ในขณะที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จนอาจจะเหยียบๆ สิบล้านในอีกไม่กี่วัน แต่ในประเทศไทย สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ดูเหมือนจะเริ่มเบาบางลง หลังจากที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศมานานร่วมเดือน
นั่นคือเกินกว่าระยะพักตัวของไวรัสไปนานโข จนหลายคนเชื่อว่าเรากำลังอยู่ในยุคหลังโควิดหรือที่เรียกว่ายุคโพสต์โควิด (postcovid era) นั่นเอง
สิ่งต่างๆ ในประเทศไทยจึงได้ทยอยเริ่มกลับเข้าสู่โหมดปกติใหม่ หรือที่เรียกกันว่า New normal ผู้คนเริ่มได้กลับมาทำงาน กิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินเป็นปกติ การจราจรเริ่มกลับมาติดขัดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน แม้จะต้องใส่หน้ากากเข้าหากัน อาจจะมีขวดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อเพิ่มเข้ามาในกระเป๋าอีกชิ้นหนึ่ง และอาจจะยังต้องเว้นระยะห่างระหว่างกันอีกสักระยะ
แต่มันเป็นจริงหรือไม่ที่ความเสี่ยงในการติดเชื้อได้หายไปแล้ว และเราอาจจะกลับมาใช้ชีวิตได้ดังเดิมในเวลาไม่ช้าไม่นาน? คำตอบคือ “บอกยาก” เพราะในการระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคที่เพิ่งพบใหม่ แม้จะมีงานวิจัยออกมาอย่างมหาศาลในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน ความรู้ความเข้าใจหลายๆ อย่างเกี่ยวกับธรรมชาติของโรค กลับยังไม่ชัดเจน และอาจจะขัดแย้งกันเองเสียด้วยซ้ำ คงต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่กว่าที่จะสรุปอะไรได้แจ่มชัดจริงๆ
ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงคือการตรวจวินิจฉัยเชิงรุก อาจจะไม่ได้ครอบคลุมให้สามารถตรวจเชื้อได้กับผู้คนทุกคน และไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะอาการหนัก นอนคางเหลือง หายใจพะงาบๆ อยู่ในห้องไอซียู เพราะในความเป็นจริง ผู้ป่วยหลายคนก็ดูภายนอกเหมือนจะสบายดี
ผู้ป่วยบางรายอาจจะดูปกติในช่วงติดเชื้อระยะแรก (presymptomatic) และต้องใช้เวลาพักตัวหลายวันกว่าจะเริ่มแสดงอาการ จึงต้องมีระยะการกักตัว (quarantine) อย่างน้อย 14 วัน สำหรับผู้ที่ดูจะมีความเสี่ยง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ในประเทศไทยน่าจะแทบไม่มีแล้ว เพราะพบผู้ป่วยใหม่เพียงแค่ในสถานกักตัวแยกเชื้อในกลุ่มผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ
ดังนั้นการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศนั้น จะช่วยสกรีนผู้ติดเชื้อแบบมีอาการชัดเจน และผู้ติดเชื้อแบบ presymptomatic ช่วยลดความเสี่ยงได้ค่อนข้างดี แต่ถ้ามีการปล่อยให้นักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจเดินทางเข้ามาในประเทศได้เลยอย่างอิสระ ก็เป็นไปได้อีกเช่นกันที่อาจจะได้ของแถมเป็นเชื้อนำเข้าอิมพอร์ตเข้ามาจนเกิดการติดเชื้อในประเทศก็เป็นได้
แต่ที่น่ากังวล ที่ทำให้เราการ์ดตกไม่ได้ คือกลุ่มผู้ป่วยที่แม้ติดเชื้อแต่จะไม่มีอาการอะไรแสดงออกมาให้เห็นเด่นชัด แต่กลับสวมบทบาทเป็นพาหะแพร่เชื้อได้ (asymptomatic) กลุ่มนี้ต่างหากที่น่ากลัว
เพราะถ้าไวรัสกระจายเข้าไปสู่ผู้คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้เมื่อไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้อยู่อาศัยในที่แออัด การติดเชื้อแบบมโหฬารอาจเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับที่กำลังเกิดกับสิงคโปร์ ที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานจนทะลุ 40,000 คนไปแล้ว แม้ว่าในช่วงต้นปี สิงคโปร์จะสามารถคุมปริมาณผู้ติดเชื้อได้อย่างดีเยี่ยมอยู่ในหลักสิบอยู่ได้นานหลายเดือน
กราฟแสดงจำนวนเคสที่ได้รับการยืนยันแล้วในสิงคโปร์เทียบกับช่วงเวลา จะเห็นได้ว่าแม้ว่าสิงคโปร์จะคุมจำนวนเชื้อได้ดีเยี่ยมในช่วยก่อนเดือนมีนาคม แต่พอมีการระบาดเข้าชุมชนแออัด (แคมป์คนงาน) จนกลายเป็นคลัสเตอร์ติดเชื้อ การระบาดของโรคก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนควบคุมได้ยาก (ภาพจาก https://coronavirus.jhu.edu/map.html)
ในขณะที่หลายประเทศ เริ่มรายงานการติดเชื้อแบบระลอก 2 กันบ้างแล้ว ทั้งในจีนและสหรัฐอเมริกา และนี่คือสิ่งที่ทำให้การเว้นระยะห่างในสังคม และการติดตามควบคุมโรคยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมเรา
แน่นอน มันอาจจะยังไม่ดีกับเศรษฐกิจที่กำลังพยายามจะฟื้นตัว แต่กันไว้ดีกว่าแก้ เพราะถ้ามีการระบาดอีกระลอกมาจริงๆ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจประเมินค่าไม่ได้
แต่เราจะปิดประเทศถาวรไม่ได้ ดังนั้น การลดความเสี่ยงและคุมไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศจึงต้องเป็นสิ่งที่รัฐควรให้ความสำคัญ
แล้ววัคซีนและยาจะมาเมื่อไร? คำตอบของคำถามนี้บอกได้ยากเช่นกัน แม้ว่าจะมีแคนดิเดตวัคซีนและยานับร้อยที่ลงทะเบียนศึกษาในขั้นคลินิกไว้แล้วกับองค์การอนามัยโลก แต่ทุกขนานก็ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง และต่อให้ทดลองได้สำเร็จ การผลิตอาจจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ทุกคนเข้าถึงทั้งยาและวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม เพราะอย่าลืมว่าไวรัสไม่ได้เลือกติดใครคนใดคนหนึ่งที่ความยากดีมีจน ทุกคนมีสิทธิติดเท่ากัน และมีโอกาสแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นในสังคมได้ ท้ายสุด ติดคนเดียว ทุกคนอาจจะเดือดร้อนอย่างทัดเทียม
การพัฒนายาดูจะมีความหวังได้ลุ้นมากกว่าวัคซีน เพราะยาบางชนิดได้รับการทดสอบความเป็นพิษในมนุษย์ไปแล้ว และอาจจะใช้ในการรักษาโรคอื่นๆ อยู่ ซึ่งถ้าทดสอบแล้ว หากสามารถใช้ควบคุมไวรัส SARS-CoV2 ได้ ก็อาจจะเอามาประยุกต์ใช้ในการรักษาโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วในฐานะยาปรับจุดประสงค์ (repurposed drugs)
ส่วนวัคซีนก็ต้องรอลุ้นดูว่าจะสามารถกระตุ้นภูมิในผู้รับวัคซีนได้หรือไม่ และจะมีผลข้างเคียงอะไรหรือเปล่า เพราะในกรณีของวัคซีนไวรัสไข้เด็งกี่ กว่าจะเจอว่าอาจจะมีผลกระทบไม่คาดคิดที่เรียกว่า antibody dependent enhancement (ADE) หรือการเพิ่มการติดเชื้อเนื่องจากแอนติบอดีในผู้รับวัคซีนบางราย ก็ต้องรอจนทดสอบยาเฟสท้ายๆ จนเกือบจะผ่านมาได้ใช้กับคนทั่วไปไปแล้ว
แอนติบอดีต้าน SARS-CoV2 ที่สามารถเข้ายึดเกาะกับโปรตีนที่ไวรัสใช้ในการเข้ารุกรานเซลล์มนุษย์ ทำให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ไม่ได้ อาจจะนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษา หรือการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ในอนาคต
แต่ต่อให้ไม่มีผลกระทบอะไรเลย การทดลองวัคซีนก็อาจจะต้องรอผลไปอีกราวๆ หนึ่งปี ถึงปีครึ่งสำหรับกระบวนการพัฒนา ก่อนที่วัคซีนจะเข้าสู่ตลาด ให้เราได้ใช้กัน
ในที่สุด วันหนึ่งเมื่อวัคซีนและยาสำเร็จ ความกังวลเรื่องไวรัสโควิดก็คงจะค่อยๆ หายไป เหลือแค่ความทรงจำอันบอบช้ำของคนหลายๆ คน
แต่อีกอย่างที่ต้องคิดถึงคือเมื่อวัคซีนหรือยาถูกพัฒนาได้แล้ว มันจะมาถึงมือเราหรือไม่ ในเมื่อยาและวัคซีนนั้นคงเป็นที่ต้องการไปทั่วโลก ซึ่งถ้าประเทศยักษ์ใหญ่ก็ยังคุมโรคไม่ได้ ชัดเจนว่าการที่ยาและวัคซีนจะเหลือส่งต่อมาถึงเรา อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก และนั่นอาจจะส่งผลถึงความพร้อมในด้านการรักษา และป้องกันโรคของประเทศได้
เราอาจจะต้องพิจารณาอีกทีถึงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเฟ้นหาและผลิตยาต่างๆ ยาลอกแบบชีวภาพ (biosimilars) สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (bioactive substances) ว่ามันอาจจะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่โรคอุบัติใหม่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้
และเมื่อเราสามารถมั่นใจได้ว่าระบบสาธารณสุขของเราจะป้องกันการระบาดได้จริง และเพียงพอที่จะรองรับปริมาณผู้ติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่โอเวอร์โหลดและไม่ล่ม เมื่อนั้นเราก็จะสามารถกลับมาดำรงชีวิตเป็นอิสระได้ดังเดิม โดยไม่ต้องกังวลเรื่องโควิดอีกต่อไป…
แต่วันนั้นจะมาถึงเมื่อไร คงต้องรอดูต่อไป อาจจะอีกไม่นาน
เรื่องโดย
ผศ.ดร. ป๋วย อุ่นใจ
กลุ่มวิจัยชีววิทยาเพื่อการศึกษาและความบันเทิง
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่ 88 เดือนกรกฎาคม 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/184905