ผลักดันศูนย์วิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวมนุษย์

ด้วยหลักชีวกลศาสตร์ ทำให้โลกได้เรียนรู้ถึงศาสตร์แห่งการเคลื่อนไหวของมนุษย์ตามแนวทางแห่งธรรมชาติ โดยศึกษาเรียนรู้ใน 2 ส่วนหลัก คือเรื่องของคิเนติกส์ (ศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องแรงที่เป็นเหตุให้เกิดการเคลื่อนไหว) และคิเนมาติกส์ (ศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวจากผลของแรง)

จนได้มาสู่การวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมการเคลื่อนไหวของมนุษย์ทุกช่วงวัย เพื่อประโยชน์ในการตรวจประเมิน รักษา บำบัด และฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ตามแนวทางแห่งการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวมนุษย์” (Research and Innovation Center of Human Movement Sciences (RICHms) คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2567 ที่จะถึงนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กภ.คมศักดิ์ สินสุรินทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความพร้อมในการเปิด “ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวมนุษย์” ของคณะฯ ว่าเริ่มขึ้นจากการได้รับทุนวิจัยและมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับโลก

ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) มหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas) และ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นคาลิฟอร์เนีย (University of Southern California) สหรัฐอเมริกา (Nanyang Technological University) ร่วมด้วยมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลแลงคาเชียร์ (University of Central Lancashire) สหราชอาณาจักร

โดยเริ่มกิจกรรมภายใต้ศูนย์วิจัยตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยทุนเริ่มต้นจากโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ด้านเครื่องมือแพทย์ (Medical Devices) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

จากผลงานเด่นชิ้นแรก “นวัตกรรมอุปกรณ์ดาม (Splint) เพิ่มคุณค่าและต้นทุนต่ำจากเทอร์โมพลาสติก“ ที่สร้างสรรค์ผลงานระหว่างทีมนักวิจัยกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด และนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการร่วมบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่าง 2 ส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ RICHms และศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง (RTEC)

ต่อมาได้ขยายผลสู่ผลงานวิจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง อาทิ งานวิจัยเพื่อศึกษาและพัฒนาการจัดการทางกายภาพบำบัดเพื่อแก้ปัญหาด้านการเคลื่อนไหวของผู้สูงวัยที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเป็นปัญหาทางสุขภาพที่พบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุ

ตลอดจนคณะมีทีมคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ทำงานและศึกษาวิจัยในกลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ เช่น การศึกษาการเดินในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก เป็นต้น

อีกทั้งยังมีการวิจัยเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงจากการบาดเจ็บของระบบกระดูก และกล้ามเนื้อ ในกลุ่มคนวัยทำงานและในนักกีฬา การออกแบบโปรแกรมกายภาพบำบัดเพื่อการฝึกร่วมกับการใช้เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS – Transcranial Magnetic Stimulation) หรือไฟฟ้ากระแสตรง (tDCS – Transcranial direct current stimulation) รวมถึงการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูในเด็กสมองพิการ (Cerebral Palsy) ที่มีความผิดปกติทางสมองส่งผลให้มีปัญหาการเคลื่อนไหวและท่าทาง ให้มีพัฒนาการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น

และเมื่อเร็วๆ นี้ได้พัฒนางานวิจัยโดยใช้หลักชีวกลศาสตร์วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของโขน ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ขั้นสูงของไทยที่มีการเคลื่อนไหวเฉพาะ เพื่อพัฒนาการฝึก และวิเคราะห์ความเสี่ยงการบาดเจ็บของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่มักเกิดขึ้น อีกทั้งการประยุกต์ใช้เป็นท่าเพื่อการออกกำลังกายและฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยบางกลุ่มที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต

ตลอดเวลาที่ผ่านมา คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ขึ้นชื่อว่าเป็น “ผู้นำ” ของประเทศ ในการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการที่ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์เพื่อพัฒนานักกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง ในฐานะวิชาชีพที่ดูแลปัญหาสุขภาพด้านระบบการเคลื่อนไหว (movement system) เป็นหลัก

เชื่อมั่นว่าการเปิดตัวของศูนย์วิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวมนุษย์ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อไปนี้ จะพลิกโฉมประเทศไทย ด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ไม่เพียงพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย แต่เพื่อมวลมนุษยชาติได้ต่อไปในอนาคต

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ภาพจาก คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author