คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Engineering) ผู้นำวิศวกรรมศาสตร์และวิจัยบูรณาการซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานโลก จาก ABET สหรัฐอเมริกา นำโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี ขับเคลื่อนความร่วมมือกับ จอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University: JHU) มหาวิทยาลัยดังของโลก ภายใต้โครงการ Reinventing University: Mahidol Medical Robotics Platform
โดยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสัมมนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ พร้อมทั้งหารือความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนาแลกเปลี่ยนบุคลากร โดยมี ศ.รัสเซล เทย์เลอร์ (Russell Taylor) ผู้อำนวยการศูนย์หุ่นยนต์ทางการแพทย์ LCSR และคณาจารย์ ประกอบด้วย ศ.หลุยส์ วิทคอมบ์ (Louis Whitcomb) ศ.ปีเตอร์ คัสซันซิเดส (Peter Kazanzides) ศ.จูเลียน ไอออดาชิตา (Julian Iordachita) ศ.แอกเซล ไครเกอร์ (Axel Krieger) และ ศ.จิน ซอบ คิม (Jin Seob Kim) ณ ศูนย์วิจัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์ LCSR มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เมื่อ 19 ปีก่อน ตนเองเคยศึกษาปริญญาเอกด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) แห่งนี้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีประวัติการก่อตั้งมากว่า 146 ปี โดยมีบทบาทสำคัญในโลกวิทยาการและเป็นเสาหลักในการต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 อันเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก การเดินทางมามหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทย-สหรัฐ โดยได้รับเชิญให้มาบรรยายในหัวข้อ Medical Robotics เรื่อง Toward Medical Robotics Industry at Mahidol University ซึ่งมีนักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์และผู้สนใจเข้าร่วมงาน
นับเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ในการก่อตั้งและพัฒนาศูนย์เครือข่ายวิจัยหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ BATH LAB แห่งแรกในประเทศไทยและวิจัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญในการช่วยแพทย์ผ่าตัด เพิ่มประสิทธิภาพต่อการบำบัดรักษาผู้ป่วย การติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วย และพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมอุปกรณ์การแพทย์ในการฝ่าฟันอุปสรรคช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 เพื่อคุณภาพชีวิต และระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง สามารถช่วยป้องกันการสูญเสียชีวิตของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์
นอกจากนี้ ยังมุ่งมองถึงภารกิจในระยะยาวของการพัฒนาศูนย์วิจัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์ในประเทศไทย ที่จะเป็นระบบนิเวศสำคัญในการบ่มเพาะบุคลากรของประเทศ ยกระดับดิจิทัลเฮลแคร์ในยุค 5G-6G และส่งเสริมอุตสาหกรรมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงมากขึ้นและได้มีส่วนร่วมเป็นพลังในการดูแลป้องกันสุขภาพเชิงรุก
ในโอกาสนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้เยี่ยมชมนวัตกรรมและประชุมหารือความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับ มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ เพื่อการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษา พัฒนาโครงการวิจัยร่วมกัน ซึ่งจอนส์ ฮอปกินส์ นับเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยวิจัยขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงโดดเด่นในด้านการแพทย์ วิศวกรรมชีวการแพทย์ สาธารณสุข และ การพยาบาล รวมถึงมีสถาบันชั้นนำระดับโลกในสาขาอื่นด้วย อาทิ สถาบันการดนตรีพีบอดี และสถาบันศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกทั้งเป็นมหาวิทยาลัยที่ครองอันดับ 1 ด้านการทุ่มเทงบประมาณการวิจัยและพัฒนาในสาขาวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ มาเป็นเวลา 30 ปี ต่อเนื่องกันและเป็นสถาบันที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก