วันที่ 1 กันยายน 2564 ถือเป็น “วันดีเดย์” ที่เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ควบคุมโรคระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้กลับมามีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านมาต้องหยุดชะงักกันไปนานพอสมควร
ซึ่งตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาชาติ ข้อที่ 2 ที่ว่าด้วยการขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของประชาชน รัฐจึงได้มีการประกาศพ.ร.บ.ผ่อนผันการให้บริการของธุรกิจร้านอาหาร และการบริการในบางประเภท ให้สามารถเปิดบริการได้ตามข้อกำหนด เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อให้เศรษฐกิจไทยได้เดินหน้าต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงเสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความห่วงใยถึงความพร้อมของนโยบายที่จะรองรับสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 และเรียนรู้จากปัญหาของการจัดการการระบาดในระลอกที่ผ่านมา ซึ่งมีสถานการณ์ที่รุนแรง พบมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยสูงมาก จนต้องปิดกิจการจำนวนมากเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น อัตราการตรวจเชื้อที่ต่ำ ทำให้ไม่รู้เท่าทันต่ออัตราการระบาดที่แท้จริง การทำกิจกรรมต่างๆ โดยไม่มีมาตรการป้องกันที่เพียงพอ ส่งผลให้การระบาดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายลักลอบผ่านชายแดนเข้ามาทำงานในไทยจำนวนมาก ทำให้เกิดเชื้อไวรัส COVID-19 กลายพันธุ์จากต่างแดนระบาดจนยากต่อการควบคุม
ปัญหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการกำหนดนโยบายบนฐานของ “ความคิดเชิงระบบ” ที่ควรจะต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างรัดกุมในทุกด้านในการคลายล็อกกิจการ และกิจกรรมต่างๆ ซึ่งบทเรียนจากการระบาดรอบที่ผ่านมาทำให้ไทยจำเป็นต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างรอบด้าน เพื่อควบคุมการระบาดไม่ให้แพร่กระจายซ้ำรอยวิกฤติที่ผ่านมา
ซึ่งวัคซีนชนิดที่เท่าทัน มีความจำเป็นต่อการป้องกันโรค COVID-19 เนื่องจากการระบาดเกิดขึ้นทั่วโลก ในขณะที่กำลังการผลิตวัคซีนไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทันที การจัดหาวัคซีนจึงต้องมีการวางแผนไปข้างหน้า โดยคำนึงถึง “จำนวน” และ “ช่วงเวลา” ที่วัคซีนจะมาถึง “ชนิด” และ “ความหลากหลาย” ของวัคซีนที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันสูงต่อเชื้อกลายพันธุ์ รวมไปถึง “การคาดประมาณอัตราการระบาดเพิ่ม” ของเชื้อกลายพันธุ์แต่ละสายพันธุ์
นอกจากการให้ประชาชนจำนวนมากได้เข้ารับการฉีดวัคซีนจนเกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” แล้ว จำเป็นต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล ตลอดจนมาตรการของธุรกิจและกิจการต่างๆ ในการป้องกันการติดเชื้อที่เคร่งครัด ทั้งในเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ และการรักษาระยะห่าง ฯลฯ
นอกจากนี้ ควรให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ใช่ว่าจะมีภูมิคุ้มกันในทันที แต่จะต้องรักษาระยะห่างจนกว่าจะฉีดครบ 2 เข็ม และหลังจากนั้นประมาณอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ร่างกายจึงจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคได้ นอกจากนี้ วัคซีนบางชนิดอาจยังไม่สามารถป้องกันครอบคลุมเชื้อไวรัส COVID-19 กลายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาด ดังนั้นจึงไม่ควรประมาท
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงเสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ ได้กล่าวทิ้งท้ายโดยเชื่อว่า ด้วยประสบการณ์จากวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา จะทำให้ประชาชนได้ทั้ง “รู้เท่าทันโรค” และ “รู้เท่าทันโลก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รู้จักที่จะพึ่งพาและดูแลตัวเอง เพื่อให้ห่างไกลจาก COVID-19 ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เราจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หากไม่มีการเตรียมพร้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ภาพประกอบออกแบบโดย
วิไล กสิโสภา
นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210