ม.มหิดล ค้นพบ “พืชจิ๋ว” บำบัดโลหะหนัก

          ในวันที่โลกร้อนระอุ จน “สีเขียว” เริ่มหายไปจากโลก ว่ากันว่า ถ้า “มอสส์” ซึ่งเป็นพืชขนาดเล็ก ไม่มีท่อลำเลียงที่เคยพบโดยทั่วไปในธรรมชาติสูญหายไปจากโลก อาจหมายถึง “หายนะ” ที่มีต่อโลกด้วยในที่สุด

          ด้วยการค้นพบครั้งแรก โดย โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงคุณสมบัติอันน่ามหัศจรรย์ของ “มอสส์ทองแดง” (Rare copper moss; Scopelophila cataractae) ซึ่งเป็นชนิดมอสส์หายาก ที่สามารถใช้ในการบำบัดโลหะหนัก เชื่อมั่นว่าจะสามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังช่วยต่อชีวิตมนุษย์ – ชีวิตโลกได้ต่อไป

          รองศาสตราจารย์ ดร.วีระเดช มีอินเกิด อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีเกษตรและสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงการค้นพบพืชจิ๋ว “มอสส์ทองแดง” ที่สามารถใช้ในการบำบัดโลหะหนัก จนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติหลายครั้งในเวลาต่อมาว่า ได้ค้นพบขณะลงพื้นที่ภาคสนามบริเวณน้ำตก – ลำธารวัดผาลาด ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย อาจารย์ ดร.นรินทร์ พรินทรากุล

          รองศาสตราจารย์ ดร.วีระเดช มีอินเกิด เล่าว่า ได้เก็บตัวอย่างมอสส์ทองแดงมาศึกษาต่อในห้องปฏิบัติการเพื่อดูโครงสร้าง และโอกาสการนำไปใช้ประโยชน์ โดยพบว่ามอสส์ทองแดง แม้จะจัดเป็น “พืชจิ๋ว” แต่ก็มีความทนทาน ปรับตัวได้ และสามารถใช้บำบัดโลหะหนักชนิดต่างๆ อาทิ ทองแดง และแคดเมียม เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้เป็นดัชนีชีวภาพเพื่อประเมินผลกระทบมลภาวะที่เกิดขึ้นจากมนุษย์

          เนื่องด้วยมอสส์ทองแดง มีโครงสร้างที่ไร้ผนังเคลือบเซลล์ จึงทำให้สามารถดูดดึงเอาโลหะหนัก สะสมเข้าไปเก็บไว้ในเซลล์ได้เป็นจำนวนมากถึงประมาณ 1 หมื่นมิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม (มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ซึ่งถือว่ามีศักยภาพสูงกว่าพืชที่มีขนาดใหญ่กว่า

          โดยทีมวิจัยยังดำเนินงานวิจัยเพื่อตรวจสอบศักยภาพของมอสส์อีกหลายชนิด ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งมีรายงานการปนเปื้อนแคดเมียม และสังกะสี เป็นระยะเวลาหลายสิบปี จากการสำรวจยังพบมอสส์ชนิด Bryum coronatum ที่สะสมปริมาณสังกะสีในเนื้อเยื่อมากกว่า 300,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ Philonotis thwitessii สะสมปริมาณแคดเมียมถึง 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเหมาะในการนำมาใช้เป็นพืชบำบัดโลหะหนัก และดัชนีชีวภาพได้

          นอกจากนี้ การค้นพบคริสต์มาสมอสส์ Christmas Moss (Vesicularia montagnei) ยังเป็นพืชจิ๋วที่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ โดยสามารถปลูกขยายพันธุ์ได้ในปริมาณมาก จึงสามารถนำมาใช้ตกแต่งอาคาร สถานที่ และน้ำตกเพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม โดยที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล โดย โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ ได้จัดบริการวิชาการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ประชาชนชาวนครสวรรค์ และผู้สนใจ ให้ได้เรียนรู้ถึงวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขยายพันธุ์ “พืชจิ๋ว” เพื่อสร้างรายได้ และความยั่งยืนให้แก่ชุมชน

          ก่อนที่ความหวังสุดท้ายของโลกจะหายไป เพียงร่วมสร้างพื้นที่สีเขียวทดแทนสิ่งที่ขาดหาย เชื่อว่าอนาคตของโลก อาจกอบกู้ได้จาก “พืชจิ๋ว”

          มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” มอบองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ และใช้ได้จริง พร้อมร่วมสร้างโลกสีเขียว คืนชีวิตให้กับธรรมชาติ เพื่อการดำรงอยู่ของทุกชีวิต

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author