ม.มหิดล บนเส้นทางรางวัลคุณภาพ

          บทพิสูจน์ของหนทางสู่การเป็นองค์กรที่มีคุณภาพ คือ การมุ่งมั่นพัฒนาผลการดำเนินงานให้ดีขึ้น ซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งการมีปัญญา โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ได้ยึดถือเป็นปณิธานอันแน่วแน่ในการพัฒนาคุณภาพขององค์กรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

          รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award) หรือ TQA คือ เป้าหมายหนึ่งของเหล่าบรรดาองค์กรชั้นนำของไทย ซึ่งเป็นบันไดขั้นสูงสุดที่ไต่ลำดับมาจาก Thailand Quality Class (TQC) และ Thailand Quality Class Plus (TQC Plus) มอบโดย สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อประกาศความเป็นเลิศในการบริหารจัดการองค์กร ด้วยเกณฑ์ “MBNQA” (The Malcolm Baldrige National Quality Award) รางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์โลก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบาย Thailand 4.0

          นับตั้งแต่ปี 2559 ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัล TQC เป็นคณะแรก ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถคว้ารางวัลจากการประเมินดังกล่าวด้วยมาตรฐานโลกมากที่สุดถึง 8 รางวัล โดยในปี 2564 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับรางวัล Thailand Quality Class Plus: Innovation (TQC Plus: Innovation) มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเทคนิคการแพทย์ ได้รับรางวัล Thailand Quality Class (TQC)

          รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ได้รับรางวัลมากที่สุดถึง 8 รางวัล คือ การยังคงมุ่งมั่นในวิสัยทัศน์ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอันดับโลก (World Class University) ตามยุทธศาสตร์ “Management for Self-Sufficiency and Sustainable Organization” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ใช้ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ ภายใต้เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) แห่งสหประชาชาติ

          ท่ามกลางกระแส Disruptive World และภาวะโรคระบาด COVID-19 การใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลจัดการกับความท้าทาย และอุปสรรคที่องค์กรต้องเผชิญได้ หนึ่งในกระบวนการที่สำคัญคือการประเมินและบริหารความเสี่ยงที่ดำเนินการในปีก่อนหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านระบบ IT ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่และวิทยาเขต ทำให้เมื่อเกิดภาวะวิกฤติ COVID-19 มหาวิทยาลัยสามารถรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างราบรื่นในทุกพันธกิจ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหาร และการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย รวมทั้งการปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ จัดระบบช่วยเหลือนักศึกษาและบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ ระบบการสื่อสารในภาวะวิกฤติ เพื่อสื่อสารถึงลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม และติดตามผลเพื่อให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในภาวะวิกฤติได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

          การได้รับรางวัลคุณภาพถือเป็น milestone สำคัญขององค์กร ที่ไม่เพียงนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ แต่ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหาร และบุคลากรจากทุกคณะ ที่ร่วมกันผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหิดล บรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งจะเป็นปลายทางสู่ความสำเร็จที่แท้จริง


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author