วันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ซึ่งตรงกับวันที่ล่วงลับของหลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้คิดคนวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า โดยเป็นวันรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยจากโรคร้ายดังกล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระปณิธานที่จะป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า และลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวให้หมดไปจากประเทศไทย จึงได้ทรงริเริ่มโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า” โดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนองพระราชปณิธานจัดทำแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปีพ.ศ.2573 (ค.ศ.2030) ซึ่งผลจากการดำเนินงานทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเป็นอย่างมาก จนในปีพ.ศ.2563 นี้ พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยเพียง 2 รายเท่านั้น
นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 เป็นต้นมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ สัตวแพทยสภา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สัตวแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทย และ สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก World Rabies Day เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยจากโรคดังกล่าว
โดยในวันที่ 28 กันยายน 2563 กรมปศุสัตว์ เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกทางออนไลน์ ภายใต้คำขวัญ “End Rabies: Collaborate, Vaccinate” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวลาสินี ศักดิ์คำดวง คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงสันนิภา สุรทัตต์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัตวแพทย์หญิงมนชนก วิจารสรณ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์รุ่งโรจน์ โอสถานนนท์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสวนาเรื่อง “Rabies, Immunities and Practices” ทางเฟซบุ๊ก “วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก: World Rabies Day 2020”
รองศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวลาสินี ศักดิ์คำดวง คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จริงๆ แล้วเรบีส์ (Rabies) เกิดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ทุกชนิด ไม่จำกัดเฉพาะสุนัข ซึ่งหากคนถูกกัดและได้รับเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ตั้งแต่การรักษาแผลควบคู่ไปกับการใช้วัคซีนและเซรุ่ม ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้ โดยตนได้รับการแต่งตั้งจากสัตวแพทยสภาให้ดำรงตำแหน่งอนุคณะกรรมการและเลขานุการฯ จัดทำคู่มือเวชปฏิบัติเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies CRG) ตามโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า” ซึ่งเป็นโครงการตามพระปณิธานแห่ง ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
คู่มือเวชปฏิบัติเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies CRG) จัดทำขึ้นสำหรับให้สัตวแพทย์ที่ปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนต่างๆ ได้ยึดเป็นหลักการเบื้องต้นในการช่วยควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตามแนวทางปฎิบัติที่ได้มาตรฐานทางวิชาการ และปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้นำไปใช้ประกอบการแนะนำประชาชนที่เลี้ยงสัตว์ ผู้ถูกสุนัขกัด รวมทั้งผู้ที่สัมผัสสุนัขที่สงสัยว่าจะเป็นสุนัขบ้า ให้รู้แนวทางปฏิบัติเบื้องต้น ทั้งแก่ตนเอง และสุนัขที่เลี้ยงไว้ เพื่อป้องกันมีให้เกิดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า (คู่มือเวชปฏิบัติเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies CRG))
จากคำขวัญ “End Rabies: Collaborate, Vaccinate” รองศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวลาสินี ศักดิ์คำดวง คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย นอกจากความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีนแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การให้ความรู้เพื่อสร้างบรรทัดฐานในความเข้าใจโรคพิษสุนัขบ้าให้กับประชาชน นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญเรื่องการสร้างจิตสำนึกในการเลี้ยงสัตว์ด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งการไม่ทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงให้เป็นภาระสังคม และการควบคุมจำนวนประชากรสัตว์เลี้ยงจรจัด จะช่วยลดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าได้ “หากยังไม่สามารถควบคุมจำนวนสัตว์เลี้ยงจรจัดได้ ฉีดวัคซีนเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ”
โดยในปีพ.ศ. 2564 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นเจ้าภาพจัดงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก: World Rabies Day 2021 ต่อจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อขยายผลสู่นโยบายวางแผนรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าระดับชาติ โดยในงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกปีนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์อนุวัตน์ วิรัชสุดากุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข และประจำศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการแบบจำลองการระบาดและการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขประเทศไทย ได้ร่วมนำเสนอโครงการวิจัยซึ่งได้รับทุนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมีระยะเวลาแล้วเสร็จภายใน 2 ปี (พ.ศ. 2562 – 2564) โดยนักวิจัยจากสหสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้แก่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ดำเนินการวิจัยร่วมกับ กรมปศุสัตว์
โครงการวิจัยที่นำเสนอในงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก: World Rabies Day 2020 ได้แก่ “แบบจำลองการระบาดและการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขในประเทศไทย” “การวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ของมาตรการผ่าตัดทำหมันสุนัขเพื่อการควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า” “ความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของผู้เลี้ยงสุนัขในประเทศไทย” “การสร้างแบบจำลองทางสถิติเพื่อหาพื้นที่เสี่ยงของการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข” “การพัฒนาแบบจำลองคณิตศาสตร์และการดำเนินการเพื่อสร้างสถานการณ์จำลองการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในจังหวัดร้อยเอ็ด ในระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2562” และ “Mathematical modeling of dog dynamics and Interventions for rabies prevention and control in Thailand”
ติดตามกิจกรรมออนไลน์ที่น่าสนใจต่างๆ ของงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก: World Rabies Day 2020 ได้ทางเฟซบุ๊ก #WRD2020 #RABIES
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210