สาระวิทย์ในศิลป์ ตอนที่ 10: “STARGAZING EXPEDITION” Day 4

          ฉบับนี้จะเป็นกิจกรรมที่ 4 ของสัปดาห์ดูดาวของฉันและเพื่อนๆ ที่เวลส์!

          วันนี้ฉันกับเพื่อนๆ และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานดูดาวได้เดินทางไปที่ใจกลางเมืองคาร์ดิฟฟ์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเวลส์ พวกเรากำลังจะไปไขความลับเรื่อง “เวลา” ปัญหาใกล้ตัวระดับจักรวาลกัน!


ภาพเมืองคาร์ดิฟฟ์ที่ฉันถ่ายในระหว่างทางก่อนถึงมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์

          พอฉันรู้ข่าวจากกลุ่ม Cardiff Astronomical Society ว่าทางสมาคมดาราศาสตร์ของเมืองคาร์ดิฟฟ์ และคณะดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ได้จัดการบรรยายเกี่ยวกับทฤษฎี spacetime ฉันก็รีบจัดแจงเขียนจดหมายติดต่อขอนำคณะเพื่อนๆ และคุณครูไปเข้าร่วมฟัง ทางมหาวิทยาลัยแปลกใจอย่างมาก เพราะงานนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาค่ำหลังเลิกงาน สำหรับสมาชิกอาวุโสของสมาคมดูดาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้รู้ในสาขาที่แตกต่างกันไป

          แต่มีความสนใจในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสายวิชาดาราศาสตร์ ฉันจึงได้แต่หวังว่าพวกเราจะเข้าร่วมฟังการบรรยายด้วยความสนุกสนาน และฉันสัญญากับตัวเองว่าฉันจะนั่งฟังจนจบการบรรยายโดยไม่มึนไปเสียก่อน! และนี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้ไปมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์

          พวกเราหลงอยู่นานกว่าจะหาห้องบรรยายเจอ เมื่อเปิดประตูเข้าไปก็เป็นไปตามที่รู้ล่วงหน้าคือทุกคนที่นั่งในห้องเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยเกษียณอายุแล้วทั้งนั้น ฉันรู้สึกดี และอยากให้มีบรรยากาศเช่นนี้บ่อยๆ สถานที่ที่ผู้อาวุโสมากประสบการณ์ ต่างพื้นฐานความรู้แต่มีความสนใจในวิทยาศาสตร์เหมือนกัน สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนสนทนาเรื่องราวภายใต้ข้อกำหนดเดียวกัน คือการรับฟังอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน

          โดยพื้นฐานความรู้ในเรื่อง spacetime แล้วฉันมีเพียงน้อยนิด แต่ด้วยความสนใจและต้องการที่จะเข้าใจ ฉันเองจึงมาเพื่อรับฟัง และเมื่อการบรรยายเริ่มขึ้นทุกคนในห้องก็ตั้งใจฟัง “การบรรยายเรื่อง Time in the Past, Present and Future บรรยายโดย ศาสตราจารย์ Fay Dowker ผู้สอนรายวิชาฟิสิกส์เชิงทฤษฎีประจำมหาวิทยาลัย Imperial College London, UK”

          ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาหลัก ฉันขอบอกไว้ก่อนว่า สำหรับฉันเนื้อหาของการบรรยายค่อนข้างจะยากและเจาะลึกเฉพาะทาง ฉันจึงขอออกตัวก่อนว่าต่อไปนี้จะเป็นการจับประเด็นเนื้อหาการบรรยายตามความเข้าใจของฉันบนพื้นฐานความรู้ที่ฉันมี จึงมีจินตนาการผสานวิชาการ ตามสไตล์เด็กสายวิทย์ผสมศิลป์ เป้าหมายเพื่อความเพลิดเพลินสำหรับผู้อ่าน

          หากผู้อ่านท่านใดสนใจอยากจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือแม้แต่มาช่วยอธิบายขัดเกลาความเข้าใจของฉัน ฉันก็ยินดีน้อมรับคำแนะนำจากทุกท่าน

          เมื่อพูดถึง “เวลา” ในเชิงฟิสิกส์ ฉันคิดฝันมาตลอดว่าอยากเข้าไปสวมบทบาทตัวละครในภาพยนตร์หลายเรื่องที่อ้างอิงเรื่องการเดินทางข้ามเวลา เพื่อย้อนกลับไปดูเรื่องราวในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไทม์แมชชีนเดินทางข้ามห้วงเวลาในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องโดราเอม่อน หรือเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ทีมนักสืบสวนสอบสวนใช้ติดตามคดีดูเหตุการณ์ในอดีตเพื่อตามจับตัวผู้ก่อการร้ายในเรื่อง Deja Vu ดังนั้นคำพูดแรกของศาสตราจารย์ที่ว่า “พวกเราสามารถมองเห็นอดีตได้” เลยทำให้ฉันนั่งตัวตรงตาสว่างขึ้นมาทันที เมื่อศาสตราจารย์เริ่มเกริ่นนำถึงการเดินทางของแสงในอวกาศ แสงคือสิ่งมีความเร็วมากที่สุดกว่าสิ่งใดๆในจักรวาลนี้ คือ เมตรต่อวินาที เพื่อความง่ายต่อการคิดคำนวณ คำว่า ปีแสง เลยถูกใช้บอกทั้งระยะทางและเวลาไปด้วยในตัว ตัวอย่างแรกที่ศาสตราจารย์ยกมาให้เห็นถึงความวุ่นวายว่าทำไม “เวลา” ที่ฟังดูเหมือนเรื่องปกติทั่วไป ถึงได้ยุ่งยากและยุ่งเหยิงเหลือเกินเมื่อนำไปประยุกต์ใช้ในอวกาศ

          …แสงจากดวงอาทิตย์ใช้เวลา 8 นาที ในการเดินทางมาถึงโลก 

          …แสงจากดาวเหนือใช้เวลา 431 ปี ในการเดินทางมาถึงโลก (ข้อมูลจากดาวเทียมฮิปปาร์คอส)

          แปลความได้ว่า แสงแดดที่เราใช้ตากผ้าในตอนนี้ จริงๆ แล้วคือแสงจากดวงอาทิตย์เมื่อ 8 นาทีที่แล้ว

          และทุกครั้งเมื่อเรามองดาวเหนือ สิ่งที่เราเห็นคือดาวเหนือเมื่อ 431 ปีที่แล้ว

          นี่ยังไม่นับวัตถุทางท้องฟ้าอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไปจากเรามากกว่านี้ จากการคำนวณดังกล่าวที่ใช้ระยะทางกับความเร็วแสงมาช่วยระบุว่าแสงที่เรามองเห็นอยู่ ได้เดินทางไกลผ่านจักรวาลมานานแค่ไหน คล้ายกับเป็นภาพของอดีตที่เพิ่งจะเดินทางมาถึงเราถึงแม้ว่ามันจะถือกำเนิดมานานแล้วก็ตาม แสดงว่าทุกครั้งที่คนเราแหงนหน้าขึ้นมองดูดวงดาวบนท้องฟ้า เรากำลังมองเห็นอดีตของดวงดาวในจักรวาล!

          เพื่อความชัดเจน ศาสตราจารย์ยังได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ได้จำลองขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นเชิงทฤษฎี เรื่องมีอยู่ว่า หากมีคนมองมายังโลกเราจากที่ที่ห่างไกลออกไป 65 ล้านปีแสง ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่กำลังขยายดีมากๆ เขาคนนั้นจะสามารถเห็นเหล่าไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์จากโลกเราไปนานแล้วได้! นั่นเพราะตามสถานการณ์สมมติ แสงใช้เวลา 65 ล้านปี เดินทางจากโลกไปยังจุดสังเกตการณ์ แสงที่คนตรงจุดนั้นมองเห็น คือแสงจากโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อน เมื่อตอนที่ยังมีไดโนเสาร์อยู่ แต่เพิ่งเดินทางไปถึงตรงนั้นนั่นเอง 

          หากเป็นเช่นนั้นจริง ถ้ามนุษย์ต่างดาวที่อยู่ไกลออกไปมากๆ ราว 4,600 ล้านปีแสง ส่องมายังโลกเราด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ พวกเขาก็อาจจะเห็นแค่โลกที่เพิ่งเริ่มเย็นตัวเป็นดาวเคราะห์เกิดใหม่ยังไม่มีพวกเราอยู่ ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าเรากำลังโดนมนุษย์ต่างดาวแอบส่องเพื่อวางแผนโจมตีเข้ายึดครองโลกของเรา! (ฉันหวังว่านะ) ทีนี้ฉันก็เข้าใจถ่องแท้แล้วว่าการ “มองย้อนอดีต” ที่ศาสตราจารย์ว่าหมายถึงแบบนี้นี่เอง…

          เดิมทีแล้ว มนุษย์เราเป็นคนกำหนดกฎเกณฑ์การนับเวลาขึ้นมาโดยอิงจากดวงอาทิตย์ การโคจรและหมุนรอบตัวเองของโลก และตำแหน่งที่ตั้งทางลองจิจูดของแต่ละประเทศในการระบุเวลา แต่พอพูดถึงอวกาศที่เป็นสเกลใหญ่ขึ้นไป กฎนี้ก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป แล้วเราจะบอกเวลาจากอะไรกันล่ะ? ในการบรรยายครั้งนี้ ศาสตราจารย์ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในมุมมองต่างๆ ที่ถูกใช้เพื่ออธิบายความเป็นอยู่ของเวลา สิ่งที่เรามองไม่เห็น จับต้องก็ไม่ได้ แต่ทุกคนรับรู้ว่ามันมีอยู่ เพราะเราเป็นผู้กำหนดและอ้างอิงมันขึ้นมา เช่นนั้นแล้ว เวลานั้นไปข้างหน้า หรือว่าเราเป็นผู้เดินผ่านเวลาไปกันแน่? ซึ่งในการบรรยายนี้ ศาสตราจารย์ได้เน้นเปรียบเทียบสองทฤษฎีหลักๆ ที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ของเวลา และพื้นที่ว่างหรือกาลอวกาศ ทั้งสองทฤษฎีนี้จะอิงอยู่บนหลักการเชิงฟิสิกส์ของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังสองท่านอย่าง Sir Isaac Newton และ Albert Einstein ผู้ที่เกิดคนละยุคสมัย มีมุมมองและแนวคิดต่างกันออกไป

          แต่ความคิดของทั้งคู่ได้มีอิทธิพลต่อวงการฟิสิกส์อย่างมาก เริ่มตั้งแต่การที่นิวตันมองว่าแรงโน้มถ่วงดึงดูดให้ผลแอปเปิ้ลตกลงมายังผิวโลก ในขณะที่ไอน์สไตน์มองว่าโลกต่างหากที่พุ่งขึ้นไปหาผลแอปเปิ้ลด้วยความเร่ง ทำให้เกิดทฤษฎีสัมพัทธภาพที่กล่าวถึงผลของการเปลี่ยนมุมมองที่มีผลต่อการรับรู้ความจริง

 


ภาพประกอบแนวคิดแบบนิวตัน เปรียบเทียบกับแนวคิดแบบไอน์สไตน์

 

 

     

ภาพประกอบทฤษฎีสัมพัทธภาพที่กล่าวถึงผลของการเปลี่ยนมุมมองที่มีผลต่อการรับรู้ความจริง
เด็กที่นั่งเก้าอี้มองเห็นเด็กเล่นสเกตบอร์ดเคลื่อนที่ผ่านไปทางขวามือของเขา
ในขณะที่เด็กเล่นสเกตบอร์ดมองเห็นเด็กที่นั่งเก้าอี้เคลื่อนที่ผ่านไปทางซ้ายมือของเขา

 

          ทฤษฎีแรก Block Universe หรือ Newton’s spacetime หลักการที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ของกาลและอวกาศในรูปแบบของจักรวาลกล่อง โดยยึดตามหลักแรงโน้มถ่วงของนิวตัน (Newtonian Gravitation) ทฤษฎีนี้ถูกอธิบายด้วยกล่องกาลอวกาศสี่เหลี่ยมมุมฉากบรรจุไปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยความสูงและความกว้างของกล่อง คือแกนของพื้นที่ว่าง (space) หรือง่ายๆ คือตำแหน่งที่เหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น ส่วนความยาวของกล่องคือแกนเวลา (time) ระบุเวลาที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้น

          หากฉันสมมติภาพคนคนหนึ่งอ้างอิงบนตำแหน่งหนึ่ง ณ ปัจจุบัน ดังนั้นภาพตัวคนเล็กๆ ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในกล่อง จึงแสดงถึงเวลา ณ ปัจจุบัน ตอนนี้ และตรงนี้ นั่นเอง

 


ภาพประกอบทฤษฎี Block Universe

 

          ส่วนในบริเวณอื่นๆ ก็ยังมีเหตุการณ์อีกจำนวนมากที่เกิดขึ้นแล้ว กำลังเกิด และจะเกิดขึ้นในเวลาข้างหน้า อดีต ปัจจุบัน และอนาคตจึงเป็นจริงอย่างเท่าเทียมกัน (equally real) หลักการหนึ่งของทฤษฎีนี้ที่ทำให้ฉันรู้สึกแปลกใจอย่างหนึ่งก็คือ “เวลาไม่มีการไหล แต่การเดินทางย้อนเวลานั้นเป็นไปได้”

          ทั้งนี้ก็เพราะทุกอย่างรวมเป็นเนื้อเดียวกัน เราสามารถเดินทางย้อนเวลาไปพูดคุยกับคนในอดีต เยี่ยมชมสถานที่ในอดีต หรือแม้แต่พยายามเปลี่ยนเหตุการณ์ในอดีตได้ แต่ถึงอย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้กระทบมาในอนาคตก็ยังคงเป็นอนาคตแบบเดิม เพราะตามทฤษฎี Block Universe นั้น อนาคตได้ถูกกำหนดไว้แล้ว การกระทำใดๆของเราขณะที่ย้อนเวลาไปในอดีตนั้น ก็มีแต่จะทำให้อนาคตเกิดขึ้นมาในแบบที่มันเป็นอยู่และควรจะเป็น ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

          แนวคิดนี้ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับปรัชญาเกี่ยวกับเวลาที่เรียกว่า Presentism ที่กล่าวว่า “เวลามีการไหล อดีตกับอนาคตไม่มีอยู่จริง ปัจจุบันก็คือปัจจุบัน” กาลอวกาศในรูปแบบนี้จะเป็นลักษณะของระนาบแบนๆ สองมิติที่แสดงแต่ปัจจุบันให้เห็น ส่วนอดีตกับอนาคตนั้นเป็นแค่ความคิดที่มนุษย์เราคิดไปเอง ไม่มีอยู่จริง

          ฟังมาถึงตรงนี้แล้ว ฉันไม่เชื่อทฤษฎีแรกที่ศาสตราจารย์เล่าให้ฟังเท่าไหร่ เพราะถ้ายึดเอาตามความรู้สึกล้วนๆ อดีตคือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ปัจจุบันคือตอนนี้ และอนาคตคือสิ่งที่กำลังจะเกิดและเราคาดเดาไม่ได้ ฉันไม่เชื่อว่าอนาคตถูกกำหนดไว้หมดแล้วในแบบจักรวาลกล่อง ส่วนเรื่องการย้อนเวลา ถ้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรก็ควรจะมีผลกระทบตามมาบ้าง เพราะอดีตส่งผลให้เกิดปัจจุบัน และปัจจุบันส่งผลให้เกิดอนาคต (หรือบางทีฉันอาจจะดูภาพยนตร์มากไป) และนี่ก็คือความลำบากของการศึกษาเกี่ยวกับเวลาและอวกาศ

          การทดลองทางกายภาพเพื่อพิสูจน์เรื่องเวลาให้เห็นกันจะๆ นั้นทำได้ยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นป่านนี้เราคงเดินทางข้ามเวลากันมั่วไปหมดแล้ว การทดลองที่นักวิทยาศาสตร์สามารถทำได้คือการทดลองทางความคิด (Thought Experiment) และการคำนวณเชิงทฤษฎีไปก่อน ทำให้เกิดหลักแนวคิดต่างมุมมองของแต่ละคนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อพยายามอธิบายเวลา แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่สามารถสรุปเห็นตรงกันได้ว่าหลักของใครถูกต้องที่สุด ทำให้มีคนเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง เห็นต่าง ถกเถียงกันบ้าง ศาสตราจารย์ที่อธิบายถึงกลับกล่าวขำๆ เพราะกลุ่มที่ต่อต้านแนวคิดแบบ Block Universe ได้แซวคนกลุ่มที่เชื่อเช่นนั้นว่า พวก Block-Headed ที่พ้องคำกับชื่อทฤษฎีจักรวาลกล่อง แต่ดันมีความหมายตรงตัวว่า คนโง่ เสียนี่

          ต่อมาได้มีทฤษฎีหนึ่งถูกคิดค้นขึ้นโดยอิงตามหลักทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Relativity)  จึงถูกเรียกว่า Relativistic spacetime หรือ ทฤษฎี Einstein’s spacetime ซึ่งจริงๆ แล้วไอน์สไตน์ไม่ใช่คนคิดค้นหลักการนี้ซะทีเดียว แต่เรียกได้ว่าเป็นคนเริ่มต้นค้างไว้ แล้วคุณเฮอร์มานน์ มินคอฟสกี (Hermann Minkowski) นักคณิตศาสตร์และอาจารย์ชาวเยอรมัน ก็เข้ามาสรุปให้สมบูรณ์ในภายหลัง ในบางทีจึงเรียกว่า Minkowski’s spacetime


ภาพแสดงกรวยแสง (Light cone)

          ภาพที่มีรูปร่างคล้ายกับนาฬิกาทรายนี้เรียกว่ากรวยแสง (Light cone) กรวยด้านบนเรียกว่ากรวยแสงอนาคต ซึ่งการกระทำของเราในปัจจุบันมีผลต่อสิ่งที่จะเกิดในอนาคต ส่วนกรวยด้านล่างเรียกว่ากรวยแสงอดีต ที่เกิดขึ้นไปแล้วและเราไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ส่วนเหตุการณ์อื่นๆ ที่อยู่นอกโคนแสงทั้งสองคือเหตุการณ์ที่ไม่มีผลต่อทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โครงสร้างกาลอวกาศนี้ใช้การเดินทางของแสงมาช่วยจำลอง ดังรูปข้างต้น จะมีแกนแนวตั้งเป็นเวลา (Time) และแนวระนาบเป็นพื้นที่ว่าง (Space) แสดงการแผ่กระจายของแสงที่เดินทางไปได้เป็นวงกว้างที่ระยะรัศมีหนึ่งๆ ณ เวลานั้นๆ และจะขยายเป็นวงใหญ่ขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อนำวงกลมขนาดเล็กไปใหญ่มาซ้อนเรียงกันตามแกนเวลาในแนวตั้ง จึงเกิดเป็นรูปทรงกรวยสมมาตรขึ้นดังรูป ฉันมองง่ายๆ ก็คือเทียบกับคลื่นบนผิวน้ำเวลาเราโยนหินลงไปนี่เอง

 


ขอบคุณภาพจาก: https://www.pitt.edu/~jdnorton/teaching/HPS_0410/chapters/spacetime/index.html

 

          อย่างไรก็ตาม การจะอธิบายทฤษฎีเข้ากับเรื่องของกาลอวกาศ ต้องใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพมาเกี่ยวข้อง ศาสตราจารย์เลยได้ทิ้งท้ายให้ผู้ชมได้ไปค้นคว้ากันต่อเอาเอง เพราะเวลา 2 ชั่วโมงนี้อธิบายอย่างไรก็ไม่มีทางหมด ฉันเองคงต้องขอตัวไปศึกษาเพิ่มเติมเช่นกัน ได้คำตอบเช่นไรแล้วฉันจะมาเล่าให้ฟังอีกคราเมื่อเข้าใจ

          เพื่อเป็นการขยายต่อความคิดจากทฤษฎีทั้งสองนี้ ฉันก็ขอยกตัวอย่างแนวคิดที่ฉันได้จากการชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เดินทางข้ามเวลาหลายๆ เรื่องดูบ้าง ซึ่งทฤษฎีนี้จะช่วยไขข้อสงสัยในปัญหาสุดแปลกอย่าง ปฏิทรรศน์คุณปู่ (grandfather paradox) เรื่องมีอยู่ว่า หลานสาวได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปฆ่าคุณปู่ของตนในอดีต ซึ่งนั่นทำให้คุณปู่วัยหนุ่มเสียชีวิตไปก่อนที่จะมีลูกหลานเสียอีก หลานสาวที่ไม่ทันได้เกิด จึงถือว่าไม่มีตัวตนในปัจจุบัน แล้วใครกันล่ะที่เดินทางข้ามเวลาไปฆ่าคุณปู่?

          นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า อดีต ปัจจุบัน และอนาคต มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ที่มีแต่จะเดินไปข้างหน้า หากคิดจะย้อนกลับก็จะเกิดการวนลูปไปไม่มีจุดเริ่มจุดจบ ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาที่ย้อนแย้งกันนี้มีเพียงอย่างเดียว คือการนำเหตุการณ์เหล่านั้นแยกออกจากไทม์ไลน์หลัก หรือเป็นการแตกกิ่งออกไปที่ให้จุดจบอีกแบบหนึ่งแทนที่จะเอามาปนกันเป็นลูปเดิมๆ นั่นก็คือทฤษฎีเอกภพคู่ขนาน (Parallel Universe) แนวคิดที่ถูกภาพยนตร์หลายเรื่องหยิบยกมาใช้เป็นโครงเรื่อง เพราะสามารถเข้าใจได้ง่าย และจินตนาการออกไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จักรวาลที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไปราวกับต้นไม้ ไม่มีทางที่เราจะรู้ได้ว่า การเปลี่ยนอดีตครั้งหนึ่งส่งผลให้เกิดผลลัพธ์แบบไหน หรือหลังจากนั้น เอกภพที่เราอาศัยอยู่ คือเอกภพเดิมที่เราจากมา หรือเป็นเอกภพใหม่โดยสิ้นเชิง?

          อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะงง ตอนฉันฟังฉันเองก็งงเหมือนกัน แต่ที่น่าฉงนกว่าก็คือ เรายังสรุปไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่าทฤษฎีไหนเป็นจริง และเวลาคืออะไรกันแน่?

ภาพระหว่างการฟังบรรยายเรื่อง Time in the Past, Present and Future
บรรยายโดย ศาสตราจารย์ Fay Dowker สามารถเข้าชมการบรรยายอื่นๆของเธอได้ที่
https://www.artandeducation.net/classroom/video/197531/fay-dowker-the-story-of-spacetime

 

          หลังจบการบรรยาย ฉันยังรู้สึกเข้าใจระคนสงสัย แต่ก็รู้สึกสบายใจที่ได้ค้นพบหลักการบางอย่างที่เชื่อมโยงกับฉากในภาพยนตร์เรื่องโปรดของฉัน มาช่วยประสานให้เรื่องราวฟิสิกส์ที่แสนสับสนดูลื่นไหลอย่างมีเหตุมีผลขึ้นมา และยังได้เห็นบรรยากาศความน่ารักของสมาคมดาราศาสตร์อาวุโสที่มารวมตัวพูดคุยร่วมแบ่งปันความรู้กัน

          แถมท้ายตอนจบของการบรรยายมีการจับฉลากหมายเลขที่นั่งฟังบรรยายแจกไวน์ติดไม้ติดมือกันกลับบ้าน ส่วนเด็กๆอย่างพวกเรามึนได้ที่ตั้งแต่ช่วงต้นของการบรรยายโดยไม่ต้องพึ่งไวน์ เพื่อลดระดับความมึนงง ฉันจึงขอย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงเวลาก่อนที่พวกเราจะเข้าฟังบรรยาย สู่อีกหนึ่งภารกิจของ Stargazing expedition ครั้งนี้คือการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ National Museum Cardiff  (ติดตามอ่านได้ในสาระวิทย์ฉบับหน้านะคะ)

          สามารถเข้าชมการบรรยายอื่นๆของท่านศาสตราจารย์ Fay Dowker ได้ที่
https://www.artandeducation.net/classroom/video/197531/fay-dowker-the-story-of-spacetime

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากhttps://medium.com/sciways/%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%87-c31d37a1441f

 


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่ 89 เดือนสิงหาคม 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/188074

About Author