ม.มหิดลวิจัย ‘พลังการเล่น’ – ‘พลังสร้างมนุษย์’

การให้เด็กได้รู้จัก “การตั้งเป้าหมายในชีวิต” คือการให้ได้เด็กรู้จัก “ก้าวแรกของการเป็นผู้ใหญ่” ซึ่ง “เป้าหมายชีวิตที่ยิ่งใหญ่เกินไป” มัก “ไม่ใช่การเริ่มต้นที่ดีที่สุดเสมอไป” แต่ในทางตรงข้ามอาจนำมาซึ่งความเคร่งเครียดคอยทำร้าย

ในขณะที่การฝึกให้เด็กได้ตั้งเป้าหมายเล็กๆ แม้เพียงจาก “การเล่น” ที่ใช้ความใส่ใจ และทำด้วยตัวเองจนสำเร็จ ก็ถือเป็น “ก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่“ ของ “วัยที่เปลี่ยนผ่าน” ได้

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะธิดา ขจรชัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาอนามัยครอบครัว คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงหนังสือ “การเล่นเพื่อการพัฒนาเด็ก” ซึ่งตนเป็นผู้ประพันธ์เพื่อใช้ประกอบการวิจัยครอบครัวและการดูแลบุตร ภายใต้ทุนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลว่า “พัฒนาการของเด็ก” เป็นเรื่องที่ไม่สามารถย้อนกลับ จึงควรมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนมีบุตร

ซึ่ง “การเล่น” ถือเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการมนุษย์ นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนา “กล้ามเนื้อมัดเล็ก” ซึ่งขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวมือ และนิ้วมือ ตลอดจน “กล้ามเนื้อมัดใหญ่” ซึ่งขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวแขน ขา ลำตัว และกล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงตัว

แม้แต่ “การกำและคลายมือ” ของเด็กตั้งแต่แรกเกิดก็นับเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการ นอกจากนี้ยังรวมถึงการที่เด็กสามารถขยับแขนขา ตลอดจนหันศีรษะตามเสียงที่ไกลออกไปได้ภายใน 3 เดือนแรกของชีวิต

ทั้งหมดนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อออกแบบ “การเล่น” ภายในครอบครัวโดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ราคาแพง โดยอาจเล่านิทานให้เด็กได้เคลื่อนไหว แม้แต่การฝึกให้เด็กทำนิ้วตามเพลง “แมงมุมลาย” ก็ถือเป็นการฝึกให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กไปด้วยในตัว

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะธิดา ขจรชัยกุล กล่าวต่อไปว่า “การจัดการของเล่น” ให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น เด็กที่อยู่ใน “วัยเตาะแตะ” จะเป็นวัยที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง ควรจัดหาของเล่นที่สามารถลากจูงได้ มีเสียง และสีสันสดใส ซึ่งอาจประกอบขึ้นเองง่ายๆ จากวัสดุรอบตัว

และหากเมื่อให้เด็กได้มีโอกาสเล่นในที่เปิด แม้จะมีข้อดีตรงที่เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัส และปรับตัวกับธรรมชาติรอบข้าง ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาเซลล์สมอง แต่ควรระวังความปลอดภัย ไม่ปล่อยทิ้งเด็กไว้ตามลำพัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่ใกล้พื้นที่จราจร หรือจุดอันตราย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

นอกจากนี้ แม้ทุกชีวิตต้องการความก้าวหน้า แต่หากคิดว่าการตั้งเป้าหมายเรื่องการเรียนในเด็กวัยที่เริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษา เป็นเหมือนเช่นการสร้างบ้านที่ควรวางรากฐานให้มั่นคงแบบค่อยเป็นค่อยไป จะไม่เป็นเป้าหมายที่ไกลเกินกว่าเด็กจะทำได้ และไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าหนักเกินไป

โดยปัจจุบันทั่วโลกยอมรับ “พลังการเล่น” ว่าเป็น “พลังสร้างมนุษย์” จึงมี “องค์การโลกทางการศึกษาปฐมวัย (OMEP)” ที่ผู้เชี่ยวชาญในด้านเด็กปฐมวัยจากทั่วโลกจะมาประชุมวิชาการร่วมกันทุกปี

โดยในปี 2567 นี้ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผลงาน หนังสือ “การเล่นเพื่อการพัฒนาเด็ก” จาก รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะธิดา ขจรชัยกุล หนึ่งใน “ปัญญาของแผ่นดิน” ที่มหาวิทยาลัยมหิดลภาคภูมิใจ จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อต่อยอดขยายผลสู่ระดับโลกต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author