ที่ UWCAC ฉันได้มีโอกาสเรียนรู้วิชาใหม่ๆ หลายวิชา หนึ่งในนั้นก็คือวิชาที่มีชื่อว่า Design and Technology หรือเรียกย่อๆ ว่า DT ในชั้นเรียนมีทั้งเพื่อนๆที่ชื่นชอบงานศิลปะเป็นศิลปินเต็มตัว รวมทั้งมีเพื่อนๆที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์ ชอบการคำนวณ และงานเขียนโปรแกรม และเพื่อนๆที่ออกแนวกึ่งๆวิทย์ กึ่งๆศิลป์แบบฉัน (เพื่อนที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์ในความหมายคือคนที่เลือกเรื่องวิชาในกลุ่มวิทยาศาสตร์ และวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาหลัก มีจำนวนชั่วโมงที่เรียนมากกว่าวิชาอื่นๆ ส่วนเพื่อนที่ชื่นชอบศิลปะคือเพื่อนที่เลือกเรียนวิชาศิลปะแขนงต่างๆเป็นวิชาหลัก และจำนวนชั่วโมงเรียนมากกว่า)
ฉันเองชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ สนใจเรื่องเกี่ยวกับอวกาศ เวลาว่างชอบวาดรูป และประดิษฐ์ของเล่นไปเรื่อยเปื่อย ชั่วโมงแรกคุณครูถามว่าที่เลือกวิชานี้กันเพราะอยากวิศวกร สถาปนิก และนักออกแบบหรือเปล่า หลายๆคนยกมือ แต่พอครูถามว่าวาดรูปได้ไหมกลุ่มที่ยกมือตอนแรกเอามือลง ในขณะที่เพื่อนๆศิลปินยกมือขึ้นแทน คุณครูอธิบายต่อว่าวาดรูปได้ คือการจับดินสอแล้วขีดเขียนลวดลายเส้นไปตามแต่จะคิด มันง่ายนิดเดียวทุกคนสามารถทำได้ ทุกคนสามารถเรียนวิชานี้ได้ แม้ฉันจะยังไม่มีความรู้พอที่จะออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆหรือคิดค้นการทดลองเจ๋งๆ แต่ฉันมีใจที่รักในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และฉันสนใจที่จะฝึกฝนทักษะที่หลากหลาย
เมื่อมาเจอเข้ากับวิชานี้ ฉันจึงตาเป็นประกาย คุณครูให้เวลาเราออกแบบจนถึงขั้นทำโมเดลออกมาภายใน 1 ภาคการศึกษา ในระหว่างที่การออกแบบดำเนินการไปพวกเราก็ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับ Design and Technology ไปด้วย คาบแรกคุณครูสอนเกี่ยวกับเรื่องของผลิตภัณฑ์ในยุคสมัยต่างๆ และให้เริ่มทำชิ้นงานแรก ในภาพนี้คือชิ้นงานกล่องใส่เครื่องเขียนจากแผ่นอะคริลิกที่ใช้ศิลปะสร้างสรรค์รูปทรงออกมาให้สวยงามน่าใช้ภายใต้กรอบของหลักการคำนวณเรื่องหน้าที่การใช้งาน ระยะเวลาและคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้
งานชิ้นนี้นอกจากจะเป็นการแนะนำการใช้วัสดุและเครื่องมือที่มีแล้ว คุณครูต้องการเรียนรู้พื้นฐานของเด็กแต่ละคนว่ามีความเข้าใจและความสามารถในการถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองคิดออกมาได้อย่างไรบ้าง
โดยคุณครูกำหนดให้ทุกคนออกแบบโดยใช้วัสดุคนละ 1 ชิ้นเท่านั้น เป็นแผ่นอะคริลิคหนา 3 มม. กว้าง 10.5 ซ.ม.และยาว 29.5 ซ.ม. ทุกคนจะต้องสร้างสรรค์ผลงานที่มีรูปแบบแตกต่างกันภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดเดียวกัน เป็นการการคิดแก้ปัญหาเพื่อค้นพบสิ่งใหม่จากสิ่งเดิมที่มี ซึ่งฉันอยากจะเรียกมันว่า ความคิดสร้างสรรค์บนความขาดแคลน
ภาพกล่องใส่เครื่องเขียนของฉัน ฉันออกแบบเป็นเต่าทองแต่คุณครูมองว่ามันเหมือนปูมากกว่า
ต่อมาคุณครูให้พวกเราศึกษาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในยุคต่างๆ แล้วเลือกมาหนึ่งรูปแบบเพื่อนำมาออกแบบให้เป็นนาฬิกาที่สื่อถึงสถานที่นั้นๆ ช่วงแรกเรานำเสนอแผนภาพสถาปัตยกรรมที่เราสนใจในยุคต่างๆ พูดคุยกันถึงลักษณะที่โดดเด่นของมัน ฉันเห็นเพื่อนๆ ศิลปินเริ่มสเกตภาพอาคารบ้านเรือนกันอย่างสวยงาม ในขณะที่เพื่อนๆสายวิทย์กำลังคิดถึงขนาดสัดส่วน และรูปทรงที่มีความสมดุล ว่าตึกไหนที่จะออกแบบให้ผลิตได้แบบมีระบบระเบียบ เพราะคุณครูพูดถึงการตลาดเข้ามาด้วย เราก็ต้องคำนึงถึง Mass production วิชานี้มันคือวิชาครอบจักรวาลจริงๆ
ต่อจากเรื่องของเทรนด์ดีไซน์ ก็เข้าสู่หลักการพื้นฐานที่สำคัญชื่อหัวข้อที่เรียกแสนยากและฉันไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย “Ergonomics” (เออร์โกโนมิค) เป็นวิชาที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หรืออีกนัยหนึ่งคือผู้ใช้ กับผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งที่มนุษย์ไปใช้งาน ซึ่งไม่เฉพาะชิ้นงานเล็กๆ อย่าง ปากกา คีย์บอร์ด โทรศัพท์มือถือ หรือหม้อหุงข้าว เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอาคาร บ้านเรือน เครื่องเล่นในสวนสนุก ยานอวกาศ และสิ่งแวดล้อมรอบๆ มนุษย์
เออร์โกโนมิคเป็นตัวกำหนดขนาดสัดส่วนของข้าวของเหล่านั้น เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของมนุษย์ เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย และเพื่อให้การใช้งานเข้าใจได้ง่าย โดยอาศัยหลักการคิดที่ประยุกต์มาจากวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เรื่องแรกที่ฉันได้เรียนรู้คือขนาดของเก้าอี้ที่ได้ตัวเลขมาจากค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ของสัดส่วนมนุษย์ ก็คือวิชาสถิติแบบประยุกต์นี่เอง ถึงตอนนี้คุณครูเริ่มแจกเครื่องนาฬิกาให้พวกเรา ทุกคนจะต้องใช้เครื่องแบบเดียวกันขนาดเดียวกัน
ฉันได้ใช้ความรู้เรื่องสัมพันธ์เออร์โนมิคตอนวัดขนาดนาฬิกา ลังถ่าน เพื่อออกแบบนาฬิกาของเราให้ตั้งโต๊ะ หรือแขวนผนังหรือติดตั้งยังไงก็ได้ เราต้องหยิบจับ ดูเวลา เปลี่ยนถ่านได้อย่างสะดวก
เมื่อทุกคนเข้าใจตรงกันแล้ว คุณครูก็เริ่มสอนเรื่อง Material and Process (วัสดุและกรรมวิธีการผลิต) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณสมบัติที่แตกต่างกันทั้งในเชิงกลเชิงเคมีของวัสดุชนิดต่างๆ ขบวนการผลิตที่ต้องใช้พลังงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งตอนนี้ฉันกำลังเรียนรู้เรื่องเกี่ยวพลาสติกแผ่นสำเร็จรูปที่เรียกว่าอะคริลิค และวิธีการแปรรูปแผ่นอะคริลิกให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งวิธีที่นิยมกันก็คือการการขึ้นรูปด้วยความร้อน
โดยตัดแผ่นด้วยเครื่องเครื่องยิงเลเซอร์ก่อนจะนำไปอังกับเครื่องให้ความร้อนและดัดด้วยแม่พิมพ์ตามรูปแบบที่ต้องการ การตัดด้วยเครื่องยิงเลเซอร์เรากำหนดรูปแบบและขนาดผ่านการเขียนคำสั่งในโปรแกรมที่มีชื่อว่า CorelDraw เป็นโปรแกรมวาดภาพสองมิติโดยมีพื้นฐานของหลักการทางเรขาคณิต วัสดุหลักๆ ก็คือแผ่นอะคริลิกกับไม้อัด แล้วแต่ว่าเราจะวาดลวดลายสั่งให้เครื่องตัดออกมายังไง
ส่วนฉันเลือกแล้วว่าจะใช้แผ่นอะคริลิก ให้เข้ากับรูปแบบตึกที่ฉันเลือกที่เต็มไปด้วยกระจกหน้าต่าง ถือเป็นการเรียนรู้วัสดุ ใหม่ๆ ถึงตอนนี้มาได้ครึ่งทางแล้ว เนื่องจากฉันวาดรูปออกมาแล้วสัดส่วนไม่เหมือนจริงเท่าไหร่ ซึ่งมันจะทำให้ยุ่งยากพอตอนต้องคำนวณขนาดให้สัมพันธ์กัน ฉันจึงต้องพึ่งพาการลงมือทำจริงเป็นหลัก ฉันทดลองตัดกระดาษแข็งแทนแผ่นอะคริลิก แล้วจึงวัดขนาดจากกระดาษที่ฉันตัดลงใน CorelDraw อีกทีหนึ่ง ในขณะที่เพื่อนๆที่วาดภาพเก่งแล้วก็ต้องมาเรียนรู้เรื่องของความเป็นจริงเมื่อต้องกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริง ส่วนคุณครูจะช่วยสอนถึงเทคนิคการนำเสนอ และการวาดภาพในมุมมองต่างๆ เพื่อให้ได้ภาพวาดสามมิติที่ถ่ายทอดออกมาให้เข้าใจง่าย สามารถนำไปผลิตได้จริงและสวยงามไปอีกแบบหนึ่งด้วย
ภาพวาดเริ่มแรกของฉัน
ภาพโมเดลกระดาษจากปกแฟ้มรีไซเคิลที่ฉันเก็บมาจากห้องเรียนศิลปะ
ภาพวาดแยกชิ้นส่วนในโปรแกรม CorelDraw
ภาพส่วนหนึ่งของชิ้นงานสำเร็จ เป็นวัสดุแผ่นอะคริลิกใสตัดด้วยเครื่องยิงเลเซอร์ ซึ่งฉันออกแบบให้สามารถถอดประกอบได้โดยไม่ต้องใช้น้ำยาเชื่อมพลาสติก
ไม่ว่าจะเลือกใช้และนำเสนอด้วยวิธีใดก็ตาม วิชา DT ตอกย้ำให้ฉันเข้าใจว่าทำไมฉันจึงต้องเรียนทั้งศาสตร์ และศิลป์ มันไม่ใช่เพื่อการสอบให้ผ่านและได้คะแนนดีๆ แต่เพื่อให้เราเลือกใช้ชีวิตที่เหมาะสมในสังคมยุคโซเซียลเน็ทเวริค์ สิ่งอำนวยความสะดวกรอบๆ ตัวเราล้วนถูกสร้างขึ้นมาจากหลักพื้นฐานที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ และมิติของร่างกายเราเอง ศิลปะเป็นตัวสร้างสรรค์ให้ชีวิตกลมกล่อมด้วยการขยายความให้หลักพื้นฐานนั้น มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป วิทยาศาสตร์จะช่วยผสานทฤษฎีที่มีอยู่ให้ผสมกลมกลืน และเป็นเหตุเป็นผลกับรูปแบบการใช้งาน และรูปร่างที่ปรากฏออกมา
เมื่อฉันทำนาฬิกาเสร็จออกมาแล้ว บทเรียนต่อไปคือการตลาด สิ่งที่ฉันสร้างขึ้นจากทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และศิลปะ จะต้องถูกพิสูจน์ด้วยการใช้งานจริง และถูกตัดสินด้วยการยอมรับจากผู้คนทั่วไป ฉันชอบวิชา DT วิชา DT ทำให้ฉันตระหนักว่าฉันจะใช้ความรู้ที่ฉันสะสมมาจากกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ได้อย่างไร และทุกคนก็สามารถคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ได้ในแบบฉบับของตนเอง หากเราค่อยๆ ปรับสูตรผสมระหว่างวิทย์กับศิลป์บ่อยๆ
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่ 81 เดือนธันวาคม 2562
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/162232