ม.มหิดล – QUT ออสเตรเลีย ร่วมวิจัยพัฒนากระบวนการวางแผนดูแลสุขภาพตัวเองล่วงหน้า (ACP) เชิงนโยบาย

เมื่อปี พ.ศ. 2545 องค์การอนามัยโลก (WHO – World Health Organization) ได้ให้คำนิยาม “การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง” (Palliative Care) ว่า เป็นการดูแลรักษาอาการที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณแบบเผชิญหน้า โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วย และครอบครัว ตั้งแต่เริ่มวินิจฉัย ไปจนกระทั่งเสียชีวิต รวมถึงการดูแลครอบครัวของผู้ป่วยหลังการสูญเสีย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวรรณ โภคพลากรณ์ อาจารย์ประจำโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงการจัดอันดับโลกการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง – ดัชนีการจากไปอย่างมีคุณค่า ปี พ.ศ. 2558 หรือเมื่อเกือบทศวรรษก่อน (The 2015 Quality of Death Index : Ranking palliative care across the world) โดย The Economist Intelligent Unit ซึ่งมีสำนักงาน 4 แห่งทั่วโลก ภายใต้ LIEN Foundation ว่าประเทศไทยมีการตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวเพียงปานกลาง

โดยประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 44 ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองของทั้งหมด 80 อันดับทั่วโลก ในขณะที่มีถึง 2 ประเทศในทวีปโอเชียเนีย ซึ่งได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย และราชอาณาจักรนิวซีแลนด์ ติด 2 ใน 3 อันดับแรก

มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านสุขภาวะของไทย ได้มีโครงการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ (QUT – Queensland University of Technology) เครือรัฐออสเตรเลีย ผ่านความร่วมมือจากโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้มีการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) สอดแทรกในวิชาการพยาบาลสำหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกระดับการศึกษา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวรรณ โภคพลากรณ์ มองว่าการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดถึงคุณภาพทางด้านการสาธารณสุขของประเทศ

โดยเป้าหมายโครงการวิจัยร่วมดังกล่าวมุ่งศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาสู่ระดับนโยบาย ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองเพื่อร่วมออกแบบ และพัฒนากระบวนการวางแผนดูแลสุขภาพตัวเองล่วงหน้า (ACP – Advance Care Planning) กับมหาวิทยาลัยในประเทศที่มีการตื่นตัวและพัฒนาสูงในด้านดังกล่าว ภายใต้โจทย์ 4 ด้าน คือ ความรู้ความเข้าใจ (Awareness) ทัศนคติ (Attitudes) ประสบการณ์ (Experiences) และความคาดหวัง (Expectation)

ซึ่งการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้สูงวัย แต่เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีความเสี่ยง โดยปัจจุบันพบว่า โรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) นับเป็นอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิต ซึ่งการวางแผนการดูแลสุขภาพตัวเองล่วงหน้า (ACP) สามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนโรคจะเกิดรุนแรงถึงระยะท้าย ซึ่งอาจสายเกินไปที่จะสามารถตัดสินใจเตรียมการดูแลด้วยตัวเอง

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author