วิชาพฤกษศาสตร์ ในโลกยุคใหม่ ไม่ใช่การเรียนรู้เพียงเพื่อค้นพบพืชชนิดใหม่ แต่คือ “ประตู” สู่การบูรณาการองค์ความรู้เรื่องพืชเพื่อประโยชน์สู่โลกกว้าง เสริมด้วยทักษะเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการแห่งโลกในศตวรรษที่ 21
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะหนึ่งในผู้ริเริ่ม “Plantbiz” ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบ่มเพาะนักพฤกษศาสตร์รุ่นใหม่ โดยเสริมทักษะพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ให้กับนักศึกษา สู่การนำองค์ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ไปบูรณาการให้เกิดประโยชน์ต่อไปในวงกว้าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล
อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของนักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทางภาควิชาฯ ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการ “Plantbiz” เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม ก่อนนำไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ผ่านการเชื่อมโยงโดย หน่วย Green Solution for Future Living ของภาควิชาฯ
หนึ่งในผลงานที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคภูมิใจในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ได้แก่ นวัตกรรมปิดผมขาวจากใบเทียนกิ่ง ผลงานโดยกลุ่มนักศึกษาสตาร์ทอัพ “Colorganic” ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้สามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันโครงการ IDE Thailand 2022 ไปได้อย่างภาคภูมิ และในขณะนี้กำลังเข้าร่วมในการแข่งขันโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup 2022)
“Colorganic” เป็นทีมที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล ทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา นำทีมโดย นางสาวกชกร ผ่องใส นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นางสาวชรนันท์ บวรพงษ์สกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมด้วย นางสาวปิยะมล อินทรพาณิชย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นับเป็นนวัตกรรมที่สร้างความหวังใหม่เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องผมขาวได้มีผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจากพืชสมุนไพรธรรมชาติไว้ใช้ปิดผมขาวได้อย่างมั่นใจ โดยมีส่วนประกอบสำคัญจากพืชสมุนไพร “เทียนกิ่ง” ผสมผสานด้วยสารพอลิเมอร์ (Polymer) ชนิดหนึ่งซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ทำให้สีติดทนนาน ภายในระยะเวลาที่น้อยกว่าการย้อมด้วยผลิตภัณฑ์ปิดผมขาวจากสมุนไพรโดยทั่วไป และผมที่ย้อมไม่แข็งกระด้างด้วยมีส่วนผสมจากสมุนไพรที่ช่วยบำรุงเส้นผม อาทิ กะเม็งตัวเมีย และ มะขามป้อม
ซึ่ง “เทียนกิ่ง” เป็นพืชสมุนไพรที่สตรีชาวอินเดียนิยมนำส่วนของใบมาบดละเอียดผสมกับน้ำทำเป็นเฮนน่าใช้ปิดผมขาว และวาดลวดลายตกแต่งร่างกายสำหรับงานพิธีและเทศกาลต่างๆ มาช้านาน แต่ติดปัญหาตรงขั้นตอนการเตรียมที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง อีกทั้งต้องรออย่างต่ำอีกประมาณ 3 ชั่วโมงเพื่อให้ผมติดสี แต่สีจะค่อยๆ จางลงภายในระยะเวลาเพียง 2 – 4 สัปดาห์ อีกทั้งผมที่ย้อมมีลักษณะแข็งกระด้างกว่า
ในขณะที่ด้วยนวัตกรรมปิดผมขาวจากพืชสมุนไพรใบเทียนกิ่งผสมกับสารพอลิเมอร์ และสมุนไพรที่ช่วยบำรุงเส้นผม จากการศึกษาเปรียบเทียบกับงานวิจัยที่มีก่อนหน้าหลายฉบับ และผ่านการทดสอบในเบื้องต้นแล้วพบว่าสามารถใช้ย้อมปิดผมขาวได้โดยใช้เวลาที่น้อยกว่า และติดทนนานกว่า โดยมีสารพอลิเมอร์ที่เติมลงไปทำหน้าที่คล้าย “กาว” คอยจับเม็ดสีให้ติดเร็วและทนนานยิ่งขึ้น
ขณะนี้ผลงานของ “Colorganic” กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเฉดสี ตลอดจนศึกษาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องก่อนพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยความมุ่งมั่นเล็กๆ จากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคม เมื่อนำมารวมกันเชื่อว่าจะกลายเป็นพลังสู่ “ก้าวที่เกรียงไกร” ซึ่งจะคอยช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมทัดเทียมนานาชาติได้ในเร็ววัน
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210