ปิยพร เศรษฐศิริไพบูลย์
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร
“เราต้องรู้ว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร และต้องลงลึกไปทิศทางไหน ถ้าไม่รู้ เราก็พัฒนาไปไม่ได้” ประโยคที่บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นในการทำงานของ ณฐนนท เจริญรมย์ ผู้จัดการบริษัทสไมล์ รับเบอร์ จำกัด และผู้ประกอบการเกษตร โดยมี “ที่นอนปุ่มยางพารา” สินค้าเพื่อสุขภาพที่ได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรม ปี พ.ศ. 2566 เป็นหนึ่งผลลัพธ์ที่สะท้อนประโยคข้างต้นได้ดี
ทำเกษตรไม่รวยแต่ไม่จน มีกินมีใช้ คำพูดของพ่อที่เป็นทั้งผู้ใหญ่บ้านเนินสว่างและเป็นเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง มะพร้าว สับปะรดและอ้อย ก่อนเปลี่ยนมาทำสวนยางพาราทั้งหมดเมื่อปี พ.ศ. 2543 และส่งยางแผ่นเข้าโรงงาน ปัจจุบันพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของบ้านเนินสว่าง อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นสวนยางพารา ชาวบ้านส่วนใหญ่รับจ้างกรีดยาง
หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านบริหารการตลาดและกำลังจะไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ณฐนนทต้องเปลี่ยนเส้นทางมุ่งสู่บ้านเกิดเพื่อดูแลธุรกิจยางพาราของครอบครัว หลังจากที่พ่อล้มเจ็บและจากไป พร้อม ๆ กับสานต่อปณิธานของพ่อที่ต้องการพัฒนาให้บ้านเนินสว่างมีความเจริญ เมื่อได้คลุกคลีกับยางพาราทั้งต้นน้ำและกลางน้ำ รับรู้ถึงปัญหารายได้ของชาวบ้าน ทำให้เธอตั้งเป้าหมายที่จะตั้งราคารับซื้อน้ำยางเองและแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มยางพารา
“ช่วงนั้นมีข่าวต้นยางที่เวียดนามติดโรคเสียหายหนัก เราก็คิดว่าถ้าเกิดที่ไทย เราจะเอาอะไรกิน เพราะเรามีแต่สวนยาง จากที่เราขายยางแผ่นเข้าโรงงานแปรรูปไปทำเป็นรองเท้า ก็คิดว่าแล้วทำไมเราไม่ทำเอง”
‘ตุ๊กตานวดมือ’ เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราชิ้นแรกของณฐนนท โดยมี ตติยา เจริญรมย์ น้องสาวที่ร่วมปลุกปั้นความฝัน ร่วมหาข้อมูลและเรียนรู้การแปรรูปยางจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานยางของรัฐอยู่นานปี และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยวิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง เพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และเป็นรายได้เสริมจากที่รับจ้างกรีดยางเป็นหลัก
จากตุ๊กตานวดมือขยับมาเป็น ‘เบาะนั่งสมาธิ’ ที่ระบายอากาศได้ดี ค่าความยืดหยุ่นสูง และมีรูปทรงที่รองรับการนั่ง ต่างจากเบาะนั่งสมาธิทั่วไปที่เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมและด้านในเป็นฟองน้ำ
“เราเห็นช่องว่างทางการตลาด ก็ลองมาใช้ยางพารา ทำแล้วก็ทดลองนั่งเองและให้พระที่วัดในพื้นที่ทดลองใช้ด้วย ผลตอบรับดี ก็ผลิตขายผ่านออนไลน์ ได้ลูกค้าจากทั่วโลกและได้ฟีดแบ็กที่ทำให้เราพัฒนาดิไซน์ต่าง ๆ สินค้านี้โตไปได้อย่างไม่คาดคิด”
เมื่อตลาดตอบรับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา ณฐนนทจึงต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกหลายแบบโดยเจาะกลุ่มตลาดสุขภาพ เช่น เบาะรองนั่งและพนักพิงหลัง หมอนรองคอลดปวดคอบ่าไหล่ เบาะนอนตะแคง เบาะพลิกตัวผู้ป่วย ที่นอนปุ่มยางพารา โดยมีตติยารับหน้าที่ด้านการตลาด จำหน่ายภายใต้แบรนด์สินค้า ‘ParaRaksa (พารารักษา)’ ที่สื่อถึงรักในธรรมชาติของยางพารา รักสามัคคีในชุมชน รักและห่วงใยสุขภาพของลูกค้า
“ที่นอนเราไม่ใช่ป้องกัน แต่แก้ปัญหา” ณฐนนทพูดถึงผลิตภัณฑ์ที่นอนปุ่มยางพาราที่เธอและทีมงานทุ่มเทพัฒนาขึ้น โดยสูตรน้ำยางที่นำมาขึ้นรูปที่นอนยางพาราผ่านการศึกษาข้อมูลและทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย รวมถึงการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่สหรัฐอเมริกา
“ยางปุ่มเป็นนวัตกรรมที่เราคิดขึ้นมาเอง ช่วยกระจายแรงกดทับ ช่วยการพลิกตัวได้ง่ายขึ้นสำหรับคนป่วยที่เป็นแผลกดทับหรือผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยมีแรงพยุงตัวเอง และเนื้อยางพารายังกระจายความร้อนได้ดี เดิมเราใช้ปุ่มใหญ่ขนาดเดียวเรียงเท่ากัน แต่จากการทดสอบใช้งานพบว่าไม่ช่วยเรื่องการพลิกตัวนัก เราจึงพัฒนาปุ่มเล็กเพิ่มเข้าไป เมื่อพลิกตัวแล้วมีปุ่มเล็กมารองรับ ทำให้ขยับตัวได้ง่ายขึ้น”
จากข้อมูลการศึกษาที่นอนของผู้ป่วยติดเตียงต้องมีค่ากระจายแรงกดทับไม่เกิน 60 มิลลิเมตรปรอทจะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีและไม่เกิดแผลกดทับ ณฐนนทจึงต้องการทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อยืนยันว่าที่นอนปุ่มยางพาราของเธอสามารถแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยแผลกดทับได้ และนั่นทำให้เธอมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งใน Top Smart New Gen ภายใต้โครงการความร่วมมือของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. และ ธ.ก.ส.
“เราหาข้อมูลแล้วไม่มีที่ไหนรับวิเคราะห์ มีแต่เครื่องมือที่ผลิตขายในฝรั่งเศส ซึ่งเราไม่มีเงินซื้อเครื่อง เราจึงต้องการเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อให้ได้บริการวิเคราะห์ทดสอบ”
หลังเข้าร่วมโครงการฯ ไม่เพียงได้เติมเต็มความรู้ด้านการตลาด การคิดต้นทุน รวมไปถึงการสร้างแบรนด์ หากณฐนนทยังได้รับสนับสนุนบริการวิเคราะห์ทดสอบแรงกดทับสำหรับที่นอนยางพาราเพื่อป้องกันแผลกดทับตามที่ตั้งใจไว้ “ผลค่าแรงกดทับจากแล็บของ สวทช. ทำให้เรานำไปใช้แปลค่าต่อได้ ถ้าไม่ร่วมโครงการนี้และไม่ได้เจ้าหน้าที่ สท. ช่วยเต็มที่ เราก็ไม่ได้ผลตัวนี้ออกมา”
หลังได้ผลทดสอบที่สร้างความเชื่อมั่นให้ณฐนนทสามารถการันตีคุณภาพของที่นอนปุ่มยางพารา เธอได้รับคำแนะนำให้ยื่นขึ้นบัญชีนวัตกรรม ซึ่งเป็นโอกาสให้เธอขยายตลาดไปสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศได้ด้วยการรับรองทั้งคุณภาพและราคา ณฐนนทใช้เวลาดำเนินงานร่วมปีจนที่นอนปุ่มยางพารา (bubble latex mattress) ได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมรหัส 14000059 ปี พ.ศ. 2566
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราของ ParaRaksa ใช้การขึ้นรูปด้วยมือ (handmade) และเป็นการจ้างงานคนในพื้นที่ เช่นเดียวกับตำแหน่งงานในสายการผลิตและการตลาดที่ณฐนนทจ้างงานในชุมชนร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้เธอยังได้จัดตั้ง “สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่าง จำกัด” รับซื้อน้ำยางจากชาวสวน ด้วยเป้าหมายที่จะกำหนดราคารับซื้อได้เอง ชาวบ้านไม่ต้องขายน้ำยางพาราผ่านพ่อค้าคนกลาง รายได้ร้อยละ 1 ของบริษัทฯ จะนำเข้าสหกรณ์ฯ เพื่อดูแลสมาชิกและเป็นทุนที่จะทำให้เป้าหมายตั้งราคารับซื้อได้เองเป็นจริง
“ตอนนี้เราซื้อน้ำยางแพงกว่ารายอื่น จะพอใจแค่นี้ก็ได้ แต่เราตั้งไว้อีก 2 ปี ถ้าการตลาดของบริษัทฯ เป็นไปตามเป้า สหกรณ์ฯ จะตั้งราคารับซื้อได้เอง”
การเกิดขึ้นของวิสาหกิจชุมชน บริษัท และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่าง จำกัด โดยมี “ยางพารา” เป็นตัวเชื่อมโยง จากวัตถุดิบต้นน้ำสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อสุขภาพ เกิดการส่งต่อและคืนกลับรายได้สู่ชาวบ้าน ก่อร่างสร้างความเจริญให้บ้านเนินสว่าง จึงสะท้อนประโยคที่ว่า “เราต้องรู้ว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร และต้องลงลึกไปทิศทางไหน ถ้าไม่รู้ เราก็พัฒนาไปไม่ได้” ได้อย่างดี
ที่มา: หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย, สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, 2567.