ต้นแบบ ‘สร้างสุข’ ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ ‘องค์กรเชิงบวก’

          หากเปรียบนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเหมือน “เมล็ดพันธุ์ข้าว” ที่รอวันเก็บเกี่ยว และขยายพันธุ์ก่อนส่งออกไป “ต่อลมหายใจ” โลก ปัญหาบุคลากรใหม่สมัครงานเข้ามาได้ไม่นาน ก็ต้องลาออกไป ทำให้ “สายพานการผลิต” ขององค์กรต้องสะดุด เสียเวลารับสมัครใหม่อยู่เรื่อยๆ จะหมดไป เพียงสร้าง “หัวใจแห่งการสร้างสุข” ให้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนการเก็บเกี่ยว ตั้งแต่ยังเป็น “ข้าวคอยเคียว”

          รองศาสตราจารย์ ดร.จรัมพร โห้ลำยอง อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในเบื้องหลังสำคัญผู้ริเริ่มโครงการ “ยุวทูตสร้างสุข” ให้เกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ก่อนผลักดันสู่เป้าหมายหลักของ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” (Happy University) ที่ขยายความร่วมมือออกไปสู่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเช่นปัจจุบัน โดยเชื่อมั่นว่าความสุขที่ยั่งยืนขององค์กร สร้างได้ตั้งแต่วัยก่อนเข้าทำงาน

          โดยได้นำหลักเศรษฐศาสตร์ “องค์กรเชิงบวก”(Positive Organization) มาเป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมให้เกิด “ความคิดเชิงบวก” (Positive Thinking) ในการทำงาน แล้วทำให้ยั่งยืนโดยการสร้างเป็น “ระบบนิเวศ” (Ecosystem)

          ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนได้มองเห็น “คุณค่าในตัวเอง” พร้อมริเริ่มสร้างสรรค์ “ทำปัจจุบันเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดียิ่งขึ้นไป” จะทำให้คนรุ่นใหม่มองการทำงานแบบ “เช้าชาม เย็นชาม” ว่าเป็นการใช้ชีวิตที่สูญเปล่าไร้ความหมาย

          จัดกิจกรรมโดยให้ดูตัวอย่างจากรุ่นพี่ที่มาบอกเล่าถึงความสำเร็จ พร้อมพาดูงาน ณ องค์กรต้นแบบ เพื่อกลับมาแลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้ พร้อม “วาดภาพแห่งความสุข” ว่าหากได้มีโอกาสทำงานในที่ดังกล่าวจะมีการเตรียมพร้อมอย่างไร

          ซึ่งตรงกับเป้าหมายที่ได้วางไว้ร่วมกันระหว่างโครงการฯ และองค์กรต้นแบบ ตั้งแต่เริ่มต้นจัดโครงการฯ ที่มุ่งผลักดัน “นักสร้างสุข” ในกลุ่มยุวชน เพื่อให้ได้ “เมล็ดพันธุ์คุณภาพ” ไปสร้างความเจริญงอกงามแก่องค์กรหลังสำเร็จการศึกษา

          นอกจากนี้ ยังพบว่าการสร้างกรอบการทำงานด้วย “การวางกฎระเบียบควบคุม” แม้ “ได้งานที่ถูกต้อง” แต่ “ไม่ได้ใจ” เท่ากับการ “สร้างแรงจูงใจ” ให้ทำงานโดยมี “ผลสำเร็จของงาน” ที่ส่งประโยชน์ถึงองค์กร และประเทศชาติเป็นรางวัล “เป้าหมายแห่งชีวิต”

          ในที่สุดทุกหัวใจจะได้ตระหนักว่า “เงินไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกสิ่ง” และพร้อมปรับตัว จากรั้วการศึกษา สู่การทำงานในชีวิตจริง พร้อมเผชิญความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ด้วยความเท่าทัน สู่ Ecosystem ในสถานที่ทำงาน “ส่งต่อความสุข” จากรุ่นสู่รุ่นให้พร้อมรับอนาคตที่ท้าทายต่อไป

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพถ่ายโดย
กฤติญา สำอางกิจ
นักประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

About Author