ม.มหิดล ร่วมสนับสนุนสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิแบบใหม่ ตามแนวทางของ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง เพื่อปวงชนชาวไทย
นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการมีผลบังคับใช้ ถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ไปขึ้นอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทำให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการวิจัยองค์ความรู้เพิ่มเติม และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
เบื้องหลังของการวางระบบสุขภาพปฐมภูมิดังกล่าวของประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นการทำงานศึกษาวิจัย และร่วมในกระบวนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหน่วยงานซึ่งมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการวางระบบสาธารณสุขมูลฐานของประเทศที่ผ่านมา
นายแพทย์ถาวร สกุลพาณิชย์ อดีตที่ปรึกษาระดับกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอนุกรรมการพัฒนาการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ภายใต้คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ และที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
นายแพทย์ถาวร สกุลพาณิชย์ อดีตที่ปรึกษาระดับกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอนุกรรมการพัฒนาการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ภายใต้คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ และที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยได้กล่าวถึงทิศทางในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิของประเทศตามประกาศคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ เรื่อง บริการสุขภาพปฐมภูมิที่บุคคลมีสิทธิได้รับ พ.ศ.2563 นั้น จะมุ่งสู่การดูแลแบบองค์รวม ตั้งแต่แรก ต่อเนื่อง และผสมผสาน ครอบคลุม ระยะเฉียบพลัน ระยะกลาง ระยะเรื้อรัง ระยะยาว ระยะประคับประคอง และระยะท้ายของชีวิต ซึ่งบริการหลายอย่างยังต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดโรคหลอดเลือดสมอง หลังผ่าตัดถ้าจำเป็นต้องมีการดูแลระยะกลางเพื่อฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย จะมีจัดบริการแบบต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน โดยส่งต่อเข้าระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อเข้ารับการฟื้นฟู อาทิ การฝึกทำกายภาพบำบัด การฝึกพูด ฯลฯ ซึ่ง สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมรับหน้าที่ศึกษาวิจัยและฝึกอบรมเพื่อให้การวางระบบส่งต่อเป็นไปอย่างเหมาะสม และให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับบริการที่ตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด
การดำเนินการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิของคนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการ โดยแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ไม่เพียงแต่มีประโยชน์ต่อคนไทย ยังเป็นนวัตกรรมที่สามารถขยายไปเป็นบทเรียนของการจัดระบบสุขภาพโลก (Global health)
มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ได้มีการลงนามความร่วมมือกับ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization; ILO) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาความมั่นคงทางสังคมด้านสุขภาพ (หลักประกันสุขภาพ) ในระดับภูมิภาค (Connect) รวมทั้งร่วมกันพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่ทำงานเรื่องนี้ โดยขยายหลักสูตรระดับปริญญาโทสาธารณสุขมูลฐานมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ให้มีวิชาเลือกการจัดระบบบริการสาธารณสุข และการจัดระบบหลักประกันสุขภาพ
นอกจากนั้น สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยเชิงนโยบาย เช่นร่วมกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA: Japan International Cooperation Agency) และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประเมินผลการดำเนินการพัฒนาการดูแลระยะกลางในพื้นที่ 8 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น ชลบุรี นครราชสีมา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และนนทบุรี เพื่อสังเคราะห์บทเรียน และเสนอเป็นนโยบายในระดับประเทศต่อไป
ต่อจากนี้ไปเราจะได้เห็นบทบาท “ชุมชนเพื่อชุมชน” ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นจากระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งจะเป็นแกนขับเคลื่อนระบบสุขภาพของไทยให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพให้กับทุกครอบครัว ชุมชน รับผิดชอบช่วยจัดการส่งต่อ และดูแลต่อเนื่องกับระบบสุขภาพทุติยภูมิ และตติยภูมิ ซึ่งได้แก่โรงพยาบาลขนาดกลาง และขนาดใหญ่
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” สร้างองค์ความรู้ และเคียงข้างปวงชนชาวไทย ขอเพียงประชาชนให้ความเชื่อมั่น เราพร้อมทำให้ภาษีทุกบาททุกสตางค์ของประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมโอกาสในการเข้ารับบริการเพื่อสุขภาพดีถ้วนหน้าอย่างทั่วถึงและยั่งยืนตลอดไป
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210