ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างประชากรในหลายประเทศได้เปลี่ยนแปลงไป โดยอัตราการเกิดลดลง และอายุคาดเฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น อิตาลี สเปน เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศไทย
การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยอย่างรวดเร็ว จะส่งผลกระทบต่างๆ มากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการจัดสรรทรัพยากร เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการย้ายถิ่นจะเป็นประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากสังคมสูงวัยของไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงสร้างประชากรไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยสัดส่วนประชากรวัยแรงงานกำลังลดลง แต่สัดส่วนประชากรสูงอายุได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และในอนาคตอันใกล้ ราวปี 2572 ประชากรไทยจะเริ่มลดลง ซึ่งจะทำให้ปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงานทวีความรุนแรงมากขึ้น จากปัจจุบันที่ประเทศไทยได้ “นำเข้าแรงงานข้ามชาติ” เพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนอยู่แล้วจำนวน 3-4 ล้านคน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์
อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เพื่อวางแนวทางเพื่อรองรับปัญหาการลดลงของประชากร ปัญหาขาดแคลน และตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม จึงได้ทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ริเริ่มโครงการวิจัย เรื่อง “การย้ายถิ่นระหว่างประเทศของไทย (International Migration in Thailand)
โดยมีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์การย้ายถิ่นของไทยภายหลังสถานการณ์ COVID-19 และกำหนดแนวนโยบายด้านการย้ายถิ่นที่เหมาะสม โดยครอบคลุมการย้ายถิ่นของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ นักศึกษานานาชาติ และผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติด้วย
“ในขณะที่ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดต่อไปในอนาคต คือ การขาดแคลนประชากรวัยแรงงาน ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยแรงงานที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นมากในระยะยาว คือ “แรงงานในภาคบริการ” และแรงงานประเภท “แรงงานทักษะสูง” ในอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ
เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 นั้น จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีระดับสูงควบคู่กันไปด้วย โดยคาดว่าประเทศไทยต้องการ “แรงงานทักษะสูง” ดังกล่าวไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนในช่วง 20 ปีข้างหน้า โดยส่วนหนึ่งจะมาจากแรงงานทักษะสูงต่างชาติ เนื่องจากเราไม่สามารถผลิตบุคลากรได้พอเพียง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ กล่าว
เป้าหมายสำคัญของการวิจัยนี้คือ การศึกษานโยบายการย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากร (Replacement Migration Policy) เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการลดลงของประชากรอันเนื่องมาจากสังคมสูงวัย (ageing society) และการปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
โดยกำหนดนโยบายวีซ่าระยะยาวที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดแรงงานข้ามชาติที่มีคุณสมบัติตามที่ประเทศไทยต้องการ และ ผลักดัน “มาตรการที่ยั่งยืน” ที่ครอบคลุมถึงสวัสดิการต่างๆ ที่จำเป็นต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานย้ายถิ่น การบูรณาการทางสังคม และการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ย้ายถิ่นด้วย
ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการเตรียมพร้อมมาตรการนำเข้าแรงงานย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากรของประเทศไทยว่า ควรกำหนดคุณสมบัติที่พึงประสงค์ และเป้าหมายที่ชัดเจนตามหลักอุปสงค์และอุปทานด้านแรงงาน ว่า ควรเป็นไปในลักษณะ จำนวนเท่าใด และมีวิธีการในการพิจารณาโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมอย่างไร เพื่อเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคต และชะลอผลกระทบจากปัญหาการลดลงของประชากรในระยะยาว
โครงการฯ คาดว่าผลจากการวิจัยนี้ จะทำให้กลุ่มผู้ย้ายถิ่นต่างๆ ทั้งแรงงานข้ามชาติ นักเรียนนักศึกษานานาชาติ รวมถึงผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติ หันมามองประเทศไทย ในฐานะ “บ้านที่ 2 อันอบอุ่น” และพร้อมเติบโตไปกับอนาคตที่สดใสของประเทศไทยร่วมกัน
ติดตามข่าวที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210