พยาบาลมหิดล แนะ “วาเลนไทน์นี้ รักปลอดภัย…ไร้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์”

อ.ดร.ทิวาภรณ์ เฉลิมพิชัย
อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


          วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันแห่งความรัก” เทศกาลซึ่งวัยหนุ่มสาวโดยเฉพาะวัยรุ่น มักมีการแสดงออกถึงความรักความปรารถนาดีที่มีต่อกัน วันนี้ถือเป็นวันหนึ่งที่วัยรุ่นให้ความสำคัญมาก อาจมีการมอบดอกกุหลาบ ช็อคโกแลต หรือของขวัญต่างๆ ให้แก่กัน อีกเรื่องหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า วัยรุ่นมักจะกล่าวอ้างว่าเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความรัก คือ การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันหรือในช่วงวัยรุ่น มักจะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ได้แก่ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม หรือการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เช่น การติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ ซิฟิลิส หนองใน หูดหงอนไก่ เริม เป็นต้น

          อ.ดร.ทิวาภรณ์ เฉลิมพิชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง สถิติของสถานการณ์การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในประเทศไทย จากรายงานการเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า แนวโน้มอัตราการป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มสูงขึ้น โดยมีสาเหตุจาก 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคแผลริมอ่อน กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง และโรคซิฟิลิส  โดยในปี พ.ศ. 2564 อัตราการป่วยคิดเป็น 41.97 ต่อประชากรแสนคน  โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ โรคซิฟิลิส มีอัตราป่วยที่สูงขึ้น คิดเป็น 14.83 ต่อประชากรแสนคน พบมากที่สุดในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี และในปี 2564 มีอัตราการป่วยด้วยโรคซิฟิลิสเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 2 เท่า


อ.ดร.ทิวาภรณ์ เฉลิมพิชัย
อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือการมีคู่นอนหลายคน ค่านิยมที่ผิดของวัยรุ่น เช่น การอวดการมีเพศสัมพันธ์กัน การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ไม่ใส่ถุงยางอนามัย หรือการใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกวิธี รวมถึง การเจาะหรือสักตามร่างกาย การดื่มสุราของมึนเมา ทำให้ขาดสติมีโอกาสเพลี่ยงพล้ำได้ง่ายกว่าปกติ เป็นต้น จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้เราสามารถพบผู้ป่วยที่มีอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้มากขึ้น โดยข้อสังเกตหากสงสัยว่า เรามีการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ภายหลังจากที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หากมีอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้ได้แก่ เจ็บหรือแสบขัดขณะถ่ายปัสสาวะ มีผื่น คัน แผล ฝี หรือหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ ขาหนีบบวมแดง หรือตกขาวผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ เนื่องจากภายหลังการติดเชื้อในระยะแรกๆ มักพบอาการผิดปกติและหายไป แต่เชื้อยังคงแฝงอยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการ เช่น เอชไอวี/เอดส์ หรือซิฟิลิส เชื้อเหล่านี้สามารถติดต่อไปยังคู่สมรส หรือคู่นอนได้ ในกรณีของสตรีที่ตั้งครรภ์ เชื้อสามารถถ่ายทอดจากมารดาสู่ทารกในครรภ์และก่อให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตแก่ทารกในครรภ์ได้หากไม่ได้รับการรักษา

          อ.ดร.ทิวาภรณ์ เฉลิมพิชัย แนะวัยรุ่นในวันวาเลนไทน์นี้ ให้รักตัวเอง เลี่ยงการไปในสถานที่ลับตา หลีกเลี่ยงการไปอยู่กับคนแปลกหน้า หรือคนที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และอีกหนึ่งวิธี คือ กล้าที่จะเจรจาต่อรอง ป้องกันตนเอง ให้สามารถหลุดพ้นจากสถานการณ์คับขัน สิ่งสำคัญหากเลี่ยงไม่ได้ วิธีที่ป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ คือ การใช้ถุงยางอนามัย โดยควรศึกษาวิธีการใส่ให้ถูกต้อง และตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป สปสช.สนับสนุนบริการถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ จะได้รับถุงยางอนามัยครั้งละ 10 ชิ้นต่อสัปดาห์ สามารถลงทะเบียนผ่านแอพเป๋าตัง

          ท้ายสุดนี้ หากท่านใดมีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรืออยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างไรให้ถูกวิธี สามารถสอบถามได้จากทาง Facebook Fanpage : Lady’s Talk คุยเฟื่องเรื่องหญิง  ซึ่งจะมีคณาจารย์ จากภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมให้คำแนะนำและคอยตอบคำถามจากทุกคน

About Author