สาระวิทย์ในศิลป์ ตอนที่ 4: สีฟอกอากาศ นวัตกรรมที่แฝงไว้ภายใต้งานศิลปะ

ในช่วงวันหยุด ฉันได้มีโอกาสร่วมทริปของโรงเรียน เดินเที่ยวในเมืองบริสตอล (Bristol) สหราชอาณาจักร

บริสตอลเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเป็นอย่างมากในเรื่องของ สตรีทอาร์ต (Street Art) หรือ ศิลปะข้างถนน ไม่มีใครไม่รู้จัก แบงก์ซี่ (Banksy)  ศิลปินกราฟฟิตี้ หรือศิลปะการพ่นกำแพงชื่อดังประจำสหราชอาณาจักร เขามักจะแฝงความหมายและเรื่องราวอันลึกซึ้งไว้ในภาพวาดด้วยสเปรย์เพนท์ตามมุมตึกต่างๆ และเซ็นกำกับด้วยนาม Banksy ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเขาหรือพวกเขาคือใครกันแน่ รู้แต่ว่าผลงานของเขาประกอบไปด้วยเนื้อหาที่สะท้อนสังคม การเมือง ซึ่งถ่ายทอดออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และงดงาม แบงก์ซี่เปลี่ยนมุมตึกที่คล้ายซากปรักหักพังให้กลับมามีชีวิตชีวาและมีความหมายอีกครั้ง ใครที่มาเที่ยวบริสตอลเป็นต้องเดินชมงานสตรีทอาร์ตทั้งนั้น ฉันเองก็ได้ไปเดินดูมาเหมือนกัน เราจะพบภาพวาดตามมุมเมืองที่เรียกได้ว่าเดินไปทางไหนก็เจอ ถ้าโชคดีจะได้เห็นคนที่กำลังพ่นสเปรย์สร้างสรรค์งานอยู่สดๆ ร้อนๆ อีกด้วย นับเป็นเทรนด์ยอดฮิตประจำที่นี่

ภาพ Street Art บนตึกในเมืองบริสตอล

ในช่วงปิดเทอมเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ฉันมีโอกาสได้กลับประเทศไทย เลยลองไปตามรอยสตรีทอาร์ตย่านถนนเจริญกรุง จุดที่เคยมีการจัดเทศกาลศิลปะข้างถนน ครั้งนั้นมีการระดมศิลปินมากมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เข้ามาร่วมงาน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะลงบนกำแพง ผนังตึก แต่ฉันก็พบว่ามันไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว ภาพหลายๆ จุดถูกบดบังทัศนียภาพด้วยรถที่จอดข้างกำแพง จากเศษขยะที่คนแอบไปเททิ้งไว้ และบางจุดก็มีร่องรอยการพ่นสีสเปรย์ทับลงไป

ภาพ Street Art บนกำแพงในซอยย่านถนนเจริญกรุง

ศิลปะเกิดขึ้นได้ทุกที่ ในขณะเดียวกัน ฉันก็สังเกตเห็นว่ากว่าจะมาเป็นศิลปะข้างถนนให้เราได้เดินชมกันตลอดแนว ก็ต้องผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ซึ่งสีที่ใช้ในการพ่นและวาดรูปลงไปส่วนใหญ่คือสีสเปรย์ ในกระป๋องสเปรย์นี้ก็ประกอบไปด้วยสารเคมี ซึ่งสารเคมีเหล่านี้จะฟุ้งกระจายไปในอากาศ และจะสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศรวมถึงทำลายชั้นบรรยากาศของโลก ให้เสื่อมสมรรถภาพในการกรองรังสีลงอีกด้วย ยังไม่ต้องรอให้สะสมถึงชั้นโอโซน ความเป็นพิษของสารเคมีเหล่านี้ก็มากพอแล้วที่จะเข้ารบกวนระบบทางเดินหายใจและผิวหนังของพวกเรา ส่งผลเสียเป็นสารตกค้างอยู่อีกด้วย ไหนจะที่ตั้งของงานศิลปะนี้ ตามชื่อแล้วก็ชัดเจนว่าไม่ใช่หอศิลปะสำหรับเดินในห้องแอร์เย็นๆ แต่เป็นข้างถนน ตามกำแพงของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่รายล้อมด้วยควันพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่สัญจรไปมา และฝุ่นจากเขตก่อสร้างใกล้ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้คนที่มาชื่นชมงานศิลปะก็ต้องคอยยกมือปิดจมูกป้องกันควันพิษ แน่นอนว่ามีหลายคนตระหนักถึงสิ่งนี้ และได้พลิกสถานการณ์จาก “สี” ที่เป็นตัวต้นเหตุก่อให้เกิดมลพิษ วิธีแก้ไขก็ใช้สีนี่แหละ!

ฉันได้ไปเจอกับเทคโนโลยีสีกรองอากาศ หรือสีทาที่ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีของสารเคมีที่ไวต่อแสง Photocatalytic Technology ซึ่งก็คือ ไททาเนียมไดออกไซด์ ที่สามารถดูดกลืนพลังงานแสงและเปลี่ยนรูปไอน้ำไปเป็นอนุมูลอิสระ ประเภท ไฮดรอกซิลและเพอร์ร็อกซิลเกาะอยู่ที่ผิวของสีที่ทาลงไป ซึ่งขั้นตอนการทำปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นในชั่วเสี้ยววินาที อนุมูลอิสระที่ถูกสร้างขึ้นจะทำปฏิกิริยากับสารปนเปื้อนในอากาศที่เป็นพิษทันทีที่สัมผัสกัน และสลายสารพิษเหล่านั้น โดยเฉพาะจำพวกไนโตรเจนออกไซด์ พบมากในควันท่อไอเสียจากยานพาหนะ ก็จะถูกเปลี่ยนไปในรูปที่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์และสามารถถูกชำระล้างออกไปได้ง่ายๆ กับน้ำฝน ตราบใดที่มีแสง อากาศและความชื้นเพียงพอสารไททาเนียมไดออกไซด์นี้ก็จะดำเนินการสร้างอนุมูลอิสระ ผ่านกระบวนการปฏิกิริยาเคมีออกมาเรื่อยๆ ไม่มีหยุด

ฉันคิดว่าถ้าเราสามารถประยุกต์เอาเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ โดยการนำสีกรองอากาศนี้มาใช้ เราก็สามารถชื่นชมงานศิลปะในขณะที่วิทยาศาตร์ในตัวสีช่วยกรองอากาศไปด้วย ซึ่งแนวความคิดนี้มีทำขึ้นจริงๆ แล้วที่กรุงโรม นอกจากเนื้อหาในรูปจะสร้างความตระหนักถึงสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว ยังสร้างสรรค์ขึ้นด้วยสีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงใช้เทคโนโลยีสี Airlite ซึ่งมีคุณสมบัติในการกรองอากาศและสารพิษพวกไนโตรเจนออกไซด์ เหมือนที่ได้กล่าวถึงในข้างต้นไว้ด้วย ซึ่งสีที่ละเลงลงบนพื้นที่กว่า 10,000 ตารางฟุตของหน้าตึกนี้ มีความสามารถในการกรองอากาศได้เทียบเท่ากับต้นไม้ถึง 30 ต้นทีเดียว

Street Art ในกรุงโรม

ภาพจาก https://matadornetwork.com/read/street-art-piece-improves-air-rome/

คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถเปลี่ยนตึกทั้งหลายให้กลายเป็นเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ ด้วยการใช้สีเพ้นท์กรองอากาศ นอกจากจะดีต่อสุขภาพใจแล้วยังดีต่อสุขภาพกายอีกด้วย แถมยังช่วยยกระดับคุณภาพอากาศในใจกลางเมืองขึ้นมา แต่ทางที่ดีเราควรร่วมมือช่วยกันรักษาความสะอาดของอากาศ ผ่านการปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับธรรมชาติ จะได้ไม่ต้องมาตามแก้ปัญหาซ่อมอากาศเอาภายหลังให้ยุ่งยากจะดีกว่ากันเยอะเลย

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก

https://matadornetwork.com/read/street-art-piece-improves-air-rome/


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่ 83 เดือนกุมภาพันธ์ 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/166887

About Author