคุณภาพชีวิตประชากรระหว่างอินเดียกับจีนนั้นต่างกันราวฟ้ากับเหว

ข้อมูลจากการสำรวจขององค์กรอาหารและการเกษตรขององค์การสหประชาชาติ (UN’s Food and Agricultural Organization: FAO) ปี พ.ศ. 2565 พบว่ามีจำนวนผู้หิวโหยในอินเดียมากถึงราว 225 ล้านคนจากประชากรราว 1,400 ล้านคนของอินเดีย และนั่นทำให้อินเดียรั้งท้ายในการจัดดัชนีความหิวโหยสากล (Global hunger index) คือได้อันดับที่ 111 จาก 125 ประเทศในปี พ.ศ. 2566

แต่ประเทศจีนที่มีจำนวนประชากรราว 1,400 ล้านคน ใกล้เคียงกับอินเดีย แต่จัดการเรื่องความขาดแคลนได้ดีกว่าอินเดีย ถ้าดูจากดัชนีฯ จีนคือหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ตามเป้าหมาย zero hunger เพื่อการพัฒนาสหัสวรรษ (millennium development goals: MDG) คือลดจำนวนผู้คนที่อดอยากได้มากถึงเกือบครึ่งก่อนปี พ.ศ. 2558 (ต่อมาเป้าหมายเพื่อการพัฒนาสหัสวรรษ หรือ MDG ถูกปรับปรุงให้เป็นเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development goal หรือ SDG)

จีนเคยประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและการบริหารประเทศผิดพลาดจนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมที่สาหัสสากรรจ์ในปี พ.ศ. 2502-2504 ในช่วงปีนั้น “ภาวะฉาตกภัยครั้งยิ่งใหญ่ในจีน” คร่าชีวิตชาวจีนไปมากกว่า 15 ล้านคน อย่างไรก็ตามแม้ปัจจุบันจีนจะให้ความสำคัญในเรื่องของการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนและทำได้ค่อนข้างดี แต่ก็ยังมีคนที่ยังต้องทนทุกข์จากความหิวโหยในดินแดนชายขอบและในพื้นที่ทุรกันดารอยู่ถึงราว 150 ล้านคน

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสามและมีประชากรอยู่ราว 350 ล้านคน มีคนที่ยังมีปัญหาเรื่องชักหน้าไม่ถึงหลังเพียงร้อยละ 13.5 เท่านั้น

สหรัฐอเมริกาทำได้ไม่เลวในแง่ของการจัดการเรื่องแหล่งอาหาร แต่การจัดการนี้ก็ไม่ใช่ว่าดี ถ้ามองดูโดยละเอียดจะพบว่าที่จริงแล้วสหรัฐอเมริกามีปัญหาใหญ่อยู่อีกปัญหา นั่นคือภาวะอ้วน (obesity) ที่จริงแล้วมีประมาณการเอาไว้ว่า หนึ่งในสามของผู้คนในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2566 มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะถ้ามองแนวโน้มตัวเลขปริมาณเนื้อสัตว์หมู ไก่ เป็ด ไก่งวง แพะ วัว และสัตว์บกอื่น ๆ ที่ผู้คนทั่วโลกบริโภคในปี พ.ศ. 2564 สูงถึงราว 42 กิโลกรัมต่อคนต่อปี มากกว่าตัวเลขจากปี พ.ศ. 2504 อยู่เกือบเท่าตัว

นั่นหมายความว่าเรากินเนื้อสัตว์ สเต๊ก พอร์กชอป และอื่น ๆ มากกว่าในอดีตถึงเกือบเท่าตัว (นี่ยังไม่รวมอาหารทะเล) และหากจะมองว่าเราอ้วนขึ้นจากการบริโภคอาหารที่มากขึ้นโดยเฉลี่ยก็คงเป็นเรื่องที่พอคาดเดาได้

ถ้าแยกย่อยให้ละเอียดลงไปมากกว่านั้น ภาพจะยิ่งชัด เพราะในความเป็นจริงค่าเฉลี่ย 43 กิโลกรัมต่อคนต่อปีนั้นไม่สามารถเป็นตัวแทนของอัตราการบริโภคจริงในหลายประเทศ รวมทั้งเอเชียและสหรัฐอเมริกาด้วย เว็บไซต์สตาร์ทิสตา (startista) เผยตัวเลขที่แปลกไป แต่ว่าสิ่งที่น่าสนใจก็คือปริมาณเนื้อสัตว์ที่มนุษย์หนึ่งคนจะบริโภคต่อปีโดยเฉลี่ยในทวีปอเมริกาเหนือ (รวมถึงสหรัฐอเมริกา) นั้นมีแนวโน้มสูงถึง 80 กิโลกรัม ในขณะที่ค่าเฉลี่ยคนเอเชียนั้นอยู่แค่ประมาณ 25 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น

และนั่นอาจเป็นสาเหตุให้หนึ่งในสามของประชากรวัยเจริญพันธ์ุของสหรัฐอเมริกามีภาวะน้ำหนักเกินหรือบางคนอาจจะเข้าข่ายอ้วน !

ผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น บางคนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เลือกกินมากขึ้น บางคนก็เลือกกลายเป็นวีแกน (vegan) เลิกกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ไปเลย เน้นกินแต่ผักและผลไม้เท่านั้น

ในขณะที่บางคนเป็นเวเจทาเรียน (vegetarian) ละเพียงแค่เนื้อสัตว์ แต่ยังกินผลิตภัณฑ์จากสัตว์อย่างนมและไข่อยู่บ้าง ซึ่งอาจแบ่งแยกย่อยได้เป็นกลุ่มที่กินได้ทั้งนมและไข่ (lacto-ovo-vegetarian) กลุ่มที่กินนมอย่างเดียวไม่กินไข่ (lacto-vegetarian) และกลุ่มที่กินแต่ไข่ไม่กินนม (ovo-vegetarian)

กลุ่มที่เน้นกินอาหารเพื่อสุขภาพที่เรียกว่า เพสคาทาเรียน (pescatarian) จะเน้นเพียงแค่การละเนื้อแดงและเนื้อสัตว์บก อย่างหมู แพะ วัว แต่ยังคงกินอาหารทะเล ปลา ปู กุ้ง หอย เป็นปกติ

และยังมีกลุ่มเฟล็กซิโทเรียน (flexitorian) ที่เน้นกินพืชผักตามโอกาสอำนวย แต่กินเนื้อได้ด้วยเท่าที่จำเป็น

เมื่อมีผู้สนใจมากขึ้นทำให้กระแสความสนใจในเรื่องอาหารแพลนต์เบสด์ (plant-based food) หรืออาหารจากพืชนั้นเริ่มวกกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

กระแสแพลนต์เบสด์ในสหรัฐฯ เริ่มดูคึกคัก มีผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นตลอดในตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตั้งแต่เบอร์เกอร์แพลนต์เบสด์ แฮมจากถั่ว ไปจนถึงนมข้าว ชีสวีแกน

ถามว่าคนจะยอมกินจริงหรือ สเต๊กจากพืช นมจากถั่ว

นิสัยของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับอาหารมักจะมาและไปเหมือนแฟชั่น แต่อาหารแพลนต์เบสด์นี้ไม่ได้มาเล่น ๆ แต่มาเพื่ออยู่และเจริญเติบโต“ บาร์ทาสฮัสย้ำ

สำหรับประเทศพัฒนาแล้วมันเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์และวิถีทางเลือกของการดำเนินชีวิต แต่สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาทุพภิกขภัยอย่างอินเดีย หรือที่ขึ้นชื่อลือชาอย่างเอธิโอเปีย นี่อาจไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ แต่เป็นความจำเป็น

ยิ่งในยามภูมิอากาศแปรปรวนยิ่งซ้ำเติมกัดกร่อนบ่อนทำลายผลผลิตทางอาหารที่ตอนนี้ก็ไม่พอยาไส้อยู่แล้ว ให้ตกต่ำลงไปอีก

สำหรับประเทศไทยมีจำนวนประชากรราวเจ็ดสิบเอ็ดล้านคน จัดอยู่ในอันดับที่ยี่สิบของโลก ในฐานะครัวโลก สถานการณ์อาหารในประเทศเองอาจจะยังไม่ถึงขั้นวิกฤต เพราะอย่างน้อยก็ผลิตเองได้ แต่ก็ถือว่าน่ากังวล เนื่องด้วยอยู่ในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นหนึ่งในโซนที่โดนผลกระทบจากโลกร้อน โลกรวน โลกเดือด กระแทกหนักที่สุด

แน่นอนเทคโนโลยีคงต้องมา เห็นได้จากการรับรองการใช้ประโยชน์จากพืชแก้ไขพันธุกรรมที่เพิ่งเซ็นผ่านไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือ “โปรตีนทางเลือก” ทั้งแมลง สาหร่าย เห็ด และแน่นอนที่สุด “แพลนต์เบสด์” มีบทบาทอย่างแน่นอน

ในเวลานี้หลายองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็เริ่มเดินหน้าสนับสนุนด้านแพลนต์เบสด์ชัดเจนแล้ว อย่างสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ก็เริ่มออกนโยบายรณรงค์บริโภคอาหารแพลนต์เบสด์ในองค์กรและการประชุมต่าง ๆ แม้จะอาจมีคอมเมนต์มาบ้างว่าราคา รสชาติ และเนื้อสัมผัสยังต้องปรับปรุงให้ถูกใจผู้บริโภคมากกว่านี้

ด้วยปัญหาเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้ปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังคุมคุณภาพได้ยาก และที่สำคัญวัตถุดิบบางอย่างอาจจะยังต้องพึ่งพานำเข้ามาจากนอกประเทศอยู่เป็นส่วนใหญ่ ทำให้การทำราคาเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย นี่จึงเป็นความท้าทายที่วงการอาหารแพลนต์เบสด์ต้องหาเทคโนโลยีมาเพื่อก้าวข้าม เพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันให้ได้ ยิ่งถ้าลดลงมาจนแก้ปัญหาวิกฤตชนชั้นกลาง (middle class crisis) ได้จะยิ่งน่าตื่นเต้น

อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีนี้ก็ยังน่าจับตามอง เพราะอาจเป็นหนึ่งในตลาดเงินตลาดทองของครัวโลกอย่างประเทศไทย ได้ยินว่าในตอนนี้เป้าหมายของประเทศคืออยากให้ตลาดอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทย ซึ่งมีแพลนต์เบสด์อยู่ในนั้นเป็นหลักใหญ่ ค่อย ๆ เพิ่มมูลค่าไปจนแตะหลัก 5 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2570

ชัดเจนว่าหนทางเติบโตของตลาดแพลนต์เบสด์จะยังมีอีกยาวไกลในอนาคต… แม้อาจจะไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ (ถ้าเปรียบจริง ๆ น่าจะเหมือนโรยด้วยหนามกุหลาบมากกว่า) บาดแผลอาจมีบ้าง แต่ก็ไม่ตีบตันอย่างแน่นอน

About Author