หุ่นจำลองช่วยฝึกการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินทำจากยางพารา

เรียบเรียงโดย
อาทิตย์ ลมูลปลั่ง


นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. พัฒนาหุ่นจำลองร่างกายมนุษย์ทำจากยางพารา เพื่อใช้ฝึกการทำ CPR (การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน) เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน พร้อมจอแสดงผลการฝึก ช่วยให้ผู้ฝึกปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อันเนื่องจากเหตุฉุกเฉินไม่คาดคิดเกิดได้กับทุกชีวิต ซึ่งหลายคนอาจมีประสบการณ์นาทีชีวิตจากวิกฤติสุขภาพของตนเอง หรือประสบอยู่ในเสี้ยวนาทีชี้เป็นชี้ตายของผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งแรกที่ต้องมีก่อนทำการใดๆ ก็คือ ‘มีสติ’ แล้วโทรศัพท์แจ้งหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน 1669

แต่กระนั้นระหว่างรอหน่วยกู้ชีพฯ ผู้อยู่ในเหตุการณ์จำเป็นต้องเข้าไปเช็กสภาพผู้ป่วยโดยเขย่าตัวเรียกผู้ป่วยที่นอนหมดสติ หากไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองเสียงเรียกและมีภาวะหัวใจหยุดเต้นด้วยแล้ว เราจำเป็นต้องช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) โดยเร็ว โดยขั้นตอนการทำซีพีอาร์นั้น ประกอบไปด้วยการกดหน้าอก การเป่าปากช่วยหายใจ เพื่อให้หัวใจปล่อยเลือดออกไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งหากมีการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัติโนมัติหรือเครื่องเออีดี- AED (ใช้ได้กับผู้ที่อายุเกิน 8 ปีขึ้นไป) ควบคู่กันด้วย ก็จะช่วยรักษาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจได้ด้วย

ทั้งนี้ตามหลักการแพทย์ระบุว่า หากสมองคนเราถ้าขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเกินกว่า 4 นาที จะมีผลทำให้เกิดการสูญเสียของเซลล์สมองบางส่วนไปได้อย่างถาวร แม้หัวใจจะสามารถกลับมาเต้นใหม่ได้ในภายหลัง แต่สมองส่วนที่เสียไปแล้วจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถฟื้นคืนสติกลับมาได้สมบูรณ์ดังเดิมอีก ดังนั้น การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานหรือซีพีอาร์ จึงถือเป็นหนึ่งวิธีการที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี การฝึกฝนเพื่อทำซีพีอาร์แบบเดิมๆ ต้องใช้วิธีการฝึกฝนบ่อยครั้งจนเกิดความชำนาญ เพราะนอกจากแรงกดที่ต้องสม่ำเสมอแล้ว จังหวะในการกดนวดหัวใจ ก็ยังมีเทคนิคที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจส่งผลให้การช่วยฟื้นคืนชีพทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ดังนั้น เพื่อให้การฝึกช่วยชีวิตผู้มีภาวะหยุดหายใจทำได้ง่ายขึ้น นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติเอ็มเทค (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  จึงได้ออกแบบอุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกับหุ่นจำลองฝึกการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่ผลิตจากยางพารา ซึ่งสามารถแสดง “สมรรถนะของผู้ฝึก” ผ่านจอแสดงผลขณะฝึก ช่วยให้ผู้ฝึกเห็นข้อมูลได้ทันที  

ดร.ทิพย์จักร ณ ลำปาง กำลังอธิบายการทำงานของเครื่อง AED

ดร. ทิพย์จักร ณ ลำปาง หัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีน้ำยาง หน่วยวิจัยยาง เอ็มเทค เปิดเผยว่า เอ็มเทคได้ร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา และคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พัฒนาอุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกับหุ่นฝึกช่วยชีวิตผลิตจากยางพาราที่มีฟังก์ชันอุปกรณ์แสดงข้อมูลขณะฝึก รวมทั้งพัฒนาเครื่องฝึกการใช้งานเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าแบบสาธิต (เออีดี : AED Training) ผลงานนี้ได้จัดแสดงในงาน ASEAN Federation of Cardiology Congress (AFCC 2018) เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องมาตรฐานการช่วยชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและญาติ รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน

นวัตกรรมเครื่อง AED

ดร. ทิพย์จักร กล่าวว่า เนื่องจากการช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้มีการหายใจกลับคืนสู่สภาพเดิมได้นั้น วิธีการคือ การผายปอดและการนวดหัวใจ แต่หากทำการนวดหัวใจโดยไม่มีความรู้และไม่ได้ผ่านการฝึกฝน จะทำให้การช่วยชีวิตไม่ได้ผลเท่าที่ควร หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือได้ ดังนั้นเพื่อส่งเสริมการสอนการช่วยชีวิตที่ได้มาตรฐาน เอ็มเทค และเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา จึงได้ร่วมมือกับ คณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต พัฒนาหุ่นจำลองสำหรับการฝึกช่วยฟื้นคืนชีพที่ทำจากยางพารา หุ่นจำลองมีสัมผัสนุ่มคล้ายร่างกายมนุษย์ มีราคาถูกกว่าหุ่นที่นำเข้าจากต่างประเทศราว 3-7 เท่า อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศอีกด้วย

“เอ็มเทค สวทช. เป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ยังได้คิดค้นพัฒนาชุดอุปกรณ์ตรวจจับระยะที่ถูกต้องแม่นยำ และแสดงข้อมูลระยะลึกของการกดขณะฝึกนวดหัวใจสำหรับใช้งานร่วมกับหุ่นฝึกช่วยชีวิตผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งจอแสดงข้อมูลสรุปหลังจากการฝึกในแต่ละครั้งด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฝึกช่วยฟื้นคืนชีพ โดยผู้ฝึกสามารถรับทราบข้อมูลที่สำคัญต่างๆ เช่น ความลึกและอัตราเร็วในการนวดหัวใจ ทำให้สามารถตอบสนองและปรับปรุงการนวดหัวใจในระหว่างการฝึกได้ ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวได้รับคำแนะนำการใช้งานให้เหมาะสมกับการฝึกสอนจริงจากคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต”

พร้อมกันนี้ทีมวิจัยเอ็มเทค ยังได้ออกแบบ “อุปกรณ์ช่วยฝึกการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ” เพื่อช่วยฝึกการใช้งานและทแทนเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศ

“เอ็มเทคได้พัฒนาเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติแบบสาธิต (AED) พร้อมด้วยแผ่นอิเล็กโทรดที่ใช้สำหรับสาธิตที่มีราคาย่อมเยา เพื่อทดแทนการนำเข้าเครื่องจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงกว่า 2-5 เท่า ซึ่งได้รับการแนะนำขั้นตอนการใช้งาน (AED Training) จากคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต เพื่อใช้ในการฝึกอบรมจริงในหลักสูตรการช่วยชีวิต โดยเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติแบบสาธิตเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่สามารถใช้ช่วยฝึกสอนการใช้งานเครื่อง AED ของจริงที่มีหน้าที่วิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจและสามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวอย่างเป็นจังหวะ หรือช็อกกล้ามเนื้อหัวใจที่สั่นพลิ้วให้หยุดสั่นแล้วกลับมาทำงานปกติอีกครั้ง ซึ่งอุปกรณ์นี้อยู่ระหว่างขอจดสิทธิบัตรและขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อให้แพทย์ พยาบาล ผู้ฝึกช่วยชีวิตและประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงนวัตกรรมจากฝีมือคนไทย” ดร. ทิพย์จักร กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่าง เอ็มเทค สวทช. เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา และคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต ถือเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาออกแบบโครงสร้างเชิงวิศวกรรมและนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกอบรมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้จักและเข้าถึงการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนเกิดความเข้าใจวิธีการที่ถูกต้องในการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ในภาวะวิกฤติได้เป็นอย่างดี


10 ขั้นตอนง่ายๆ ช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR)

  1. เมื่อพบคนหมดสติ ให้ตรวจดูความปลอดภัย ก่อนเช้าไปช่วยเหลือ เช่น ระวังอุบัติเหตุ ไฟช็อต หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ
  2. ปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงที่ดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง หากผู้ป่วยรู้สึกตัว หายใจเองได้ ให้จัดท่านอนตะแคง แต่หากยังไม่หายใจ ให้ทำตามขั้นตอนต่อไป
  3. โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 พร้อมกับน้ำเครื่องเออีดีมา
  4. ประเมินผู้ป่วย หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ให้ทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพทันที
  5. ช่วยเหลือฟื้นคืนชีพด้วยการกดหน้าอก จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอก ด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที
  6. หากมีเครื่องเออีดี ให้เปิดเครื่อง ถอดเสื้อผู้ป่วยออก
  7. ติดแผ่นเออีดี หรือแผ่นนำไฟฟ้าบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย และห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย
  8. ปฏิบัติตามที่เครื่องเออีดีแนะนำ คือ หากเครื่องสั่งให้ช็อกไฟฟ้าให้กดปุ่มช็อก และทำการกดหน้าอกหลังทำการช็อกทันที แต่หากเครื่องไม่สั่งช็อก ให้ทำการกดหน้าอกต่อไป
  9. กดหน้าอกต่อเนื่อง ทำ CPR และปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่องเออีดี จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง 1
  10. ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพยาบาล

เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดและปลอดภัย

อ้างอิงข้อมูล: สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

About Author