โรคติดเชื้อปอดอักเสบเกิดขึ้นได้กับทุกวัย ไม่ควรละเลยดูแลตัวเอง

          “ปอด” คือปราการด่านสำคัญของการฟอกอากาศเข้าสู่ร่างกาย เมื่อปอดอักเสบหมายถึงความเจ็บป่วยที่ตามมาด้วยค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนมากเพื่อเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

          นายแพทย์กนก วงศ์สวัสดิ์ อายุรแพทย์โรคระบบหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบหายใจ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในสภาวะภูมิอากาศที่เต็มไปด้วยความชื้น และอุณหภูมิต่ำ ทำให้ปอดมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากการเปียกฝน สูดกลิ่นไอดิน ขยะ หรือน้ำสกปรกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย จากการทำให้อุณหภูมิในระบบทางเดินหายใจส่วนบนต่ำลง

          แม้โรคนิวโมคอคคัส จะยังไม่มีรายงานที่เชื่อมโยงกับการเกิดมะเร็งปอด แต่ก็สามารถติดต่อได้จากคนสู่คน โดยแสดงทั้ง “อาการติดเชื้อ” ซึ่งได้แก่ เป็นไข้ และ “อาการปอดอักเสบในระบบทางเดินหายใจ” ซึ่งได้แก่ อาการไอ มีเสมหะ หอบเหนื่อย และเจ็บชายโครงเวลาหายใจ ไม่สามารถหายเองได้เช่นเดียวกับโรคหวัดโดยทั่วไป แต่ต้องเข้ารับรักษาภายในโรงพยาบาลเพื่อรับยาฆ่าเชื้อ-ฉีดยาปฏิชีวนะเท่านั้น

          นอกจากนี้ อาการปอดอักเสบเกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย โดยพบได้มากถึงหลายสายพันธุ์ ซึ่งโรคติดเชื้อเมื่อเกิดขึ้นที่บริเวณปอด ไม่เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับร่างกายโดยอัตโนมัติเช่นที่บริเวณอวัยวะส่วนอื่น นอกจากนี้อาจมีโอกาสกลายพันธุ์ได้มากกว่าอีกด้วย

          ปัจจัยหลักของการป้องกันการเกิดความรุนแรงของโรคติดเชื้ออยู่ที่การดูแลร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการเกิดความเครียดสะสม หมั่นตรวจสุขภาพอยู่เสมอ และใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งป้องกันได้ทั้งการสัมผัสเชื้อปอดอักเสบจากแบคทีเรียนิวโมคอคคัส และโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้มากถึงร้อยละ 80

          อย่างไรก็ดี อาการปอดอักเสบจากมลพิษจากฝุ่น PM2.5/PM10 สามารถป้องกันด้วยตัวเองได้อย่างง่ายๆ เพียงไม่ลืมใส่หน้ากาก N95 ก่อนออกไปเผชิญมลภาวะ

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author