“POPs” สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน กับมาตรการแก้ปัญหาระดับโลก

เรื่องโดย วีณา ยศวังใจ


ทุกวันนี้เราต้องเผชิญกับมลพิษและสารเคมีอันตรายมากมายรอบตัว สารมลพิษบางชนิดอยู่ใกล้ตัวเราอย่างคาดไม่ถึงและยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือสารมลพิษเหล่านี้มักตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน ทั้งยังส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพและระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารในกลุ่มที่เรียกว่า สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ซึ่งกลายเป็นประเด็นปัญหาสำคัญระดับโลกอยู่ในขณะนี้

สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน หรือ สาร POPs (persistent organic pollutants) คือ สารอินทรีย์ที่สลายตัวได้ยากในสิ่งแวดล้อม เคลื่อนย้ายได้ไกล เป็นพิษ และสามารถสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช สารเคมีทางอุตสาหกรรม และสารมลพิษประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจจากกระบวนการเผาไหม้และกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม

ภายหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ส่งผลให้มีการใช้สารเคมีมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลและแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมอย่างไร้ขอบเขต ส่งผลให้สารเคมีเหล่านั้นค่อย ๆ แทรกซึมและสะสมอยู่ในดิน น้ำ อากาศ รวมถึงสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ และในร่างกายของมนุษย์ นานวันเข้าพิษภัยของสารเคมีเหล่านี้เริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้น ทำให้นานาประเทศเริ่มตระหนักถึงผลร้ายที่จะตามมา และเป็นที่มาของการรับรองข้อตกลงระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 โดยมีจุดมุ่งหมายคือการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากสาร POPs ด้วยการลด/เลิกการผลิต การใช้ และการปลดปล่อย

ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ในช่วงเริ่มต้นได้กำหนดเป้าหมายลดและเลิกใช้สาร POPs 12 ชนิดแรก เป็นสารในกลุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ 9 ชนิด ได้แก่ อัลดริน (aldrin) คลอเดน (chlordane) ดีดีที (DDT) ดิลดริน (dieldrin) เอนดริน (endrin) เฮปตะคลอร์ (heptachlor) เฮกซะคลอโรเบนซีน (hexachlorobenzene: HCB) ไมเร็กซ์ (mirex) และท็อกซาฟีน (toxaphene) และอีก 3 ชนิดอยู่ในกลุ่มสารเคมีทางอุตสาหกรรมและสารมลพิษประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ ได้แก่ พีซีบี (polychlorinated biphenyls: PCB) ไดออกซิน (polychlorinated dibenzo-p-dioxins: PCDD) และฟิวแรน (polychlorinated dibenzofurans: PCDF) โดยจะเพิ่มรายการสารชนิดใหม่เข้าไปในบัญชีรายชื่อสาร POPs เมื่อพิสูจน์ได้ว่ามีอันตรายอยู่ในระดับที่ไม่สามารถยอมรับได้

สำหรับประเทศไทยได้จัดทำทำเนียบสาร POPs (POPs Inventory) ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งนำไปสู่การจัดทำแผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ฉบับแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ได้เริ่มจัดทำทำเนียบสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานของประเทศ ฉบับที่ 2 และ (ร่าง) แผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (POPs NIP) ฉบับที่ 2 ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นที่ปรึกษาและผู้ดำเนินการหลักจากการสนับสนุนงบประมาณขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO)

decaBDE ประโยชน์มากมาย อันตรายมากกว่า

ตัวอย่างของสาร POPs ที่กระจายอยู่ทั่วไปและอยู่ใกล้ตัวเรามาก ๆ ชนิดหนึ่งคือ สารเดคาโบรโมไดฟีนิลอีเทอร์หรือเดคาบีดีอี (decabromodiphenyl ether: decaBDE) ซึ่งเป็นสารหน่วงไฟชนิดหนึ่งที่ใช้กันกว้างขวางมานานในหลายผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะพลาสติก เช่น จอโทรทัศน์แบบเก่า เคสเครื่องใช้ไฟฟ้า ปลอกสายไฟ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เช่น ผ้าม่าน โซฟา เบาะรถยนต์ และอาจปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล เช่น ของเล่นเด็ก และวัสดุสัมผัสอาหาร

โครงสร้างโมเลกุลของสารเดคาโบรโมไดฟีนิลอีเทอร์หรือเดคาบีดีอี

ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการตรวจพบ decaBDE ในร่างกายมนุษย์ (ทั้งในเลือด น้ำนมแม่ น้ำอสุจิ) และในสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิด นอกจากนี้ยังพบในอากาศและฝุ่นทั้งภายในและภายนอกอาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะในบริเวณรอบ ๆ พื้นที่สำหรับจัดเก็บหรือถอดแยกชิ้นส่วนซากอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้เพราะ decaBDE เล็ดลอดสู่สิ่งแวดล้อมได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต การใช้ การกำจัดทิ้ง ไปจนถึงการรีไซเคิล ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ decaBDE กระจายตัวไปตามแหล่งน้ำ สะสมในดิน หรือแม้กระทั่งจับตัวกับอนุภาคในอากาศ ซึ่งทำให้เคลื่อนย้ายไปได้ไกลในสิ่งแวดล้อม จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงตรวจพบ decaBDE ในพื้นที่ห่างไกลอย่างขั้วโลก ไม่เพียงเท่านี้ decaBDE ยังจับตัวกับไขมันได้ดีจึงสะสมและเพิ่มปริมาณในสิ่งมีชีวิตผ่านการกินกันเป็นทอด ๆ ในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งพบว่ามี decaBDE ปนเปื้อนอยู่ในอาหารหลายชนิด เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม และปลา

เนื่องจากผลกระทบที่รุนแรงดังที่กล่าวมา decaBDE จึงถูกบรรจุเป็นหนึ่งในสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ในภาคผนวก A (สารที่ต้องเลิกใช้) ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เมื่อปี พ.ศ. 2560 และอยู่ในทำเนียบสาร POPs ของประเทศไทยฉบับที่ 2 ร่วมกับสารมลพิษตกที่ค้างยาวนานอื่น ๆ รวม 15 ชนิด นอกจากนี้ decaBDE (ทั้งในรูปแบบสารเคมีเดี่ยวและสารผสม) ยังถูกควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งหากมีการนำเข้า ผลิต ส่งออก นำผ่าน และมีไว้ในครอบครองต้องขออนุญาตกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย

decaBDE อันตรายแค่ไหน ใครเสี่ยงบ้าง ?

จากข้อมูลในทำเนียบสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทเคมีอุตสาหกรรมของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2562 พบการตกค้างของสาร decaBDE ในสิ่งทอที่ใช้งานอยู่ประมาณ 3 ล้านตัน และในเคสโทรทัศน์แบบหลอดรังสีแคโทดที่ผลิตก่อน พ.ศ. 2549 ทั้งที่ยังใช้อยู่และรอทิ้งประมาณ 500–820 ตัน

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับ decaBDE เข้าสู่ร่างกายคือผู้ที่สัมผัสกับผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนที่มี decaBDE โดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในโรงงานคัดแยกซากชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปหมุนเวียนหรือรีไซเคิล รวมถึงคนทั่วไปก็เสี่ยงได้รับ decaBDE ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม

decaBDE เข้าสู่ร่างกายได้ทั้งจากการหายใจ การสัมผัส การที่ฝุ่นเข้าปาก และการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน และยังส่งต่อจากแม่สู่ลูกผ่านทางสายสะดือและการให้นมบุตร ซึ่งในทารกและเด็กเล็กพบปริมาณ decaBDE ต่อน้ำหนักตัวสูงกว่าผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสได้รับผลกระทบมากกว่าด้วย เมื่อ decaBDE เข้าสู่ร่างกายจะเป็นพิษต่อระบบประสาท ส่งผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อและระดับสมดุลของฮอร์โมน ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้าลง ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ decaBDE ในร่างกายสามารถสลายตัวเป็นสารมลพิษอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น เช่น สารก่อมะเร็ง เป็นพิษต่อตับ และระบบสืบพันธุ์

เราจะลดความเสี่ยงจาก decaBDE ได้อย่างไร ?

ผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องสามารถลดความเสี่ยงจาก decaBDE และหมุนเวียนวัสดุได้อย่างปลอดภัยโดยการบ่งชี้และแยกแยะวัสดุและผลิตภัณฑ์ว่ามี decaBDE ผสมอยู่หรือไม่ สวมใส่ถุงมือและหน้ากากกันฝุ่นในระหว่างทำงาน รวมทั้งเรียนรู้และปฏิบัติตามแนวทางการจัดการที่เหมาะสมด้วยเทคนิคที่ดีที่สุดและแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด หรือ BAT/BEP

สำหรับบุคคลทั่วไปควรหมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัย และจัดการขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี โดยแยกจากขยะชนิดอื่นและนำไปทิ้งในจุดทิ้งขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ทิ้งรวมกับขยะทั่วไป

แม้ว่าสารมลพิษตกค้างยาวนานอย่าง decaBDE จะถูกใช้งานมาหลายปี และยังมีบางส่วนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่หากผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนสามารถปฏิบัติตามมาตรการและแนวทาง BAT/BEP ในการจัดการสารเคมีในผลิตภัณฑ์และสารมลพิษตกค้างยาวนานได้อย่างเหมาะสม นอกจากจะช่วยส่งเสริมการหมุนเวียนวัสดุอย่างปลอดภัยแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เพื่อโลกที่ดีกว่าและอนาคตที่สดใสสำหรับเราทุกคน


ขอขอบคุณ ดร.ศิริกาญจน์ วิเศษสุวรรณภูมิ นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง เอ็มเทค สวทช.

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

การจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานในโลกตามแนวทางของ อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน

POPs-NIP

  • สารมลพิษในผลิตภัณฑ์ใกล้ตัว DecaBDE, องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานส่วนภูมิภาค

About Author