โดย รวิศ ทัศคร
คุณเชื่อหรือไม่ว่าสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติอีกชิ้นหนึ่งนอกจากล้อรถก็คือมีดโกนนี่เอง
คนเรามีประวัติการโกนหนวดย้อนหลังไปยาวนานตั้งแต่สมัยยังเป็นมนุษย์ถ้ำ โดยภาพวาดโดยมนุษย์ถ้ำเมื่อราวสามหมื่นปีก่อนคริสตกาลนั้น มักจะวาดคนที่ไม่มีหนวดเคราบนใบหน้า สันนิษฐานว่าคนยุคนั้นอาจโกนหรือกำจัดขนที่ไม่ต้องการโดยใช้เปลือกหอยกาบแทนแหนบ หรือใช้ใบมีดที่ทำจากหินเหล็กไฟ ซึ่งในยุคหลังจากนั้นในราวสามพันปีก่อนคริสตกาลพบว่าในอินเดียและอียิปต์มีการใช้ใบมีดโกนที่ทำจากทองแดง โดยชนชั้นสูงในอียิปต์จะโกนศีรษะและขนตามร่างกาย เนื่องจากสภาพภูมิอากาศร้อนและเพื่อไม่ให้ติดเหา อย่างไรก็ตามบุรุษก็มักจะสวมเคราปลอมในความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเทพโอซิริสมีเครา บางครั้งก็พบว่ามีสตรีใส่เคราเทียมนี้ด้วย
ในยุคของชาวโรมัน 400–300 ปีก่อนคริสตกาล วัยรุ่นชาวโรมันจะจัดงานเลี้ยงฉลองการโกนหนวดครั้งแรกของพวกเขา โดยยึดเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่ และมีการแลกของขวัญกันด้วย แต่เหตุผลสำคัญประการหนึ่งในการโกนหนวดเคราของชาวโรมันก็คือ เป็นการป้องกันมิให้ข้าศึกคว้าจับได้ในการต่อสู้ในศึกสงคราม โดยอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นผู้โกนหนวดเคราจนเกลี้ยง และยังสนับสนุนให้เหล่าทหารหาญของเขาทำเช่นเดียวกันด้วย อย่างไรก็ตามทัศนคติของชาวโรมันต่อการไว้หนวดเคราก็เปลี่ยนแปลงไปมาตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของพวกเขา บางช่วงจักรพรรดิบางพระองค์ก็รื้อฟื้นการไว้หนวด อย่างจักรพรรดิเฮเดรียนเป็นต้น
สำหรับใบมีดโกนสมัยใหม่ขึ้นมาจากช่วงยุคโบราณนั้น มีประวัติช่วงต้นว่ามีการผลิตใบมีดโกนเหล็กกล้าแบบใบตรง (straight razor) ขึ้นในเมืองเชฟฟิลด์ (Sheffield) ประเทศอังกฤษในยุค 1680 ถึงต้น 1690 (ราว พ.ศ. 2223-2233) ซึ่งได้รับความนิยมจนมีการนำไปขายในเมืองท่าต่างๆ ในอ่าวฟินแลนด์ ที่อยู่ห่างออกไปจากแหล่งผลิตในเมืองเชฟฟิลด์มากถึงเกือบสองพันกิโลเมตร และไปถึงรัสเซียด้วยเลยทีเดียว
แต่คุณภาพเหล็กใบมีดที่สมบูรณ์แบบยังไม่เกิดขึ้นจนถึงปี พ.ศ. 2283 เบนจามิน ฮันส์แมน (Benjamin Huntsman) ได้ปรับปรุบใบมีดโกนแบบใบตรงให้คุณภาพสูงขึ้นอีกระดับด้วยการตกแต่งด้ามจับอย่างสวยงาม และทำส่วนใบมีดทรงเว้าข้าง (hollow ground blade) วัสดุทำจากเหล็กกล้าหล่อโดยกระบวนการขึ้นรูปด้วยเบ้าหลอมแบบพิเศษที่เขาคิดค้นขึ้นเอง ได้รับการเรียกชื่อว่า Sheffield silver steel ซึ่งเหมาะสมที่สุดในการใช้ทำเป็นวัสดุใบมีดโกน
ใบมีดโกนแบบใบตรงนั้นได้รับความนิยมอย่างมากเป็นเวลากว่าสองร้อยปี นับจากที่เริ่มใช้งานในปี พ.ศ. 2223 จนกระทั่งช่วงหลังจึงเสื่อมความนิยมลงไปเมื่อมีการผลิตใบมีดโกนแบบใบมีดนิรภัยออกมา แต่ก็ยังนิยมใช้กันอยู่จนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ในยุคทศวรรษ 1950 (ราว พ.ศ. 2493) และในประเทศไทยช่างตัดผมก็ยังนิยมใช้กันอยู่จนถึงช่วงปลายยุค 1980 (ราว พ.ศ. 2523) ก่อนจะลดความนิยมลงไปเปลี่ยนเป็นใบมีดนิรภัยแบบเปลี่ยนใบมีดได้ในที่สุด
ภาพทรงหน้าตัดของใบมีดแบบต่างๆ ในอดีต
ที่มา : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Sword_cross_section.jpg
สำหรับใบมีดโกนชนิดนิรภัยซึ่งมีความปลอดภัยต่อการโกนหนวดมากขึ้นโดยไม่ฝากรอยแผลเอาไว้บนใบหน้าท่านชายนั้น เชื่อว่าผู้ได้รับเกียรติในการออกแบบใบมีดโกนที่ปลอดภัยในการโกนหนวดคือช่างตัดผมชาวฝรั่งเศส ฌ็อง-ฌัก แปร์เร (Jean-Jacques Perret) ได้ประดิษฐ์ซองประกับไม้เพื่อหุ้มใบมีดโกนแบบพับได้ขึ้นในปี พ.ศ. 2305 โดยมีส่วนของใบมีดโผล่ออกมาจากซองไม้เพียงเล็กน้อย ช่วยกันไม่ให้ผู้ใช้งานเฉือนเนื้อตัวเองติดไปกับใบมีดได้ง่ายนักในขณะโกนหนวด ในปี พ.ศ. 2312 เขายังได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ ‘La pogonotomie, ou L’art d’apprendre a se raser soi-meme’ หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า The Art of Learning to Shave Oneself และเล่มต่อมาคือ L’Art du Coutelier หรือ The Art of the Cutler ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2314 เขาได้เขียนอธิบายวิธีโกนหนวดเอาไว้อย่างละเอียดลออ และได้รับชื่อเสียงโด่งดังจากนั้นเป็นต้นมา เขายังได้ทำซองประกับไม้ที่ออกแบบเองขึ้นมาขายอีกด้วยแต่ไม่ได้จดสิทธิบัตรเอาไว้ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2330 เมอซีเยอเลอเตียง (Monsieur Lethien) แห่งปารีสได้ผลิตใบมีดที่ชื่อ Rasiermesser à rabot ออกมาจำหน่าย โดยออกแบบตามแนวคิดของแปร์เรนั่นเอง
QR code แบบใบมีดโกนที่ออกแบบโดย Jean Jacques Perret, มีดโกนพับได้ friedlische Rasiermesser ต้นกำเนิดของใบมีดโกนชนิดนิรภัยหรือ safety razor ทั้งหลาย, ใบมีดโกนชนิด hoe guard razor ของ William Samuel Henson และใบมีดโกนแบบอื่นๆ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2342 บริษัท Harwood & Co ในประเทศอังกฤษได้ผลิตใบมีดโกนพับได้ ที่เปิดออกจากฝักมีดที่เป็นด้ามจับ ตัวใบมีดจะมีลักษณะเป็นใบที่ติดกับโครง หรือ frame-blade ซึ่งถอดเปลี่ยนได้ มีดโกนนี้นำเข้าไปขายในเมืองไลพ์ซิก (Leipzig) ประเทศเยอรมนี ภายใต้ชื่อ friedlische Rasiermesser (pacific razor) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี้ใบมีดโกนประเภทใบตรงได้รับความนิยมมาก โดยบรรดาสุภาพบุรุษหรือบุรุษที่ไม่สุภาพก็ตาม จะต้องถูลับใบมีดกับแถบหนังหรือผ้าใบหยาบก่อการโกนหนวดแต่ละครั้ง วิธีการนี้มีมาถึงยุคปัจจุบัน ในร้านตัดผมบางร้านยังคงใช้วิธีแบบคลาสสิกแบบนี้อยู่
ในปี พ.ศ. 2390 วิลเลียม ซามูเอล เฮนสัน (William Samuel Henson) วิศวกรและนักประดิษฐ์ที่ทำงานในอุตสาหกรรมผลิตผ้าลูกไม้ และเป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้บุกเบิกเทคโนโลยีการบินก่อนยุคพี่น้องตระกูลไรท์ จากมณฑลซัมเมอร์เซต ในประเทศอังกฤษ ได้ยื่นจดสิทธิบัตรตัวครอบที่ปิดกันส่วนใบมีด โดยตัวครอบนี้ลักษณะเหมือนซี่ฟันหวี (comb tooth guard) ซึ่งสามารถถอดประกอบได้ สำหรับใช้กับมีดโกนพับและมีดโกนอื่นๆ ที่มีตัวครอบแบบเดียวกัน ส่วนด้ามจับจะยึดกับตัวใบมีดโดยหมุนตามเกลียวของรูที่อยู่ตรงกลางใบมีดเข้ามา ดูรูปทรงเหมือนกับจอบ (hoe) มีดโกนแบบนี้จึงเป็นสิทธิบัตรแรกของมีดโกนชนิด hoe-type guard razor
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมีดโกน กับการมาถึงของบริษัทจิลเลตต์ (The Gillete company)
ในปี พ.ศ. 2438 คิง แคมป์ จิลเลตต์ (King Camp Gillette) (หรือ ยิลเลตต์ ที่เราได้ยินกันจนติดหู) ได้เกิดความคิดหนึ่งขึ้นมาขณะที่เขากำลังลับใบมีดโกนแบบใบตรงอยู่ว่าน่าจะประดิษฐ์ใบมีดบางๆ ที่มีคมสองด้านหนีบเอาไว้ระหว่างแผ่นที่คีบสองแผ่น และยึดให้อยู่กับที่ด้วยด้ามจับรูปตัว T หากมันทื่อ แทนที่ผู้คนจะต้องนำมีดไปลับเรื่อยๆ ตามร้านตัดผมหรือมีแถบหนังสำหรับลับมีดที่บ้าน ก็จะได้เปลี่ยนใบมีดโยนทิ้งไปเลย ซึ่งด้วยสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ การถูลับคมใบมีดกับแถบสายหนังและผ้าใบจะไม่จำเป็นอีกต่อไป
King Camp Gilllette กับใบมีดโกนนิรภัยแบบเปลี่ยนใบมีดทิ้งที่เขาจดสิทธิบัตร
ที่มา :
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?title=File:King_Camp_Gillette.jpg&oldid=462947552
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?title=File:Gillette_razor_patent.png&oldid=511804899
แต่จิลเลตต์ไม่มีพื้นความรู้ด้านโลหะวิทยา เขามีเพียงไอเดียในหัวเท่านั้น และเก็บไอเดียนี้เอาไว้กว่า 6 ปี จนกระทั่งได้มาพับกับ วิลเลียม เอเมอลีย์ นิกเกอร์สัน (William Emery Nickerson) วิศวกรจาก MIT มาช่วยคิดพัฒนาวิธีการผลิตใบมีดจำนวนมากจากแผ่นโลหะที่ใช้เป็นวัตถุดิบ พวกเขาได้ร่วมกันตั้งบริษัท American Safety Razor ในปี พ.ศ. 2444 และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Gillette Safety Razor ในปี พ.ศ. 2445 อย่างไรก็ตามการผลิตยังมีปัญหาทางเทคนิคอยู่ กว่าพวกเขาจะเริ่มขายสินค้าที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ได้ก็เป็นช่วงปลายปี พ.ศ. 2446 ซึ่งขายมีดโกนได้ 51 อัน และขายใบมีดได้ 168 ใบเท่านั้น แต่พวกเขาได้จดสิทธิบัตรมันในปี พ.ศ. 2447 หลังจากขายมีดโกนได้ 90,884 อัน และขายใบมีดโกนได้ถึง 123,648 ใบ ยอดขายที่บูมขนาดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่จิลเลตต์อาศัยแผนการตลาดแบบแจกที่โกนหนวดให้ไปฟรีๆ เพื่อให้ลูกค้าที่ได้ไปอยากได้ใบมีดเพิ่มเมื่อใบมีดที่แถมไปให้นั้นทื่อ ยอดขายยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จิลเลตต์ได้เพิ่มกำลังการผลิตจนช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2447 บริษัทผลิตด้ามมีดโกนได้กว่า 90,000 ด้าม และใบมีดกว่า 12,400,000 ใบ ซึ่งสต็อกสินค้านี้ก็จำหน่ายได้พอดีในปี พ.ศ. 2448 ปีนั้นพวกเขาขายด้ามจับมีดโกนได้อีก 90,000 ด้าม และขายใบมีดได้ 10 ล้านใบ จวบจนในปี พ.ศ. 2458 บริษัทเติบโตจนขายที่โกนหนวดได้ถึง 450,000 อัน และขายใบมีดโกนได้ว่า 70 ล้านใบ !
…เจ้าตลาดมีดโกนของโลกยุคใหม่เกิดแล้วในที่สุด…
หลัง พ.ศ. 2473 ผู้ก่อตั้งอย่างตัวจิลเลตต์เองก็วางมือจากบริษัท หลังเกือบล้มละลายในช่วงเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของอเมริกา และเสียชีวิตไปในปี พ.ศ. 2475 บริษัทก็ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่หลายปี จนสถานการณ์ดีขึ้นในปี พ.ศ. 2482 และเติบโตกลับขึ้นมาได้ จนบริษัทสามารถซื้อกิจการผลิตภัณฑ์อื่นมาควบรวมได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ เช่น ปากกาลูกลื่น Paper Mate, ที่โกนหนวดไฟฟ้า Braun, แปรงสีฟัน Oral-B, น้ำยาลบคำผิด Liquid Paper, ปากกาพรีเมียมยี่ห้อ Parker, ไปจนถึงถ่านไฟฉายอัลคาไลน์ Duracell จนในที่สุดกลุ่มธุรกิจนี้ทั้งหมดก็มีการควบรวมกับเครือ P&G ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา แต่แม้จะเป็นแบรนด์ย่อยในกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ จิลเลตต์ก็ยังคงอยู่ในแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกในโลก โดยในปี พ.ศ. 2562 ถือเป็นอันดับ 4 ด้วยมูลค่าแบรนด์ถึง 8143 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มีดโกนหนวดไฟฟ้ากับการมาถึงของบริษัท Schick คู่แข่งลำดับสองของจิลเลตต์
บริษัท Schick ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2469 โดย เจคอบ ชิก (Jacob Schick) ผู้ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งมีดโกนหนวดไฟฟ้า เขาเกิดแนวคิดดัดแปลงกลไกการป้อนกระสุนของปืนเล็กยาวแบบยิงซ้ำ (repeating rifle) มาใช้กับการเปลี่ยนใบมีดโกน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 หลังจากพัฒนาสำเร็จ เขาจึงได้นำเอาระบบเปลี่ยนใบมีดแบบใบเดี่ยวที่อยู่ในซองคลิปแมกกาซีนเข้ามาใช้กับมีดโกนหนวด ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่แล้วชิกก็ขายบริษัททิ้งในปี พ.ศ. 2471 เพื่อเริ่มบริษัทใหม่ พร้อมวางตลาดที่โกนหนวดไฟฟ้าที่เขาคิดขึ้นภายหลังแทน โดยจดสิทธิบัตรเครื่องโกนหนวดไฟฟ้าเครื่องแรกของโลกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ในปีเดียวกันนั้นเอง หลังจากนั้นมีดโกนหนวดไฟฟ้าก็เปิดตัวจำหน่ายในปี พ.ศ. 2474 เขาขายมีดโกนไฟฟ้าได้ถึง 1 ล้านเครื่องภายในสองปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเขาเป็นนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ทำธุรกิจได้ไม่ดีนัก ทำให้ถูกตามตัวโดยหน่วยงานเก็บภาษีของรัฐ จนต้องเผ่นหนีไปแคนาดาในปี พ.ศ. 2478 เขาหลบหนีจากการถูกตามล่าเนื่องจากการทำธุรกิจที่หลบเลี่ยงภาษีและเสียชีวิตหลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2480 ด้วยโรคปอดบวม
อย่างไรก็ตามบริษัท Schick ก็เติบโตต่อมา จนในยุค 1970 (ราว พ.ศ. 2513) ก็กลายเป็นแผนกหนึ่งในเครือ Warner-Lambert จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2543 เมื่อบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ได้ซื้อ Warner-Lambert รวมถึงบริษัทลูกต่างๆ มีดโกน Schick ก็ไปอยู่ใต้ไฟเซอร์อยู่ 3 ปี จวบจนบริษัทผลิตแบตเตอรี่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Energizer Holdings, Inc. ซื้อ Schick มาจากไฟเซอร์ในปี พ.ศ. 2546 จนในที่สุดนับจากปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา เมื่อเอเนอร์ไจเซอร์แตกออกเป็นสองบริษัท แบรนด์ Schick ก็ตกอยู่ภายใต้บริษัท Edgewell Personal Care และคงเป็นแบรนด์หนึ่งในยักษ์ใหญ่สองเจ้าที่ครองตลาดมีดโกนในตลาดโลก ตีคู่กับจิลเลตต์มาจนถึงปัจจุบัน
ระบบเปลี่ยนใบมีดที่ Schick ประดิษฐ์สำหรับใช้เปลี่ยนใบมีด เป็นซองคลิปแมกกาซีนที่บรรจุใบมีดไว้ถึง 20 ใบ เปลี่ยนใบได้โดยดึงและดันตรงหัวของด้ามมีดโกน กลไกในแมกกาซีนจะดีดใบมีดเดิมทิ้งและเติมใบมีดใหม่เข้าอย่างง่ายดาย
ที่มา : Popular Mechanic Magazine ใน Google Books https://bit.ly/3oLbTw4
เครื่องโกนหนวดไฟฟ้าของ Jacob Schick
ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Jacob_Schick#/media/File:Schick_20_electric_shaver_1953_ad.jpg
ในปัจจุบันใบมีดโกนผลิตโดยเริ่มจากกระบวนการบีบอัด (pressing) สเตนเลสด้วยเครื่องอัด วัสดุสเตนเลสมีโครเมียมเป็นส่วนประกอบทำให้เป็นสนิมได้ยาก และมีคาร์บอนอยู่ในปริมาณเล็กน้อยเพื่อให้ใบมีดมีความแข็ง รีดจนเป็นแผ่นสเตนเลสบางประมาณ 0.1 มิลลิเมตร เป็นแถบคล้ายกับเทป และหลังจากใช้เครื่องอัดเพื่อเจาะรูก็จะม้วนเก็บไว้ เครื่องสามารถอัดใบมีดโกนออกมาได้กว่า 500 ชิ้นต่อนาที หลังจากรีดเสร็จแล้ว สเตนเลสอาจจะยังบิดงอเบี้ยวได้อยู่ จึงนำไปชุบแข็งโดยให้ความร้อนในเตาเผาที่ 1,000 องศาเซลเซียส (หรือในช่วง 1,075-1,120 องศาเซลเซียส) จากนั้นจึงทำให้เย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว และทำให้เย็นอีกครั้งที่ -80 องศาเซลเซียส (หรือในช่วง -60 ถึง -80 องศาเซลเซียส) แล้วจึงอบร้อนซ้ำเพื่อบ่มเนื้อเหล็กที่อุณหภูมิราว 250-400 องศาเซลเซียส ทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและหักยากขึ้น จากนั้นจะถูกลับคมใบมีดด้วยหินลับแบบหยาบ และลับให้คมขึ้นด้วยหินลับแบบละเอียด ซึ่งมุมลับและเทคนิคในการลับนั้นเป็นความรู้ความชำนาญเฉพาะของกิจการแต่ละแห่ง จากนั้นจะเป็นขั้นของการขัดคมด้วยวัสดุที่ทำจากหนังปศุสัตว์ เพื่อขัดขอบขรุขระเล็กจิ๋วที่เหลืออยู่ให้เรียบคม ทำให้ได้คมมีดที่มีความบางในระดับไมครอน มีรูปร่างสมบูรณ์แบบในการใช้โกนหนวดขั้นตอนการผลิตใบมีดโกน
คมมีดจะได้รับการตรวจสอบคุณภาพโดยนำแผ่นใบมีดจำนวนมากมาซ้อนกันจนเหมือนสำรับไพ่ โดยหงายคมมีดขึ้นส่องกับแสง หากใบมีดคมดีจะไม่สะท้อนแสงและจะปรากฏเหมือนสีดำ หากมีจุดที่สะท้อนแสงแสดงว่าไม่มีมุมคมที่ดีพอและเป็นผลิตภัณฑ์ที่บกพร่อง
หลังจากตรวจสอบคมมีดแล้ว จะนำใบมีดไปเคลือบด้วยฟิล์มโลหะที่มีความแข็งสูง ซึ่งอาจมีส่วนประกอบเป็นแพลทินัม โครเมียม ทังสเตน เพื่อให้ไม่เสียคมได้ง่าย และทำให้ปลายมีดเป็นสนิมได้ยาก จากนั้นก็เคลือบเพิ่มเติมด้วยเรซินฟลูออรีนเพื่อให้ลื่นเมื่อสัมผัสผิวหนัง การเคลือบสองชั้นนี้จะช่วยเสริมความคมและความทนทานให้แก่ใบมีด
จากนั้นจะฉีดขึ้นรูปส่วนของด้ามจับที่เป็นพลาสติกในพิมพ์ แล้วจึงประกอบส่วนของหัวมีดโกน เติมแถบเรซินหล่อลื่นที่ละลายน้ำได้ไว้บนส่วนหัวใบมีด เพื่อทำให้ใบมีดโกนเคลื่อนที่ได้อย่างเรียบลื่นเมื่อโกนไปบนผิวหนัง ก่อนจะนำไปประกอบกับส่วนด้ามจับ และแบ่งบรรจุ เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ
สแกน QR code เพื่อรับชมขั้นตอนกระบวนการผลิตใบมีดโกนในปัจจุบัน
กว่าจะมาเป็นมีดโกนที่คุณผู้อ่านใช้อยู่ทุกวัน มีดโกนก็เดินทางมาไกลหลายพันปี นับจากยุคแรกเริ่มอารยธรรมมนุษย์ มันก็อยู่คู่กับคนเรามาตลอด ช่างเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่น่าทึ่งชิ้นหนึ่งทีเดียว
แหล่งข้อมูล :
- https://en.wikipedia.org/wiki/Straight_razor
- https://th.wikipedia.org/wiki/คิง_แคมป์_ยิลเล็ตต์
- https://www.shaveworld.org/images/PerrettKampfe-rev2.html
- https://hmong.in.th/wiki/Razor
- https://bespokeunit.com/shaving/safety-razor/types/
- https://www.britannica.com/biography/King-Camp-Gillette
- https://www2.mtec.or.th/th/e-magazine/admin/upload/240_15-19-edit.pdf
- https://marketeeronline.co/archives/118888
- https://moneyweek.com/355143/6-november-1928-jacob-schick-patents-the-first-electric-razor
- https://en.wikipedia.org/wiki/Schick_(razors)#cite_note-2
- https://www.madehow.com/Volume-5/Safety-Razor.html
- https://www.kai-group.com/global/en/kai-factory/process/razor/