ดาวลูกไก่ (Pleiades)

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


 

“ดูโน่นแน่แม่อรุณรัศมี
ตรงมือชี้ดาวเต่านั่นดาวไถ
โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย
ดาวลูกไก่เคียงอยู่เป็นหมู่กัน”

พระอภัยมณี
โดย สุนทรภู่

 

          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีตายายอาศัยอยู่ในป่า วันหนึ่งมีพระธุดงค์ผ่านมา ตายายอยากจะทำบุญถวายพระ แต่เนื่องจากยากจน จึงปรึกษากันว่าจะนำแม่ไก่ที่เลี้ยงไว้ทำเป็นอาหารถวายพระ


ลูกไก่กับแม่ไก่
ที่มาภาพ : Wikipedia

          แม่ไก่ได้ยินตายายคุยกันเลยมาร่ำลาลูกๆ เมื่อแม่ไก่ตายแล้วลูกไก่ทั้ง 7 ตัว ได้กระโดดเข้ากองไฟตายตามแม่ไก่

          เทวดาผ่านมาเห็นจึงให้ลูกไก่ทั้ง 7 ตัว กลายเป็นดาวลูกไก่อยู่บนท้องฟ้า เพื่อระลึกถึงความกตัญญู

          ในภาษาไทยดาวลูกไก่ยังมีอีกชื่อว่า กฤติกา หรือ กฤตติกา หรือ กัตติกา


สาวน้อยทั้ง 7 ลูกสาวของแอตลาสและพลีโอนี วาดโดย Elihu Vedder ปี ค.ศ. 1885
ที่มาภาพ : Wikipedia

          คนแต่ละชาติอาจมองเห็นดาวลูกไก่แตกต่างกันไป ชาวกรีกเห็นเป็นหญิงสาว 7 คน ลูกสาวของยักษ์แอตลาส (Atlas) กับเทพธิดาแห่งทะเลพลีโอนี (Pleione) กำลังวิ่งหนีนายพรานโอไรออน (Orion)

          ภาษาอังกฤษเรียกดาวลูกไก่ว่า Seven Sisters หรือ Pleiades (พลีอะดีส) หมายถึงลูกสาวของพลีโอนี

          ภาษาญี่ปุ่นเรียกดาวลูกไก่ว่า ซูบารุ (Subaru, スバル ) เป็นรูปดาว 6 ดวง (คนญี่ปุ่นเห็นดาวลูกไก่มี 6 ดวง) ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของบริษัทรถยนต์ซูบารุ

          และคำว่า Subaru ยังเป็นชื่อเพลงที่มีชื่อเสียงของ ชินจิ ทานิมูระ (Shinji Tanimura) มีแปลไทยชื่อเพลงว่า “ดาวประดับใจ” ร้องโดย ดอน สอนระเบียบ


ภาพแผ่นฟ้าเนบรา (Nebra sky disk) อายุประมาณ 3,600 ปี (1,600 ปีก่อนคริสตกาล) พบที่เมืองเนบรา ประเทศเยอรมนี สันนิษฐานว่าเป็นภาพดาวลูกไก่ ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์
ที่มาภาพ Wikipedia

          อีกชื่อของดาวลูกไก่คือ M45 (Messier 45, เมซิเย 45) มาจากบัญชีของนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ ชาลส์ เมซีเย (Charles Messier)

          ในทางดาราศาสตร์ ดาวลูกไก่ไม่ใช่ดาวดวงเดียว แต่เป็นกระจุกดาวแบบเปิด (open cluster) ในกลุ่มดาววัว (Taurus) ประกอบด้วยดาวนับพันดวง แต่เห็นด้วยตาเปล่าประมาณ 6-8 ดวง

          เป็นกลุ่มของดาวฤกษ์ที่เกิดใหม่อายุ 100 ล้านปี อยู่ใกล้โลก 444 ปีแสง มีเนบิวลาสะท้อนแสง (reflection nebula) ที่เกิดจากแก๊สและฝุ่นในอวกาศสะท้อนแสงดาวสีน้ำเงินสวยงาม  


ดาวลูกไก่ในกลุ่มดาววัวกับกลุ่มดาวนายพราน (คนไทยเรียก ดาวเต่า ตรงเข็มขัดนายพรานที่เป็นดาวสว่าง 3 ดวง เรียงเป็นเส้นตรง เรียกว่า ดาวไถ) วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 20:00 น.
ที่มาภาพ : แอป Celestron SkyPortal

          เราสามารถมองเห็นดาวลูกไก่ได้ด้วยตาเปล่าแม้ในเมืองใหญ่ที่มีมลพิษแสงมากอย่างกรุงเทพฯ ดาวลูกไก่มีอันดับความสว่าง (magnitude) +1.6 โดยเห็นเป็นกระจุกคล้ายรูปสามเหลี่ยม

          ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายนช่วงหัวค่ำดาวลูกไก่จะอยู่ทางทิศตะวันตก และจะต่ำลงเรื่อยๆ จนมองไม่เห็นบนท้องฟ้า จะเห็นอีกครั้งตอนปลายเดือนมิถุนายนช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก หลังจากนั้นจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และไปทางทิศตะวันตก จนถึงปลายเดือนพฤศจิกายนจะเห็นตอนเช้ามืดทางทิศตะวันตกและหัวค่ำทางทิศตะวันออก และตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมช่วงหัวค่ำจะอยู่ทางทิศตะวันออกและค่อยๆ สูงขึ้นไปทางทิศตะวันตก

 

About Author