ยกระดับ “เสื่อกก” สู่ “สินค้า GI” ชิ้นแรกของ จ.อำนาจเจริญ

          ปัจจุบัน ภายใต้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และการสร้างสรรค์เทคโนโลยีจาก โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมผลักดันให้ “เสื่อกก” กลายเป็น “สินค้า GI (Geographical Indication) ชิ้นแรกของจังหวัดอำนาจเจริญ” ซึ่งแสดงถึง “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” ที่จะทำให้เมืองไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในสายตาของชาวโลก

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทยา แก้วศรี หัวหน้าสำนักวิจัยและบริการวิชาการ และอาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความสำคัญของ “ต้นกก” ซึ่งจัดเป็น “วัชพืช” ที่สามารถพบได้โดยทั่วไปตามริมหนองน้ำ ในทางอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ “บำบัดน้ำเสีย” เพื่อการเป็น “โรงงานสีเขียว”

          สำหรับความเป็นมาของ “เสื่อกก” ที่โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล – จังหวัดอำนาจเจริญ กำลังผลักดันให้เป็น “สินค้า GI” ชิ้นแรกของจังหวัด นับเป็นสินค้าซึ่งสะท้อนถึงค่านิยมทางวัฒนธรรมของชาวอีสาน แทน “ของฝาก” อันอบอุ่นและแสดงการต้อนรับเกือบเทียบเท่าการ “ผูกผ้าขาวม้า” แด่แขกผู้มาเยือนซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ

          โดยชาวอีสานนิยมมอบเสื่อให้แก่กัน เนื่องด้วยตั้งแต่สมัยโบราณนิยมสร้างบ้านกันโดยใช้ไม้ไผ่มาปูแผ่เป็นพื้นเรือนซึ่งมีความเรียบที่ไม่เสมอกัน จำเป็นต้องใช้เสื่อปูรองก่อนนอน-นั่ง

          จาก “วัชพืช” ที่ขึ้นตามริมห้วยหนองคลองบึง ปัจจุบันได้กลายเป็น “พืชเศรษฐกิจ” สำคัญที่เพิ่มมูลค่าให้กับชาวจังหวัดอำนาจเจริญ โดยเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต “เสื่อกก” ซึ่งมั่นใจได้ถึง “ความแข็งแรงทนทาน” มีอายุการใช้งานนานกว่าเสื่อที่ทำจากวัสดุธรรมชาติโดยทั่วไป โดยได้ผ่านการทดสอบแล้วด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และรับรองจากห้องปฏิบัติการ ดำเนินการโดยโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล

          จากการเปรียบเทียบความแข็งแรงของตัวอย่างเส้นกกที่ผ่านกระบวนการตากแห้ง และเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม – กรกฎาคม) จาก 2 แหล่ง คือ จังหวัดอำนาจเจริญ และกกจากภาคตะวันออกพบว่า ตัวอย่างเส้นกกจากจังหวัดอำนาจเจริญมีความแข็งแรง โดยทดสอบ “ความทนต่อแรงกดทับ” ผ่าน “เครื่องวัดลักษณะเนื้อสัมผัส” (Texture Analyzer) SMS รุ่น TA.XT Plus ได้ค่าเฉลี่ย 18,006.66 กรัม มากกว่าตัวอย่างที่นำมาเปรียบเทียบ ซึ่งมีความแข็งแรงโดยเฉลี่ย 9,494.05 กรัม หรือมีความทนทานกว่าประมาณสองเท่า

          เสื่อกกที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอำนาจเจริญมีมากมายจากหลายตำบล จากการสำรวจนำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทยา แก้วศรี ที่ได้นำทีมลงพื้นที่ร่วมกับคณะทำงานระดับจังหวัดที่ผ่านมาได้ค้นพบหนึ่งในผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อ ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้มาเยือน มาจาก “เสื่อกกบ้านนาหมอม้า”

          โดยคณะทำงานโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้นำในการจัดทำข้อมูลเพื่อการขอรับรอง GI ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะใช้ความเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้ “ภูมิปัญญาอันล้ำค่า” ที่มีอยู่แล้วของชาวชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ยกระดับสู่การเป็น “สินค้า GI ชิ้นแรก” ที่จะทำให้ชาวจังหวัดอำนาจเจริญได้ภาคภูมิใจ จากการที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มภาคภูมิ

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author