ม.มหิดลมั่นใจ RFS พร้อมมุ่งสู่ความเป็นเลิศบริการประชาชนด้านสิ่งสนับสนุนโรงพยาบาล

          อาคาร 9 ชั้นที่ตั้งตระหง่าน ณ บริเวณแยกตึกชัย ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ อยู่คู่คนไทยมานานกว่าทศวรรษ ภายใต้ชื่อพระราชทาน “ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์” คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการบริหารจัดการที่สามารถพลิกโฉมโรงพยาบาลของรัฐ สู่ศูนย์รวมวิทยาการทางการแพทย์ก้าวล้ำนำสมัยในปัจจุบัน ได้พิสูจน์แล้วถึงเป้าหมายสู่การเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคเอเชียว่าคงอยู่อีกไม่ไกล

          “RFS” (Ramathibodi Facility Services) หนึ่งในเบื้องหลังของการขับเคลื่อนสู่การบรรลุเป้าหมายแห่งการเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย โดยอยู่เคียงข้างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาพร้อมๆ กับการจัดตั้งศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนชาวไทย ด้วยศักยภาพด้านการเป็นผู้นำการบริหารสิ่งสนับสนุนโรงพยาบาลของประเทศ

          ศาสตราจารย์ นายแพทย์อร่าม โรจนสกุล อดีตผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการบริการ ประจำปี 2560 จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ RFS คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในอดีตการจัดการด้านสิ่งสนับสนุนโรงพยาบาลของคณะฯ ยังไม่ได้มาตรฐานสากล และพัฒนาไม่ทันกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ จากการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และการบริหารจัดการที่ขาดความคล่องตัว เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดตั้งบริษัท RFS ขึ้นเพื่อพัฒนางานด้านสิ่งสนับสนุนโรงพยาบาลสู่มาตรฐานสากล โดยมีคณะฯ เป็นผู้ถือหุ้น 100% ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาพยาบาลสู่ประชาชนมีคุณภาพและความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

          ปัจจุบัน RFS คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้นำด้านการจัดการและเป็นต้นแบบของประเทศในการพัฒนาระบบสิ่งสนับสนุนโรงพยาบาลที่เป็นมาตรฐานสากลอย่างยั่งยืนในด้านวิศวกรรมบริการ วิศวกรรมชีวการแพทย์ การบริการอาหารผู้ป่วย การจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโรงพยาบาล ระบบโลจิสติกส์ ศูนย์บริการลูกค้า การให้บริการอบรม สัมมนา และดูงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

          ในขณะที่ภารกิจและขอบเขตการให้บริการของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบันไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงการบริหารจัดการที่วิทยาเขตพญาไทเท่านั้น แต่ได้ขยายสู่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ และอยู่ระหว่างการจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ และโรงพยาบาลรามาธิบดี ย่านนวัตกรรมโยธีต่อไปอีกด้วย

          จึงนับเป็นภารกิจที่ท้าทายยิ่งของ RFS ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการจัดการด้านสิ่งสนับสนุนให้ทันต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในอนาคต

          ซึ่งเคล็ดลับสู่การบรรลุเป้าหมายของ RFS อยู่ที่การวางกรอบการพัฒนางาน เริ่มจากการวางระบบงานซึ่งในระยะแรกได้ว่าจ้างบริษัทผู้ดำเนินการสิ่งสนับสนุนโรงพยาบาลรายใหญ่จากยุโรปมาเป็นที่ปรึกษา และการนำมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบัน RFS สามารถผ่านการรับรองมาตรฐานสากลต่างๆ อาทิ ISO9001, ISO 14001, GMP & HACCP และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการรับรองมาตรฐาน ISO90001, ISO 50001, Advanced HA, JCI รวมทั้งการได้รับรางวัล TQC Innovation Plus ประจำปี 2564

          โดย RFS ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2564 และล่าสุดในปี 2565 ผ่านการรับรองมาตรฐานการจัดการเครื่องมือแพทย์ในระดับสากล Biomedical Engineering Certificate (BMEC) โดยสถาบัน ECRI (Emergency Care Research Institute)

          มั่นใจได้ว่า RFS คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันนี้เป็นได้มากกว่าการเป็นหน่วยงานสนับสนุนภารกิจของโรงพยาบาลของคณะฯ แต่พร้อมใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาตลอดระยะเวลา 10 ปี เพื่อยกระดับงานด้านสิ่งสนับสนุนโรงพยาบาลของประเทศ โดยการเผยแพร่ความรู้และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศผ่านช่องทางต่างๆ และกำลังจัดตั้ง “RFS Academy” เพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศด้านสิ่งสนับสนุนโรงพยาบาล เพื่อสร้างความเป็นเลิศด้านการดูแลสุขภาพในเวทีนานาชาติต่อไปอีกด้วย

          “การสร้างความเป็นเลิศทางด้านการรักษาพยาบาลจะต้องมุ่งเน้นที่ “ลูกค้า” ซึ่งได้แก่ประชาชนผู้มาใช้บริการ โดยบุคลากรของมหาวิทยาลัยร่วมกันประยุกต์ใช้ความรู้ความสามารถให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติสมดังปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล” ศาสตราจารย์ นายแพทย์อร่าม โรจนสกุล กล่าวทิ้งท้าย

          ติดตามบริการและรายละเอียดการดำเนินงานของ RFS คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.rfs.co.th และติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author